
30 October 2007
ช่วงนี้ยังอยู่ในช่วงของบทความที่เกี่ยวกับการเรียนการสอนทางด้าน MBA อย่างต่อเนื่องมาเป็นสัปดาห์ที่สี่แล้วนะครับและคงจะต่อเนื่องจากในสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งนำเสนอเรื่องของมนต์ขลังของ MBA โดยในสัปดาห์นี้ผมนำมาจากบทความของต่างประเทศที่เขาตั้งชื่อว่า Five Hard Truths About the MBA ครับ ซึ่งถ้าแปลเป็นไทยตรงๆ ก็เหมือนกับข้อเท็จจริงที่น่ากลัวของ MBA ซึ่งเดี๋ยวเรามาดูกันนะครับว่าทั้งห้าประการนั้นเป็นข้อเท็จ หรือ ข้อจริงสำหรับ MBA ในประเทศไทยกันแน่
เรื่องแรกคือผลตอบแทนจากการเรียน MBA ครับ ที่ปัจจุบันมีงานวิจัยหลายๆ ชิ้นในต่างประเทศที่แสดงให้เห็นว่า การลงทุนเพื่อเรียน MBA นั้น ถ้ามองในเชิงการลงทุนแล้วถือว่าเป็นการลงทุนที่ไม่คุ้มครับ โดยเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา มีงานวิจัยชื่อ The Academy of Management Learning and Education โดยอาจารย์ทางด้านบริหารธุรกิจสองท่าน (Jeffrey Pfeffer และ Christina Fong) ที่ออกมาทิ้งระเบิดไว้ว่าการเรียน MBA นั้น ไม่ก่อให้เกิดประสิทธิผลหรือได้รับผลลัพธ์เท่าที่ควร โดยไม่ว่าจะเป็นการได้รับปริญญาหรือการได้เกรดดีๆ ไม่มีความสัมพันธ์กับความสำเร็จในหน้าที่การงาน นอกจากนี้รายงานวิจัยดังกล่าวยังได้อ้างอีกนะครับว่า เมื่อเปรียบเทียบเงินเดือนของผู้ที่จบ MBA กับคนรุ่นเดียวกันที่ไม่ได้จบ MBA แล้ว พบว่าการได้รับ MBA ไม่ได้เป็นตัวที่จะทำให้เงินเดือนหรือผลตอบแทนพุ่งสูงกว่าเพื่อนที่ไม่ได้เรียน นอกจากมองในแง่ของรายได้แล้ว เขายังมองในแง่ของการลงทุนอีกครับว่า ค่าเล่าเรียนในการเรียน MBA นั้นไม่ใช่น้อยๆ แถมยังไม่นับค่าเสียโอกาสจากการที่ต้องหยุดงานเพื่อเรียนหนังสือ ดังนั้นถ้ามองในแง่ของผลตอบแทนจากการลงทุนแล้ว คนจะมาเรียนต้องพิจารณาด้วยดีๆ นะครับว่าจะคุ้มทุนหรือไม่?
