7 November 2007

สัปดาห์นี้น่าจะเป็นตอนสุดท้ายของบทความต่อเนื่องในเรื่องเกี่ยวกับการเรียนการสอน MBA นะครับ โดยเป็นตอนจบจากเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ที่ผมได้นำเสนอเนื้อหาจากบทความของต่างประเทศที่ชื่อ Five Hard Truths About the MBA รวมทั้งการวิเคราะห์และเชื่อมโยงกับการเรียนการสอน MBA ในบ้านเรา โดยเมื่อสัปดาห์ที่แล้วได้นำเสนอ ข้อเท็จ (หรือจริง) เกี่ยวกับเรื่องของ MBA ไปสองเรื่อง ได้แก่ ความคุ้มทุนในการเรียน MBA และ การเรียนที่มุ่งเน้นทฤษฎีเกินไปจนไม่สามารถนำไปปฏิบัติได้ สัปดาห์นี้เรามาดูในสามประเด็นที่เหลือกันนะครับ

            ข้อเท็จ (หรือจริง) ประการที่สามที่เขาวิจารณ์สถาบันการศึกษาทางด้านบริหารธุรกิจก็คือ การเรียน MBA ไม่สามารถพัฒนาทักษะในด้านการบริหารคนได้อย่างแท้จริง ในอดีต (หรือปัจจุบัน) ความคาดหวังสำหรับผู้ที่จบ MBA นั้นคือสามารถออกไปเป็นผู้บริหาร ไม่ว่าระดับต้น ระดับกลาง หรือ แม้กระทั่งระดับสูง ที่ดีได้เลย โดยบุคคลผู้นั้นอาจจะไม่เคยมีประสบการณ์ในการบริหารมาก่อนเลยก็ได้ ซึ่งถ้าการเรียนวิชาชีพในศาสตร์อื่นๆ นั้นไม่ว่าจะเป็นแพทย์ หรือ กฎหมาย เมื่อจบออกไปหรือก่อนจบ จะประกอบอาชีพได้ก็ต้องไปฝึกหัดในวิชาชีพนั้นเสียก่อน ถึงจะสามารถไปประกอบอาชีพได้อย่างแท้จริง แต่การเรียนทางด้านบริหารธุรกิจนั้นกลับไม่มีสนามให้ฝึกหัดหรือสะสมประสบการณ์ เมื่อจบแล้วก็มักจะมีความคาดหวังติดตัวว่าจะสามารถออกไปเป็นผู้บริหารได้ อย่างน้อยก็ผู้บริหารระดับต้นหรือกลาง

            ความท้าทายก็คือการบริหารจัดการที่แท้จริงนั้นมันยุ่งยากและสลับซับซ้อนมากกว่าเพียงแค่การอ่านทฤษฎีหรือกรณีศึกษาต่างๆ จากตำราเรียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งพอเกี่ยวข้องกับคนแล้ว เชื่อว่าไม่มีตำราเล่มไหนที่จะสู่ประสบการณ์จริงได้ ซึ่งการเรียน MBA ส่วนใหญ่นั้นนอกเหนือจากการขาดวิชาที่เกี่ยวข้องหรือให้ความสำคัญกับเรื่องของทักษะเกี่ยวกับคน หรือ Human Skills แล้ว ประสบการณ์ในการบริหารคนจริงๆ ยังยากที่จะเรียนรู้จากตำราเพียงอย่างเดียว ทำให้ผู้ที่จบ MBA ไป โดยเฉพาะผู้ที่ขาดประสบการณ์ในการทำงานพลอยขาดทักษะที่เกี่ยวข้องกับคนไปด้วยครับ

            ข้อเท็จ (หรือจริง) ประการที่สี่นั้นระบุว่าการเรียนการสอน MBA นั้นมักจะตื่นเต้นและให้ความสำคัญกับบรรดาแนวคิดและเครื่องมือทางการบริหารจัดการใหม่ๆ แล้วนำแนวคิดใหม่ๆ นั้นเข้าไปผสมผสานกับหลักสูตรการเรียนการสอน ซึ่งในมุมมองหนึ่งอาจจะดูดี ทำให้หลักสูตรทันสมัย แต่เมื่อพิจารณาอย่างละเอียดแล้วอาจจะเป็นโทษมากกว่าเป็นคุณ ทั้งนี้เนื่องจากบรรดา Management Fads ต่างๆ ล้วนแล้วแต่มาแล้วก็ไป เหมือนเป็นกระแสความนิยมในความบันเทิงรูปแบบต่างๆ ที่จะมาเป็นช่วงๆ ดังนั้นการสร้างหลักสูตรโดยอิงกับกระแสใดกระแสหนึ่งมากเกินไปก็จะทำให้ขาดความเป็นแก่นแท้ของศาสตร์ ในบทวิจารณ์ของต่างประเทศนั้นเขายังยกตัวหลักสูตรของ Harvard Business School ด้วยครับ ว่ามุ่งเน้นเกาะกระแสความนิยมหรือความตื่นตัวในเรื่องใดเรื่องหนึ่งเกินไป เช่น มีวิชาหนึ่งที่ให้คำมั่นสัญญากับนิสิตไว้เลยว่านิสิตจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับ cannibalization, network externalities, and globalization

