
28 November 2007
ท่านผู้อ่านลองถามผู้ที่กำลังศึกษาทางด้านบริหารธุรกิจในปีสุดท้ายไม่ว่าจะเป็นระดับปริญญาตรีหรือโทดูซิครับ ว่าอาชีพในฝันหรือที่เขาเหล่านั้นอยากจะเป็นคืออะไร? แล้วคำตอบหนึ่งที่ท่านผู้อ่านจะได้รับมากขึ้นก็คืออาชีพที่ปรึกษา (Consultant) ซึ่งก็เป็นหนึ่งในคำตอบที่ผมเองจะได้ยินบ่อยมากจากลูกศิษย์ทั้งในระดับปริญญาตรีและโทในปัจจุบัน และดูเหมือนว่าจะมีแนวโน้มมากขึ้น ประจวบกับในปัจจุบันเราจะพบบรรดาที่ปรึกษาต่างๆ กันมากมายเต็มไปหมดครับ และในองค์กรต่างๆ ก็มีที่ปรึกษาในด้านต่างๆ เดินกันเต็มไปหมด ทำให้เกิดข้อสงสัยเหมือนกันนะครับว่าการเป็นเป็นที่ปรึกษานั้นเป็นอาชีพอย่างไรและจริงๆ แล้ว การที่มีที่ปรึกษานั้น จะช่วยองค์กรได้จริงๆ แค่ไหน?
ผมเองได้อ่านหนังสือเล่มหนึ่งชื่อ The World’s Newest Profession เขียนโดย Christopher D. McKenna ซึ่งเป็นหนังสือที่กล่าวถึงอาชีพที่ปรึกษาซึ่งเป็นอาชีพใหม่สุดอาชีพหนึ่ง โดยหนังสือเล่มนี้ก็เป็นเล่มหนึ่งที่ให้คำตอบกับคำถามของผมเบื้องต้น โดยในหนังสือเล่มนี้ผู้เขียนเขามองว่าการศึกษาทางด้านบริหารธุรกิจ (MBA) นั้น เป็นปริญญาที่พื้นฐานสำหรับคนที่จะทำงานเป็นที่ปรึกษา ไม่ว่าจะการให้คำปรึกษาในด้านกลยุทธ์ (ที่ปรึกษาทางด้านการจัดการ) หรือ ด้านการการเงิน (ที่ปรึกษาทางด้านการเงิน) เนื่องจากปริญญาโททางด้านบริหารธุรกิจให้ความรู้ทั้งในด้านกว้าง (ในศาสตร์ต่างๆ ที่สำคัญทางการบริหาร) และยังมีทางเลือกให้ผู้เรียนได้ศึกษาทางลึกได้ด้วย อย่างไรก็ดีก็ยังมีข้อสงสัยเหมือนกันนะครับว่าทำไมปัจจุบันผู้ที่จบ MBA จำนวนมากถึงเลือกที่จะเป็นที่ปรึกษาแทนที่จะเข้าไปทำงานตามวิชาชีพที่ได้เรียนมาในบริษัท หรือ เป็นเพราะวิชาชีพหนึ่งของการเรียน MBA คือการเป็นที่ปรึกษา?
ในหนังสือ The World’s Newest Profession เขาตั้งข้อสังเกตที่น่าสนใจนะครับว่า การเป็นที่ปรึกษานั้นเป็นเสมือนทางออกหรือทางเลือกสุดท้ายสำหรับคนที่เรียนจบมาทางด้านบริหารธุรกิจ แต่ยังไม่แน่ใจกับชีวิตตนเองว่าจะเลือกทางเดินทางไหนดี ว่าจะเข้าไปทำงานในองค์กรขนาดใหญ่ดี หรือ เริ่มต้นกิจการดี หรือ เรียนต่อดี? นอกจากนี้การเป็นที่ปรึกษาก็ดูเหมือนเป็นทางเดินที่อาจจะนำความสำเร็จมาสู่คนที่เลือกเดินเส้นทางนี้ก็ได้ แถมอาจจะเป็นความสำเร็จที่สร้างได้เร็วกว่าพวกที่เข้าไปทำงานตามองค์กรต่างๆ แล้วค่อยๆ ไต่เต้าขึ้นมา ทั้งนี้เนื่องจากมีตัวอย่างมากมายครับทั้งในและต่างประเทศ ที่การที่ปรึกษาทางการจัดการ เมื่อเข้าไปให้คำปรึกษาแก่องค์กรธุรกิจแล้ว ทางเจ้าของธุรกิจหรือผู้ว่าจ้างเกิดติดอกติดใจในความสามารถและความรอบรู้ เชิญเข้ามาเป็นผู้บริหารระดับสูงขององค์กรที่ตนเองเข้าไปให้คำปรึกษาเสียเลย
