17 May 2009

เมื่อพูดถึง Social Networking หรือ Social Media หลายๆ ท่านอาจจะไม่คุ้น แต่ถ้าพูดถึง Hi 5 หรือ Facebook เชื่อว่าท่านผู้อ่านหลายๆ ท่านน่าจะคุ้น หรือ บางท่านอาจจะเล่นอยู่แล้วก็ได้ โดยเฉพาะท่านที่มีลูกหลานอยู่ในช่วงวัยรุ่น เชื่อว่าลูกหลานของท่านผู้อ่านก็คงเล่น Hi 5 กันเป็นประจำอยู่แล้ว ในเมืองไทยนั้นในบรรดาสังคมหรือชุมชนออนไลน์นั้น เมืองไทยจะมีเล่นกันเยอะๆ อยู่ก็หนีไม่พ้น Hi 5 หรือ ที่บางคนชอบ ล้อเป็น ฮิฮ่า ซึ่งผู้เล่นส่วนใหญ่จะเป็นนักเรียน นิสิต นักศึกษา ในช่วงวัยรุ่น แต่พอโตขึ้นมาหน่อยก็จะเล่น Facebook กันมากขึ้น โดยที่ Facebook นั้นจะมีเครือข่ายของเพื่อนๆ ชาวต่างประเทศมากขึ้น รวมทั้งมี Application ต่างๆ ให้เล่นอยู่มากมาย

            ถ้าพูดถึงตัวบุคคลแล้ว สังคมหรือชุมออนไลน์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น Hi5 หรือ Facebook ก็ถือเป็นนวัตกรรมที่มีประโยชน์ในการเป็นช่องทางในการแสดงออก หรือ สื่อสารระหว่างเพื่อนฝูงต่างๆ ทีนี้ประเด็นที่น่าสนใจก็คือในปัจจุบันแนวโน้มสำคัญที่เราเริ่มจะเห็นกันมากขึ้นก็คือบรรดาสังคมหรือชุมชนออนไลน์เหล่านี้ ไม่ได้เป็นเพียงช่องทางสำหรับบุคคลธรรมดาอีกต่อไปแล้ว องค์กรต่างๆ ทั้งองค์กรที่แสวงหาหรือไม่ได้แสวงหากำไรต่างลงมาเล่นหรือมีส่วนร่วมในสังคมหรือชุมชนออนไลน์มากขึ้น

            ท่านผู้อ่านที่เล่น Facebook ลองค้นหาชื่อบริษัทชื่อดังต่างๆ ซิครับ แล้วเราจะพบหน้าหรือ page ของบริษัทต่างๆ เหล่านั้น เช่นผมพิมพ์คำว่า General Motors ลงไปก็พบหน้าของบริษัท GM ซึ่งพอเข้าไปก็ เห็นข่าวประชาสัมพันธ์ต่างๆ ของ GM ไม่ว่าจะเป็นการหยุดการผลิตรถ Pontiac รวมทั้งข่าวประชาสัมพันธ์อื่นๆ ของบริษัท หรือ ซึ่งนอกเหนือจากจะเป็นการประชาสัมพันธ์ข่าวของบริษัทแล้ว เรายังสามารถเข้าไปเป็นแฟน (Fan) ของหน้าดังกล่าวได้ ซึ่งพอมีการ update ใดๆ บนเว็บ Facebook ของ GM การเปลี่ยนแปลง ดังกล่าวก็จะถูกแสดงที่หน้า Facebook ของเราด้วย

            สำหรับในเมืองไทยนั้นองค์กรชั้นนำหลายๆ แห่งก็เริ่มมีหน้าของตนเองอยู่บน Facebook แล้วเช่นเดียวกันครับ เช่น บรรดาธนาคารชั้นนำหลายๆ แห่งของไทย หรือสถาบันการศึกษาอย่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็มีหน้า หรือ page ของตนเองอยู่บน Facebook จากกระแสความตื่นตัวในเรื่องของการนำสังคมหรือชุมชนออนไลน์มาใช้ในองค์กรธุรกิจ ทำให้องค์กรหลายๆ แห่งเริ่มที่จะมีความคิดที่จะสร้างเครือข่ายของตนเองขึ้นมา แต่ข้อเสนอแนะของผมนั้นคืออย่าไปลงทุนให้เสียเวลาและทรัพยากรเลยครับ พยายามใช้สังคมหรือชุมชนออนไลน์ที่มีอยู่แล้วไม่ว่าจะเป็น Facebook, Hi5, หรือ LinkedIn จะดีกว่า

