
2 July 2009
เนื่องจากช่วงนี้เป็นช่วงวันหยุดยาวของหลายๆ ท่าน ดังนั้นขอนำเสนอเรื่องเบาๆ บ้างนะครับ โดยเป็นเรื่องเกี่ยวกับสุขภาพของนักบริหารทั้งหลาย ที่ปัจจุบันกระแสความตื่นตัวในเรื่องนี้เริ่มเพิ่มมากขึ้นทุกขณะ ถึงขนาดที่วารสาร Harvard Business Review ยกหน้าในวารสารให้กับเรื่องสุขภาพโดยเฉพาะ ซึ่งเริ่ม มาประมาณสองสามเดือนแล้ว
เริ่มที่เรื่องแรกก่อนแล้วกันครับ นั้นคือเรื่องของการดื่มกาแฟ ซึ่งเชื่อว่าท่านผู้อ่านหลายๆ ท่านคงเสพกาแฟกันวันละหลายๆ แก้ว โดยเฉพาะท่านที่ต้องอยู่ในห้องประชุมตลอดเวลา แล้วก็จะมีกาแฟให้ดื่มกันอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบันที่ร้านกาแฟเก๋ๆ ผุดขึ้นเป็นดอกเห็ดทำให้หลายคนติดกาแฟอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ผมมีน้องคนหนึ่งเป็นคุณแม่ลูกอ่อน ยังให้นมลูกอยู่แท้ๆ เลยครับ ก็กลับมาดื่มกาแฟต่อหลังหยุดไปช่วงคลอด (มิน่าลูกถึงซน)
ในอดีตเรามักจะนึกหรือเข้าใจว่าการดื่มกาแฟเป็นสิ่งที่ไม่ดี เป็นกึ่งๆ สารเสพติดชนิดหนึ่ง ทำให้นอนไม่หลับ เป็นสาเหตุของโรคกระเพาะและอีกจิปาถะ ปรากฎว่าจากบทความของคุณหมอของ Harvard Medical School ลงใน HBR เมื่อไม่นานมานี้พบว่าจากผลการศึกษาที่ใช้เวลานานพบว่าการดื่มกาแฟนั้นไม่ได้เป็นสาเหตุหรือกระตุ้นให้เกิดโรคมะเร็ง แถมยังป้องกันมะเร็งบางชนิดได้อีกด้วย อีกทั้งการดื่มกาแฟนั้นปลอดภัยต่อหัวใจของคนเรา ถึงขนาดที่ว่า American Heart Association อนุญาตให้ผู้ป่วยที่พักฟื้นจากหัวใจวายสามารถดื่มกาแฟได้วันละแก้ขณะพักรักษาตัวอยู่ในห้องผู้ป่วยเฉพาะ อีกทั้งมีการศึกษาที่พบว่าการดื่มกาแฟนั้นช่วยลดความเสี่ยงสำหรับอาการหัวใจวาย รวมทั้งยังมีส่วนในการป้องกันเราได้เล็กน้อยจากโรคเบาหวานบางชนิด นิ่วในถุงน้ำดี และ โรคพาร์กินสันอีกด้วย
นอกจากนี้ยังพบว่ากาแฟสามารถช่วยเพิ่มความสามารถในการทำงานของเราด้วย มีการทดลองที่แสดงให้เห็นว่ากาแฟทำให้เรามีความรู้สึกที่สบาย เพิ่มพลังงาน ความกระตือรือร้น รวมทั้งทำให้เกิดแรงจูงใจเพิ่มขึ้น อีกทั้งการใช้ fMRI ในการตรวจสอบสมองเราพบว่ากาแฟจะเข้าไปช่วยกระตุ้นสมองบางส่วนที่เกี่ยวข้องกับความทรงจำระยะสั้น ทำให้เราสามารถมีสมาธิกับงานที่เราทำอยู่ได้ดีขึ้น