กรณีดังกล่าวมีอยู่มากมายครับ และดูเหมือนว่าเส้นทางนี้จะเป็นเส้นทางลัดสำหรับหลายๆ ท่านในการก้าวขึ้นไปเป็นผู้บริหารระดับสูงขององค์กรธุรกิจ เนื่องจากในขณะที่เป็นที่ปรึกษานั้น เขาเหล่านั้นจะได้เจอกับประสบการณ์ที่หลากหลาย เจอปัญหาหรือสถานการณ์ที่เฉพาะผู้บริหารระดับสูงเผชิญ อีกทั้งได้พัฒนาทักษะและความสามารถในด้านต่างๆ ที่คนทำงานในองค์กรปกติอาจจะไม่ได้เจอ มีงานวิจัยเชิงเปรียบเทียบในต่างประเทศ ที่เขาศึกษาเส้นทางของผู้บริหารสูงสุดขององค์กรต่างๆ ที่เติบโตมาจากสองเส้นทาง เส้นทางหนึ่งคือเคยเป็นอดีตผู้บริหารของยักษ์ใหญ่อย่าง General Electric ที่ได้ชื่อว่าเป็นโรงเรียนทางด้านการจัดการชั้นยอดแห่งหนึ่ง และอีกเส้นทางคือเคยเป็นที่ปรึกษาทางด้านการจัดการของ McKinsey ซึ่งก็เป็นบริษัทที่ปรึกษาชั้นนำของโลกทางด้านการบริหารและกลยุทธ์ ปรากฎว่ามีอดีตผู้บริหารและที่ปรึกษาของทั้ง GE และ McKinsey ไปเป็นผู้บริหารสูงสุดขององค์กรต่างๆ อยู่หลายแห่ง และผลจากการศึกษาเปรียบเทียบพบว่ามีจำนวนอดีตที่ปรึกษาของ McKinsey ที่เข้าไปเป็นผู้บริหารสูงสุดของบริษัทต่างๆ ทั่วโลกมากกว่า GE แถมยังขึ้นเป็นผู้บริหารสูงสุดเมื่ออายุน้อยกว่าด้วย อีกทั้งเมื่อเทียบมูลค่าการตลาดของบริษัทที่อดีตผู้บริหาร GE และอดีตที่ปรึกษาของ McKinsey เข้าไปบริหารแล้วก็พบว่ามูลค่าการตลาดของบริษัทของอดีตที่ปรึกษาจาก McKinsey นั้นมีมูลค่าที่มากกว่าอย่างชัดเจน
ต้องยอมรับนะครับว่าเหตุการณ์ข้างต้นไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในต่างประเทศเท่านั้น ในเมืองไทยเองถึงแม้จะยังไม่มีการศึกษาในลักษณะดังกล่าว แต่ผมเองก็ได้พบอดีตที่ปรึกษาจากบริษัทยักษ์ใหญ่ เข้าไปเป็นผู้บริหารระดับสูงตามบริษัทต่างๆ อยู่เป็นจำนวนมาก แถมบางคนยังได้เป็น CEO ตั้งแต่อายุยังน้อยเสียด้วยซ้ำ ซึ่งก็ไม่น่าแปลกใจนะครับว่าทำไมอาชีพในฝันของคนที่เรียนมาทางด้านบริหารธุรกิจอาชีพหนึ่งคือการเข้าไปเป็นที่ปรึกษา และยิ่งเติบโตในวิชาชีพเท่าไร ก็ยิ่งมีโอกาสกระโดดเข้ามาเป็นผู้บริหารสูงสุดของบริษัทเอกชนได้เร็วเท่านั้น
ในขณะเดียวกันก็เชื่อเหมือนกันนะครับว่าน่าจะมีคนที่เป็นที่ปรึกษาอีกจำนวนมากที่ไม่ได้หวังหรือปราถนาจะก้าวข้ามบทบาทจากที่ปรึกษามาเป็นผู้บริหาร แต่ชอบในอาชีพดังกล่าวเนื่องจากสาเหตุอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น การได้ช่วยและเห็นความสำเร็จขององค์กรต่างๆ หรือ การได้เรียนรู้ในประสบการณ์ที่หลากหลาย หรือ เรื่องของความท้าทายในการทำงาน อย่างไรก็ดีสัปดาห์หน้าเราจะมาดูกันต่อนะครับว่าจริงๆ แล้วอาชีพการเป็นที่ปรึกษา โดยเฉพาะที่ปรึกษาทางด้านการจัดการนั้นมีส่วนช่วยบริษัทจริงๆ เท่าใด และบทบาทของที่ปรึกษาทางการจัดการนั้นจริงๆ แล้วทำอะไรกันแน่ เป็นการช่วยให้บริษัทมีการพัฒนาและปรับปรุงได้ดีขึ้นจริงๆ หรือ มีหน้าที่ในการถ่ายโอนความรู้ให้กับลูกค้า