12 July 2009

ท่านผู้อ่านหลายท่านคงจะคุ้นเคยกับแนวคิดของ Management Cockpit หรือที่เราเรียกชื่อว่าเป็น ห้องปฏิบัติการทางการจัดการนะครับ สำหรับท่านที่ไม่คุ้นเคยก็แจ้งสั้นๆ ว่าเป็นห้องประชุมที่ในห้องประ ชุมประกอบด้วยข้อมูลของธุรกิจและตัวชี้วัดการดำเนินงานที่แสดงและนำเสนอในรูปแบบที่สามารถติดตาม และเข้าใจได้ง่าย ถ้าอยากจะเห็นของจริงก็เรียนเชิญที่คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ ได้ครับ จริงๆ สัปดาห์นี้คงจะไม่ได้มาเล่าให้ฟังนะครับว่า Management Cockpit คืออะไร เนื่องจากคุ้นๆ ว่าเคยเล่าไปแล้ว แต่อยากจะนำเสนอพัฒนาการของแนวคิดดังกล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งพัฒนาการของ Management Cockpit ที่ผู้คิดค้น (Prof. Patrick Georges) เรียกเองว่าเป็น Management Cockpit 2010 ว่าจะสามารถช่วยให้องค์กรบริหารเพื่อฝ่าวิกฤตภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันได้อย่างไร

            ภายใต้แนวคิด Management Cockpit 2010 นั้น Patrick Georges เขาเสนอว่าแทนที่องค์กรจะมีการกำหนดตัวชี้วัดผลการดำเนินงานต่างๆ ให้ออกมามากมายเหมือนที่องค์กรต่างๆ ทำอยู่ในปัจจุบัน ผู้บริหารสามารถบริหารองค์กรได้ดี โดยให้ความสนใจและพยายามพัฒนาตัวชี้วัดหลักที่สำคัญเพียงไม่กี่ตัวเท่านั้น และเจ้าไม่กี่ตัวนั้นก็มีอยู่แค่หกประการเองครับ โดยในหกด้านที่เขาเสนอนั้นประกอบด้วยตัวชี้วัดที่วัดความสามารถขององค์กรในด้านนวัตกรรม วัดว่าองค์กรมุ่งเน้นหรือให้ความสำคัญกับลูกค้ามากน้อยเพียงใด วัดว่าองค์กรสามารถนำเสนอสินค้าและบริการที่มีคุณภาพด้วยต้นทุนที่ต่ำที่สุด วัดว่าองค์กรสามารถจัดสรรทรัพยากรในการทำงานให้กับบุคลากรที่มีค่ามากที่สุดขององค์กรได้หรือไม่ วัดว่าองค์กรสามารถปฏิบัติตามโครงการสำคัญที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้หรือไม่? และวัดว่าองค์กรสามารถจัดสรรการลงทุนไปที่กิจกรรมที่ก่อให้เกิดผลตอบแทนสูงสุดหรือไม่?

            ท่านผู้อ่านที่คุ้นเคยกับเรื่องของตัวชี้วัดนั้นอาจจะงงนิดหน่อยนะครับว่าทำไมองค์กรและผู้บริหารสูงสุดถึงควรจะวัดและติดตามในหกด้านข้างต้นเท่านั้นเอง ทั้งๆ ที่องค์กรสามารถที่จะวัดผลการดำเนินงานในด้านต่างๆ เป็นร้อยๆ ตัว? Patrick Georges เขาระบุว่าทั้งหกด้านข้างต้นถือเป็นหกด้านที่มีความสำคัญต่อความอยู่รอดและความสำเร็จขององค์กรในปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายใต้ภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน อีกทั้งยังเป็นหกด้านที่จะมีส่วนกระตุ้นและจูงใจพนักงานภายในองค์กร โดยเขาเองได้มีการนำแนวคิดของ Management Cockpit 2010 ไปทดลองปฏิบัติในหน่วยธุรกิจต่างๆ มากกว่า 180 แห่งในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา และพบว่าผลการดำเนินงานของหน่วยธุรกิจเหล่านั้นต่างมีการพัฒนาและดีขึ้น