อ่านดูข้อมูลต่างๆ ข้างต้นสงสัยท่านที่ไม่ได้ดื่มกาแฟเป็นประจำ คงต้องรีบทำตัวเป็นคนเสพติดกาแฟเสียแล้ว ในขณะที่คนที่ดื่มกาแฟเป็นประจำก็ตีปีกดีใจกันเป็นแถว แต่ก็ต้องระวังนะครับ เนื่องจากในกาแฟมีคาเฟอีนอยู่ไม่น้อย และสำหรับผู้ที่ไม่คุ้นชินกับคาเฟอีนแล้ว อาจจะส่งผลต่อระดับความดันโลหิตและการสูญเสียน้ำได้ และที่สำคัญครับ (สำคัญจริงๆ) ก็คือ ถ้ากาแฟดำจริงๆ แล้ว มีแคลลอรี่น้อยมาก แถมยังมีสารต้านอนุมูลอิสระอีก แต่ที่ร้ายคือส่วนที่เราผสมหรือเติมไปในกาแฟ ไม่ว่าจะเป็นน้ำตาล ครีม วิปครีมต่างๆ นั้นแหละครับคือตัวอันตรายต่อสุขภาพอย่างแท้จริง
แต่ถ้าท่านอ้วนขึ้นไม่ว่าจะเป็นจากสิ่งใดก็ตามนะครับ ทางหมอจาก Harvard Medical School เขาก็มีข้อแนะนำอีกครับว่า นอกเหนือจากการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ การกินให้น้อยลง การเคลื่อนไหวร่างกายให้มากขึ้นแล้ว ปัจจัยที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือต้องพูดให้มากขึ้น
ท่านผู้อ่านอย่าเพิ่งงงนะครับว่าการพูดให้มากขึ้นนั้นจะช่วยลดความอ้วนได้อย่างไร (บางท่านอ่านถึงตรงนี้อาจจะดีใจแล้วนะครับ คือดื่มกาแฟก็ดี อีกทั้งพูดมากยังช่วยทำให้ผอมอีก) แต่การพูดในที่นี้ไม่ใช่การพูดเล่น จับกลุ่ม นินทา นะครับ แต่เป็นการพูดคุยกับเพื่อนเรื่องของการลดความอ้วนอย่างสม่ำเสมอ มีงานวิจัยจากนิวซีแลนด์ที่ตีพิมพ์ลงใน Canadian Medical Association Journal ว่าสุภาพสตรีที่มีน้ำหนักเกินที่ มีการพบปะพูดคุยในลักษณะฉันท์เพื่อนกับพยาบาลหรือเพื่อนอย่างสม่ำเสมอเป็นระยะเวลาสั้นๆ จะสามารถทำให้ลดน้ำหนักลงได้ในระยะเวลาสองปีเมื่อเทียบกับผู้หญิงที่เสียเงินแพงๆ ในการเข้าคอร์สลดน้ำหนักต่างๆ และการพูดคุยนั้นไม่ใช่พูดคุยทางอีเมลหรือทาง Facebook นะครับ แต่ต้องเป็นการพบปะพูดคุยแบบ ตัวต่อตัวครับ
ในส่วนตัวผมมองว่าการได้พูดคุยฉันท์เพื่อนไม่ว่าจะเป็นกับเพื่อน หมอ พยาบาล อย่างสม่ำเสมอในเรื่องของการลดน้ำหนักนั้น น่าจะเป็นผลในเชิงจิตวิทยาเสียมากกว่านะครับ เพราะถ้าเราต้องพูดคุยในเรื่องเดียวกันอย่างต่อเนื่องหรือสม่ำเสมอนั้น อาจจะทำให้เราต้องคอยพัฒนาหรือปรับปรุง เพื่อให้การไปพบเจอในครั้งต่อไปมีพัฒนาการหรือความก้าวหน้า
ท่านผู้อ่านก็ลองดูนะครับว่าการดื่มกาแฟนั้นจะดีต่อสุขภาพจริงหรือไม่? ในขณะเดียวกันการพูดคุยกับเพื่อนในเรื่องของการคุมน้ำหนักนั้นจะช่วยทำให้ท่านลดความอ้วนได้จริงหรือไม่?