
26 July 2009
ช่วงนี้ระบบราชการไทยมีข่าวดีออกมาเป็นระยะๆ โดยได้รับรางวัลและการเชิดชูเกียรติจากหน่วยงานระดับชาติหลายแห่ง ประกอบกับตัวผมเองได้มีโอกาสเข้าไปเรียนรู้แนวทางการพัฒนาระบบราชการของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ หรือสำนักงาน ก.พ.ร. ที่มีหน้าที่ดูแล และพัฒนาระบบต่างๆ ของหน่วยงานราชการ ก็ทำให้เกิดข้อสงสัยนะครับ ว่า ณ ปัจจุบัน ถ้าเทียบกับบริษัทเอกชนโดยเฉลี่ยด้วยกันแล้ว หน่วยงานราชการต่างๆ ได้มีการพัฒนาระบบการทำงานต่างๆ กันมามากพอสมควร อีกทั้ง เมื่อเทียบกับบริษัทเอกชนแล้ว หน่วยงานราชการต่างๆ ได้มีการนำเครื่องมือทางการบริหารจัดการสมัยใหม่มาใช้กันอย่างคึกคักกันพอสมควรเลยครับ
อย่างไรก็ดี การนำเครื่องมือทางการบริหารจัดการสมัยใหม่มาใช้นั้น ก็ใช่ว่าจะมีแต่ข้อดีอย่างเดียวนะครับ ข้อเสียก็มี เนื่องจากเครื่องมือต่างๆ นั้น เป็นเพียงแต่เครื่องมือ ประโยชน์หรือความสำเร็จที่จะเกิดขึ้นนั้น ขึ้นอยู่กับความจำเป็น และการปรับให้เข้ากับบริบทของแต่ละองค์กรมากกว่า ย้อนกลับมาที่หน่วยราชการต่างๆ ในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นกระทรวง กรม หน่วยงานของทหาร จังหวัด ต่างๆ ปัจจุบัน ได้มีการนำเครื่องมือทางการบริหารสมัยใหม่มาใช้ในการบริหารกันอย่างแพร่หลาย โดยได้มีการปรับเครื่องมือทางการบริหารที่ภาคเอกชนใช้ ให้เหมาะสมกับการดำเนินงานของส่วนราชการต่างๆ
เริ่มตั้งแต่การบริหารยุทธศาสตร์ ที่ในปัจจุบันส่วนราชการทุกแห่งมีการวางแผนยุทธศาสตร์ ไล่มาตั้งแต่วิสัยทัศน์ พันธกิจ ประเด็นยุทธศาสตร์ เป้าประสงค์ ตัวชี้วัด กลยุทธ์ โครงการ และงบประมาณต่างๆ เรียกว่าไล่มาตั้งแต่ยุทธศาสตร์จนกระทั่งถึงโครงการและแผนปฏิบัติการ นอกจากนี้ การกำหนดงบประมาณในส่วนงบยุทธศาสตร์ของส่วนราชการต่างๆ ก็สอดคล้องกับโครงการและยุทธศาสตร์ต่างๆ ที่กำหนดขึ้น และเพื่อให้ส่วนราชการสามารถดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ได้อย่างดี ส่วนราชการทุกแห่ง จึงมีการปรับเอาระบบ Balanced Scorecard ของภาคเอกชนมาใช้ในระบบราชการ เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการสื่อสาร ถ่ายทอดยุทธศาสตร์ ตลอดจนการถ่ายทอดตัวชี้วัดทางยุทธศาสตร์จากระดับกรม/จังหวัด สู่ระดับสำนัก กระทั่งถึงระดับบุคคล
นอกจากเรื่องของการบริหารยุทธศาสตร์แล้ว ส่วนราชการต่างๆ ก็ได้เริ่มจัดทำแผนบริหารความเสี่ยงในด้านต่างๆ เหมือนกับในบริษัทมหาชนทั้งหลาย อีกทั้งยังนำแนวคิดเรื่องของการบริหารความรู้ หรือ Knowledge Management มาใช้ และจัดทำเป็นแผนการบริหารความรู้ เหมือนกับในเอกชนชั้นนำทั้งหลาย สำหรับการพัฒนาบุคลากรนั้น ส่วนราชการโดยการขับเคลื่อนของสำนักงาน ก.พ. ก็ได้มีการจัดทำแผนพัฒนาบุคลากรเป็นรายบุคคล รวมทั้งขยับมาเริ่มทำระบบ Competencies เหมือนกับบริษัทเอกชนเช่นเดียวกัน