เนื้อหาข้างต้นเป็นข้อมูลของการเรียน MBA ในต่างประเทศ โดยเฉพาะในอเมริกา แต่ถ้าหันกลับมามองเมืองไทย เราอาจจะได้ภาพที่แตกต่างกันนะครับ เนื่องจากบริบทการเรียนที่แตกต่างกัน อาทิเช่น เรื่องของการลงทุน ที่ค่าใช้จ่ายในการเรียน MBA โดยเฉพาะภาคปกตินั้นไม่ได้สูงจนถึงขั้นต้องกู้เงินมาเรียนเหมือนในต่างประเทศ รวมทั้งวัตถุประสงค์ของการเรียนหนังสือของคนจำนวนมาก ก็ไม่ได้มองในแง่ของผลตอบแทนจากการลงทุนเพียงอย่างเดียว แต่ส่วนใหญ่แล้วเราก็จะมองในแง่ของการได้ความรู้ ความสัมพันธ์ โอกาสต่างๆ ที่จะเพิ่มขึ้น ดังนั้นเชื่อว่าในเมืองไทยนั้นส่วนใหญ่แล้วคงไม่ได้มองผลตอบแทนจากการศึกษาเป็นเพียงแค่ผลตอบแทนจากการลงทุนเท่านั้น และประเด็นสำคัญคือธรรมชาติการเรียน MBA ของไทยนั้น แนวโน้มส่วนใหญ่จะหันมาให้ความสำคัญกับหลักสูตรนอกเวลามากขึ้น ทำให้คนไม่จำเป็นต้องหยุดงานหรือลาออกจากงานเพื่อมาเรียนหนังสือเพียงอย่างเดียว
มาดูข้อเท็จหรือจริงประการที่สองกันนะครับ นั้นคือการเรียนการสอนในหลักสูตร MBA ต่างๆ มุ่งเน้นแต่ทางด้านทฤษฎีมากเกินไป ซึ่งก็เป็นข้อวิจารณ์ที่ได้ยินกันมาเยอะและได้ยินกันมานานพอสมควรเหมือนกันครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นที่ว่าสถาบันการศึกษาทั้งหลายจะผลิตบัณฑิตทางด้าน MBA ที่ไม่สามารถตอบสนองต่อความต้องการของวงการธุรกิจได้ เนื่องจากการเรียนการสอน MBA ที่ผ่านมานั้นมุ่งเน้นแต่ในด้านทฤษฎีเป็นสำคัญ โดยไม่มุ่งเน้นในการพัฒนาและทักษะที่สามารถปฏิบัติได้จริงๆ ในขณะที่ตัวผู้เรียนเองก็แสดงออกมาอย่างชัดเจนเลยครับว่าสิ่งที่ต้องการเรียนรู้นั้น คือวิธีการหรือแนวทางที่สามารถนำไปปฏิบัติได้จริงๆ ไม่ใช่เพียงแต่ทฤษฎีที่สามารถใช้ได้ในห้องเรียนเพียงอย่างเดียว
หันกลับมาดูประเด็นนี้ในเมืองไทยบ้างนะครับ เรื่องนี้ยังไม่ค่อยได้ยินหรือเห็นข้อร้องเรียนจากภาคธุรกิจในไทยเท่าใดนะครับ (หรืออาจจะเป็นกรณีที่ภาคธุรกิจในไทยขาดเวทีหรือไม่ชอบที่จะร้องเรียนก็ได้ครับ) ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นจากสองกรณีก็ได้ครับ ประการแรกคือสถาบันการศึกษาในบ้านเราผลิตบัณฑิตทางด้าน MBA ที่มีทักษะและความสามารถในการปฏิบัติงานได้ทันที หรือ ประการที่สองคือทางภาคธุรกิจเองก็ไม่ได้มีความคาดหวังที่คนจบ MBA มาจะสามารถทำงานได้ทันที แต่ต้องมีการฝึกฝน อบรม และพัฒนาซักระยะหนึ่ง โดยมองว่าข้อได้เปรียบของผู้ที่จบ MBA มานั้นคือควรจะสามารถเรียนรู้งานได้เร็ว คิด วิเคราะห์ และสังเคราะห์ได้ดี รวมทั้งมีเครื่องมือต่างๆ เพื่อเข้ามาช่วยในการแก้ปัญหาและตัดสินใจได้มากขึ้น
เป็นอย่างไรบ้างครับ Hard Truth ของต่างประเทศเขาเมื่อนำมาวิเคราะห์สำหรับประเทศไทยแล้ว ใช้ได้หรือไม่? สัปดาห์นี้ขอนำเสนอเฉพาะสองประเด็นก่อนนะครับ สัปดาห์หน้ามาต่ออีกสามประเด็นครับ และก่อนจบขอฝากข่าวประชาสัมพันธ์ครับ ทางภาควิชาพาณิชยศาสตร์ (ภาควิชาที่ผมสังกัด) คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ กำลังรับสมัครอาจารย์ประจำหลายอัตราในด้านต่างๆ ทั้งการจัดการ การผลิตและดำเนินงาน การวิเคราะห์เชิงปริมาณ การจัดการเชิงกลยุทธ์ การจัดการทรัพยากรบุคคล และการจัดการธุรกิจระหว่างประเทศ ท่านผู้อ่านที่สนใจหรือมีคนรู้จักที่สนใจก็สามารถโทร.มาสอบถามได้ที่ คุณทับทิม เบอร์ 02-218-5773 หรืออีเมลมาที่ผมก็ได้นะครับ