            สำหรับหลักสูตร MBA ของไทยนั้นก็ยังมีบ้างที่เกาะกระแสความนิยมในช่วงนั้นๆ โดยมักจะปรากฎในรูปของเนื้อหาในรายวิชามากกว่าที่จะเป็นไปทั้งหลักสูตร แต่ก็มีแนวโน้มที่จะเกาะกระแสความนิยมในอุตสาหกรรมเสียมากกว่า ส่วนการนำเครื่องมือทางการบริหารจัดการใหม่ๆ ที่เป็นที่สนใจและอยู่ในกระแสมาสอนในหลักสูตร MBA นั้นก็ปรากฎให้เห็นอยู่ทั่วไปครับ ซึ่งถ้ามองอีกมุมหนึ่งก็อาจจะกล่าวได้ว่าบรรดาหลักสูตร MBA ต่างๆ ก็พยายามที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์ของตนเองให้เป็นไปตามกระแสความนิยมและความต้องการของลูกค้า เนื่องจากถ้าภาคธุรกิจส่วนใหญ่กำลังให้ความสนใจต่อแนวคิดใดแนวคิดหนึ่ง แล้วปรากฎว่าผู้ที่จบการศึกษาจากสถาบันไป ไม่มีความรู้หรือไม่สามารถตอบสนองความต้องการของภาคธุรกิจได้ ก็เหมือนกับผลิตสินค้าออกมาไม่ตรงกับความต้องการของลูกค้า

            สำหรับข้อเท็จ (หรือจริง) ประการสุดท้ายที่เขาได้วิจารณ์ไว้นั้น ก็เป็นเรื่องของความไม่ซื่อสัตย์ในการเรียน MBA ครับ เนื่องจากมีงานวิจัยที่ชี้ออกมาว่ากว่าร้อยละ 56 ของผู้ที่เรียน MBA ในอเมริกายอมรับว่ามีการโกงในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นการลอกงาน ทั้งการลอกงานหรือการบ้านของเพื่อน การลอกงานของผู้อื่นหรือแหล่งข่าวอื่นจากอินเตอร์เน็ตแล้วนำมาตัดแปะเป็นรายงาน หรือ แม้กระทั่งการโกงในห้องสอบ ซึ่งอัตราส่วนความไม่ซื่อสัตย์ของผู้ที่เรียน MBA นั้นพบว่ามีอัตราส่วนที่สูงกว่าผู้ที่เรียนปริญญาโทในสาขาอื่นๆ

            รายงานวิจัยชิ้นดังกล่าวเปิดประเด็นขึ้นมาเหมือนกันนะครับว่าสาเหตุที่เป็นเช่นนี้อาจจะเนื่องจากบริบทในการเรียน MBA ที่ก่อให้เกิดภาวะดังกล่าวขึ้น เนื่องจากความสำเร็จในการเรียนมักจะนำไปสู่ความก้าวหน้าในอาชีพการงาน ดังนั้นผู้เรียนเองก็มุ่งเน้นที่จะเรียนให้จบ โดยไม่สนใจหรือใส่ใจในวิธีการที่ใช้ ประกอบกับการเรียน MBA ก็มุ่งเน้นและให้ความสำคัญกับผลประกอบการหรือผลกำไรอยู่แล้ว ดังนั้น ผู้เรียนก็จะติดแนวความคิดในการมุ่งเน้นผลลัพธ์เป็นหลัก โดยไม่สนใจในวิธีการที่จะใช้

            เป็นอย่างไรบ้างครับ อ่านข้อวิจารณ์ของต่างประเทศแล้ว ท่านผู้อ่านก็อย่าลืมย้อนกลับมาพิจารณาหลักสูตร MBA ของบ้านเรากันบ้างนะครับ และก่อนจบขอฝากข่าวประชาสัมพันธ์ครับ ทางภาควิชาพาณิชยศาสตร์ (ภาควิชาที่ผมสังกัด) คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ กำลังรับสมัครอาจารย์ประจำหลายอัตราในด้านต่างๆ ทั้งการจัดการ การผลิตและดำเนินงาน การวิเคราะห์เชิงปริมาณ การจัดการเชิงกลยุทธ์ การจัดการทรัพยากรบุคคล และการจัดการธุรกิจระหว่างประเทศ ท่านผู้อ่านที่สนใจหรือมีคนรู้จักที่สนใจก็สามารถโทร.มาสอบถามได้ที่ คุณทับทิม เบอร์ 02-218-5773 หรืออีเมลมาที่ผมก็ได้นะครับ