            นอกจากนี้อีกกระแสที่มาแรงในปัจจุบันอีกกระแสคือ Twitter ครับ ซึ่งอาจจะเป็นชื่อที่แปลกใหม่สำหรับหลายๆ ท่าน แต่ปัจจุบันกระแสของ Twitter กำลังมาแรงทั้งในเชิงการใช้ส่วนตัว และการใช้ ประโยชน์ขององค์กรธุรกิจ Twitter นั้นเป็นเหมือนการส่ง SMS สั้นๆ ให้กับเพื่อนหรือผู้ที่ติดตามเรา โดยมีขนาดความยาวไม่เกิน 140 ตัวอักษร Twitter เปรียบเสมือนการส่งข่าวสั้นๆ ของตนเองให้กับเพื่อนๆ หรือผู้ที่ติดตามเราได้อย่างรวดเร็ว และสิ่งที่เราส่งไปนั้นก็จะปรากฎบนเว็บ หรือ บนโทรศัพท์มือถือรุ่น ใหม่ๆ ที่ได้ลงโปรแกรมอ่าน Twitter ไว้

            เช่นเดียวกับ Facebook ที่ในปัจจุบัน Twitter ไม่ได้เป็นเพียงแค่เครื่องมือสื่อสารระหว่างคนต่อคน เท่านั้น แต่ปัจจุบันองค์กรธุรกิจชั้นนำหลายแห่งเริ่มนำ Twitter มาใช้เป็นเครื่องมือในการสื่อสารข้อความที่ สั้นและรวดเร็ว เนื่องจากใน Twitter นั้น เขาขอให้ตอบคำถามที่สำคัญเพียงแค่คำถามเดียวคือ What are you doing? ดังนั้นด้วยคำตอบสั้นๆ ไม่เกิน 140 ตัวอักษร องค์กรธุรกิจก็สามารถใช้ Twitter ในการส่งข่าวถึง ลูกค้าได้ไม่ว่าจะเป็นข่าวเกี่ยวกับสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ใหม่ บริการใหม่ๆ อย่างเช่น Richard Branson ผู้บริหารสูงสุดของ Virgin Group ที่ใช้ Twitter ในการส่งข้อความหรือข่าวสารไปยังทั้งลูกค้า เพื่อนร่วมงาน และผู้ใต้บังคับบัญชา

            จะสังเกตได้นะครับว่าการที่องค์กรธุรกิจและซีอีโอหลายๆ ท่านที่ใช้ Twitter นั้นส่วนใหญ่ จะมอง ว่า Twitter เป็นเครื่องมือในการกระจายข่าว มากกว่าการเป็นชุมชนออนไลน์ นอกจากนี้บรรดาองค์กรที่เกี่ยวข้องกับการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น Wall Street Journal หรือ BusinessWeek หรือ Financial Times หรือแม้กระทั่งนสพ.กรุงเทพธุรกิจ ก็ใช้ Twitter กันอย่างทั่วถึงนะครับ โดยเป็นลักษณะ ของการส่งข่าวล่าสุดหรือข้อความสั้นๆ ไปยังผู้ที่ติดตาม พร้อมทั้งมีลิงก์เชื่อมต่อไปยังหน้าเว็บเพื่อที่จะได้อ่านข่าวละเอียดได้ ก็ถือว่าเป็นอีกกลไกหนึ่งของสื่อสารมวลชนนะครับ

            ท่านผู้อ่านที่สนใจลองเล่นดูนะครับ อย่างน้อยเพื่อให้รู้ว่าคืออะไรและเผื่อจะใช้เป็นประโยชน์ได้บ้าง ผมเองก็เล่นอยู่ครับทั้ง Facebook และ Twitter ก็ลองหาดูนะครับ เผื่อเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการสื่อสารถึงกัน