
6 December 2007
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาเราจะพบว่ามีบรรดาที่ปรึกษาทางด้านการจัดการเดินกันขวักไขว่ไปหมด องค์กรต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเอกชนขนาดใหญ่ ขนาดกลาง หรือ ย่อม รวมถึงส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจต่างๆ ก็มีการใช้บริการของบรรดาที่ปรึกษาทางด้านการจัดการกันอย่างคึกคัก แต่ในขณะเดียวกันก็เชื่อว่ามีหลายท่านที่มีคำถามอยู่ในใจเหมือนกันนะครับว่าเวลาองค์กรใช้ที่ปรึกษานั้นคุ้มหรือไม่? เนื่องจากค่าใช้จ่ายของบรรดาที่ปรึกษานั้นก็ไม่ใช่หลักพันหลักหมื่น ส่วนใหญ่เป็นแสนเป็นล้านขึ้นไปทั้งสิ้นครับ ขึ้นอยู่กับขนาดและลักษณะของเนื้องาน และในหลายๆ โครงการเชื่อว่าคนภายในองค์กรก็จะมีความรู้สึกว่าตนเองก็ทำงานในลักษณะเดียวกันได้ แถมคุณภาพอาจจะดีกว่าด้วย ทำไมต้องจ้างที่ปรึกษามาทำ แถมบริษัทที่ปรึกษาบางแห่งเมื่อได้รับงานแล้วก็มอบหมายให้น้องๆ ที่เพิ่งจบใหม่เข้ามาเป็นผู้รับผิดชอบ ทำให้เกิดคำถามบ่อยๆ ครับเรื่องความคุ้มค่าและประโยชน์ที่ได้รับจากที่ปรึกษา
ผมเองมีโอกาสเห็นองค์กรขนาดใหญ่หลายแห่งเสียเงินเป็นสิบๆ ล้านจ้างที่ปรึกษาระดับโลกเข้ามาช่วยพัฒนา ปรับปรุงองค์กร สุดท้ายก็ได้รายงานขนาดหนาหนึ่งเล่ม ที่ถูกนำไปเก็บไว้ในห้องเก็บของ โดยผลงานชิ้นนั้นไม่ได้รับการนำไปใช้แต่อย่างใด ซึ่งเชื่อว่าถ้าองค์กรไหนเจอเหตุการณ์แบบนี้เข้าบ่อยๆ ก็เชื่อว่าอาจจะหมดศรัทธากับการว่าจ้างที่ปรึกษาก็ได้ (หรืออาจจะยังไม่เข็ดก็ได้นะครับ) แต่ถ้าเรามองดีๆ นะครับ เราจะเห็นคุณค่าหรือประโยชน์อีกประการของการจ้างที่ปรึกษาที่ปกติเราไม่เคยคิดถึงก็ได้นะครับ นั้นคือประโยชน์ในเรื่องของการถ่ายโอนความรู้ครับ เนื่องจากเมื่อเรานึกถึงประโยชน์หรือคุณค่าที่จะได้รับจากการว่าจ้างที่ปรึกษานั้น เรามักจะมองที่ความคุ้มค่าในแง่ของผลงาน หรือ การนำผลงานที่ได้รับไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในองค์กร แต่จริงๆ แล้วถ้าเรามองกันในอีกมุมหนึ่ง การจ้างที่ปรึกษาก็คือการจ้างคนมาถ่ายทอดความรู้ให้กับคนในองค์กรนั้นเองครับ
Peter Drucker เคยตั้งคำถามไว้เหมือนกันครับว่า Why management consultants? หรือ ทำไมต้องจ้างบุคคลภายนอกมาให้คำแนะนำในเรื่องเกี่ยวกับตัวองค์กรและการทำงานที่จริงๆ แล้วบุคคลภายในองค์กรย่อมเป็นผู้เชี่ยวชาญหรือมีความรู้ดีอยู่แล้ว? (ในบางครั้งเคยเจอผู้ว่าจ้างบ่นเหมือนกันนะครับว่าที่ปรึกษามาเพื่อเรียนรู้จากองค์กร) หรือบางครั้งถ้าจะตอบว่าต้องการหาผู้เชี่ยวชาญในเรื่องนั้นๆ เข้ามาช่วยองค์กร ก็จะเกิดคำถามต่อมาเหมือนกันนะครับว่า แล้วทำไมไม่สร้างหรือพัฒนาผู้เชี่ยวชาญขึ้นมาเองภายในแทนที่จะต้องเสียเงินจ้างผู้เชี่ยวชาญจากภายนอก? แต่ปรากฎการณ์ที่เราพบเห็นก็คือในปัจจุบันที่ปรึกษาภายนอกกลับทวีจำนวนเพิ่มมากขึ้น หลายๆ องค์กรตั้งหน่วยงานให้ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาภายในแล้ว แต่ก็ยังต้องเสียเงินจ้างที่ปรึกษาภายนอกอยู่ดี
จริงๆ แล้วสาเหตุที่มีการใช้ที่ปรึกษาจากภายนอกนั้นก็ชัดเจนนะครับ เนื่องจากที่ปรึกษาภายนอกนั้นนอกเหนือจากจะมีความรู้ ความเชี่ยวชาญในเรื่องที่ตนเองให้คำปรึกษาแล้ว ที่ปรึกษาภายนอกยังมีประสบการณ์หรือเคยเจอปัญหาและสถานการณ์ในลักษณะคล้ายๆ กันจากองค์กรอื่นทั้งที่เป็นคู่แข่งหรือจากอุตสาหกรรมอื่นมาแล้ว ดังนั้นเมื่อเผชิญปัญหาหรือโจทย์ในลักษณะเดิมๆ ที่ปรึกษาทั้งหลายก็สามารถนำประสบการณ์หรือการเรียนรู้ที่ได้จากองค์กรหนึ่งไปใช้หรือปรับให้เข้ากับอีกองค์กรหนึ่งได้อย่างไม่ยากเย็น เรียกได้ว่าที่ปรึกษาจากภายนอกนั้นช่วยเหลือองค์กรในการแสวงหาทักษะ ความรู้ ความสามารถ ในการแก้ไขปัญหา หรือ โจทย์ที่กำลังปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพกว่าหรือประหยัดต้นทุนกว่าที่องค์กรจะเรียนรู้เอง โดยการลองผิดลองถูก ซึ่งถ้าเป็นแบบนั้นก็อาจจะบอกได้ไหมครับว่าการจ้างที่ปรึกษาจากภายนอกนั้น ทำให้องค์กรได้ความรู้ แนวทาง และวิธีการในการปฎิบัติได้ในต้นทุนที่ต่ำกว่าจะเรียนรู้และทดลองด้วยตนเอง เนื่องจากที่ปรึกษาจากภายนอกนั้นสามารถนำประสบการณ์หรือสิ่งที่ได้เรียนรู้จากที่อื่นมาปรับใช้ให้เหมาะสม
ถ้าเป็นไปตามเนื้อหาข้างต้นเราจะบอกได้ไหมครับว่าหน้าที่ของที่ปรึกษาภายนอกนั้นคือการเป็นที่ปรึกษาทางด้านความรู้ หรือผู้ถ่ายทอดความรู้ให้กับองค์กร มากกว่าเป็นผู้ที่ทำหน้าที่เข้าไปแก้ไขปัญหาให้กับองค์กรโดยตรง? อย่างไรก็ดีองค์กรจะได้ประโยชน์จากการบทบาทในการเป็นที่ปรึกษาด้านความรู้ของที่ปรึกษาได้นั้น องค์กรก็ต้องมีมาตรการมารองรับการถ่ายทอดความรู้จากที่ปรึกษาด้วยเช่นกันนะครับ ไม่ใช่ว่าพอที่ปรึกษาทำงานเสร็จสิ้นก็กลับ โดยนอกจากรายงานหนึ่งชิ้นแล้ว ตัวองค์กรเองกลับไม่ได้ความรู้ หรือ ไม่ได้เรียนรู้อะไรจากที่ปรึกษาเลย
ดังนั้นถ้าจะตอบโจทย์ของพาดหัวบทความนี้ว่าจะจ้างที่ปรึกษามาทำไมนั้น คำตอบหนึ่งก็คือเพื่อมานำความรู้และประสบการณ์จากองค์กรอื่นๆ มาแก้ไขโจทย์หรือถ่ายทอดให้กับองค์กรครับ