            อย่างไรก็ดีไม่ใช่ว่าองค์กรทั้งองค์กรจะติดตามตัวชี้วัดในหกด้านนี้เท่านั้นนะครับ ตัวชี้วัดในหกด้านข้างต้นควรจะเป็นตัวชี้วัดที่ผู้บริหารระดับสูงขององค์กรมีการเฝ้าติดตามทุกไตรมาสและถ้าผลของตัวชชี้วัดใดที่เริ่มไม่ดี ก็ต้องแสวงหาแนวทางในการปรับปรุงการดำเนินงานในด้านนั้นๆ ส่วนตัวชี้วัดอื่นที่องค์กรมีนั้นสามารถที่จะมอบหมายให้กับบุคลากรหรือผู้เชี่ยวชาญในแต่ละด้านไปติดตามและตรวจสอบ แต่ตัวผู้บริหารระดับสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้บริหารสูงสุด ควรจะมุ่งเน้นและให้ความสำคัญกับตัวชี้วัดทั้งหกด้านนี้เป็นหลัก

            ถึงตรงนี้อาจจะมีข้อถกเถียงว่าการที่ผู้บริหารระดับสูงเฝ้าติดตามแต่ตัวชี้วัดในหกด้านข้างต้นอาจจะง่ายเกินไปสำหรับการบริหารองค์กรหรือเปล่า? เนื่องจากการบริหารองค์กรธุรกิจนั้นน่าจะมีความซับซ้อนและติดตามตัวชี้วัดที่มากกว่าเพียงแค่หกตัวข้างต้น แต่ถ้าเราพิจารณาดีๆ จะพบว่าในตัวชี้วัดทั้งหกด้านนั้นครอบคลุมการดำเนินงานหลักๆ ที่สำคัญขององค์กรอยู่เกือบหมดแล้ว และการบังคับให้ผู้บริหารเฝ้าติดตามตัวชี้วัดเพียงแค่หกตัวก็ทำให้ผู้บริหารระดับสูงได้มุ่งเน้นในสิ่งที่สำคัญ เนื่องจากตัวชี้วัดทั้งหกตัวนั้นครอบคลุมทั้งเรื่องของกลยุทธ์ ลูกค้า การขาย การดำเนินงาน บุคลากร และการจัดการ ดังนั้นการมุ่งเน้นที่ตัวชี้วัดทั้งหกตัวนั้นก็จะครอบคลุมในประเด็นหลักๆ อีกทั้งมีความสมดุลในด้านการบริหารจัดการอีกด้วย

            จริงๆ แล้วในหกด้านที่นำเสนอไปข้างต้นนั้นทาง Patrick Georges เขาได้เสนอตัวชี้วัดไว้ให้อย่าง ชัดเจนเลยนะครับ เช่น ถ้าเป็นเรื่องของความสามารถในด้านนวัตกรรมนั้น ก็แนะนำตัวชี้วัด SFN หรือ Sales From New ซึ่งแสดงให้เห็นถึงยอดขายจากสิ่งใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นลูกค้าใหม่ สินค้าใหม่ บริการใหม่ ฯลฯ หรือ การมุ่งเน้นในเรื่องของลูกค้าก็แนะนำตัวชี้วัดชื่อ TFC หรือ Time Facing Customer หรือเวลาที่ใช้กับลูกค้า ฯลฯ

            ถ้าท่านผู้อ่านอยากจะรู้เรื่องของ Management Cockpit 2010 เพิ่มเติม ก็ขอแนะนำให้ไปฟังจากต้น ตำรับผู้คิดค้น Management Cockpit เลยดีกว่าครับ Patrick Georges เขาจะมาเมืองไทยและร่วมกับคณะ พาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ จัดสัมมนาเรื่อง Management Cockpit in 2010: Managing in an Economic Downturn ในวันที่ 13 สิงหาคม นี้ระหว่างเวลา 8.30 – 12.00 ถ้าท่านผู้อ่านสนใจก็สอบถามรายละเอียดได้ที่ 02-218-5867 หรือ http://www.acc.chula.ac.th ครับ