จริงๆ ยังมีเครื่องมือทางการบริหารจัดการอีกเยอะนะครับ ที่ส่วนราชการต่างๆ นำมาใช้กันอย่างทั่วถึงในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของแผนบริหารการเปลี่ยนแปลง การปรับกระบวนการทำงาน การเชื่อมการจูงใจเข้ากับผลการปฏิบัติราชการ การนำระบบ Talent Management มาปรับใช้ การกำหนดวัฒนธรรมและค่านิยมในการทำงาน ฯลฯ และที่สำคัญ คือ ปัจจุบันส่วนราชการทุกแห่งได้มีการนำระบบ PMQA (Public Management Quality Award) มาใช้เป็นกรอบหลักในการพัฒนาส่วนราชการ และเครื่องมือทางการบริหารจัดการต่างๆ ที่กล่าวมาข้างต้น ก็สามารถเป็นส่วนหนึ่งของระบบ PMQA จริงๆ แล้ว PMQA นั้น ก็เป็นระบบที่ปรับและพัฒนามาจากเกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งชาติ หรือ TQA ของภาคเอกชนนั้นเองครับ
การนำเครื่องมือทางการบริหารต่างๆ มาใช้ในระบบราชการนั้น ก็มีข้อสังเกตอยู่หลายประการครับ นั่นคือ ส่วนราชการบางแห่งก็ได้รับประโยชน์จากการนำเครื่องมือเหล่านี้มาใช้อย่างเต็มที่ ในขณะที่ส่วนราชการบางแห่งก็นำเครื่องมือเหล่านี้มาใช้ในลักษณะแบบขอไปที หรือทำตามที่เขาบอกให้ทำเท่านั้น ซึ่งทั้งหมดนั้นก็ขึ้นอยู่กับผู้บริหารองค์กรเป็นสำคัญครับ และจุดอ่อนของระบบราชการอย่างหนึ่ง ก็คือ ผู้บริหารสูงสุดขององค์กรนั้น มักจะอยู่ไม่ทน มาทำงาน มาพัฒนาหน่วยงานได้เพียงไม่กี่ปีก็ต้องย้ายไป ทำให้การพัฒนาไม่เกิดความต่อเนื่องเท่าที่ควร ยกเว้นในส่วนราชการที่มีผู้บริหารระดับกลางที่ดูแลการพัฒนาระบบราชการที่เข้มแข็ง ก็ยังเดินหน้าต่อไปอย่างเต็มที่ ไม่ว่าใครจะย้ายมาหรือย้ายไป
ที่เขียนเล่ามาทั้งหมดก็อยากจะสรุปเป็นมุมมองใหม่นะครับว่าถึงเวลาที่เอกชนต้องไปดูงานเรื่องการบริหารการจัดการจากส่วนราชการบ้างหรือยัง ในอดีตเราจะมีแต่ส่วนราชการที่ไปดูงานของเอกชน แต่หลังจากที่ส่วนราชการต่างๆ มีการปรับปรุงและยกระดับการบริหารจัดการของตนเอง อาจจะถึงเวลาที่เอกชนจะได้ไปศึกษาเรียนรู้จากส่วนราชการบ้างนะครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อส่วนราชการมีข้อจำกัด ระเบียบ กฎเกณฑ์ และได้รับผลกระทบจากการเมืองมากกว่าเอกชน แต่เขายังสามารถพัฒนาและปรับปรุงการดำเนินงานของตนเองได้จนถึงระดับนี้ เพียงแต่ว่าเราอาจจะต้องเลือกหน่อยนะครับ ว่า จะไปศึกษาเรียนรู้จากไหน เนื่องจากส่วนราชการมีมาก ดังนั้น ระดับการพัฒนาของแต่ละหน่วยงานย่อมไม่เท่ากันเป็นธรรมดาครับ