28 June 2009

ท่านผู้อ่านสังเกตไหมครับไม่ว่าจะเป็นองค์กรธุรกิจ พรรคการเมือง รัฐบาล หรือ แม้กระทั่งคนๆ หนึ่ง เมื่อเริ่มพบว่าตนเองกำลังยืนอยู่ที่ปากเหว ใกล้ความล้มเหลวหรือความหายนะ ส่วนใหญ่แล้วก็มักจะพยายามดิ้นรนหรือหาหนทางเพื่อให้ตนเองรอดพ้นจากปากเหวที่ยืนอยู่ และส่วนใหญ่แล้วก็พยายามหาทางออกที่เร็วและสั้นที่สุด โดยทุกคนต่างก็คิดว่าทางออกที่เร็วและสั้นเหล่านั้น จะเป็นทางออกที่ดีที่สุดที่จะทำให้พ้นจากปากเหวไปได้ แต่จริงๆ แล้วทางออกที่เร็วและสั้นนั้นอาจจะกลายเป็นสิ่งที่ผลักให้ตกหน้าผาเร็วขึ้นก็เป็นไปครับ

            สองสัปดาห์ที่ผ่านมาผมได้นำเสนอถึงเรื่องความล้มเหลวขององค์กร โดยมีทั้งหมดห้าขั้นตอน วันนี้เรามาดูในขั้นตอนที่สี่กันนะครับ นั้นคือ “ดิ้นรนทุกหนทางเพื่อให้พ้นปากเหว” โดยเมื่อองค์กรผ่านสามขั้นแรกของความล้มเหลวมาแล้ว พอถึงขั้นที่สี่ก็จะเริ่มพบทางหายนะหรือปากเหวรออยู่ข้างหน้าแล้วครับ ซึ่งองค์กรส่วนใหญ่พอเห็นปากเหว แทนที่จะมีสติ ใจเย็น และมุ่งมั่นในสิ่งที่ควรจะเป็นควรจะทำ กลับพยายามคว้าสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวที่สุด โดยไม่รู้ว่าสิ่งที่ใกล้ตัวนั้น อาจจะเป็นตัวที่เร่งให้เราตกเหวได้เร็วขึ้นก็เป็นได้

            ท่านผู้อ่านลองสังเกตดูนะครับ องค์กรที่รู้ตัวว่ายืนอยู่ใกล้ปากเหวนั้น มักจะพยายามหาหนทางที่เร็วและสั้นที่สุด เพื่อให้ตนเองพ้นปากเหว ไม่ว่าจะเป็นความพยายามในการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ โดยหวังว่าเทคโนโลยีดังกล่าวจะพลิกสถานการณ์ของตนเองให้ดีขึ้น หรือ ความพยายามในการนำเสนอและใช้กลยุทธ์ใหม่ๆ ที่อาจจะยังไม่มีการพิสูจน์มาก่อน หรือ พยายามเข้าไปซื้อกิจการองค์กรอื่น โดยหวังว่ากิจการที่ตนเองเข้าไปซื้อนั้น จะช่วยให้พ้นจากปากเหวได้ หรือ การพยายามปรับภาพลักษณ์เสียใหม่ หรือ การจ้างที่ปรึกษาแพงๆ ที่สัญญาว่าจะมีทางออกให้ หรือ การพยายามหาแหล่งเงินทุนใหม่ๆ เพื่อมาต่อยอดกิจการตนเอง หรือ ที่นิยมกันมากที่สุดก็คือการพยายามหาผู้บริหารสูงสุดคนใหม่ และตั้งความหวังไว้ว่าผู้บริหารสูงสุดคนใหม่นี้จะเป็นอัศวินขี่ม้าขาวที่จะมาช่วยให้องค์กรรอดพ้นจากปากเหวที่ยืนอยู่ได้

            ความพยายามเหล่านี้อาจจะทำให้ผลการดำเนินงานขององค์กรดีขึ้นได้บ้างนะครับ แต่จะเป็นการดีขึ้นในช่วงสั้นๆ ที่ไม่ยั่งยืน และพอทางออกที่สั้นและเร็วเริ่มไม่ได้ผล ก็จะพยายามหาทางออกใหม่ๆ ที่สั้นและเร็วใหม่ๆ มาใช้อยู่ตลอดเวลา อาการที่เราอาจจะพบเห็นได้ง่ายในองค์กรเหล่านี้คือการเปลี่ยนแปลงที่บ่อยจนเกินความจำเป็น เช่น เปลี่ยนผู้บริหารเป็นว่าเล่น (เหมือนกับบางประเทศที่ปีหนึ่งมีผู้บริหารสูงสุดตั้ง 3-4 คนเลยครับ) หรือ การนำเครื่องมือทางการจัดการใหม่ๆ มาใช้อยู่ตลอดเวลา การเปลี่ยนแปลงถือเป็นสิ่งที่ ดีนะครับ เพียงแต่ในองค์กรเหล่านี้การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นไม่สม่ำเสมอและไม่ต่อเนื่อง อีกทั้งเป็นการ เปลี่ยนเพื่อดิ้นรนให้อยู่รอดในระยะสั้น มากกว่าเปลี่ยนแปลงที่นำไปสู่ความยั่งยืนในระยะยาว (เหมือน รัฐบาลบางสมัยที่เปลี่ยมรัฐมนตรีเป็นว่าเล่นเพื่อแก้ไขปัญหาระยะสั้นครับ)

            สังเกตตามองค์กรต่างๆ ที่เข้าสู่ช่วงนี้ดูซิครับ เราจะพบคำว่า “ใหม่” อยู่ตลอดเวลาไม่ว่าจะเป็นผู้นำใหม่ กลยุทธ์ใหม่ วัฒนธรรมและค่านิยมใหม่ สินค้าใหม่ พฤติกรรมใหม่ ฯลฯ คำพูดต่างๆ เหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่ผู้บริหารพยายามสร้างให้เกิดแรงจูงใจ หรือ กระตุ้นพนักงานให้พร้อมที่จะสู้เพื่อนำพาองค์กรให้พ้นปากเหว และสิ่งที่น่ากลัวคือทั้งๆ ที่ยืนอยู่บนปากเหว แต่การตั้งความคาดหวังสำหรับผลงานขององค์กรนั้นกลับไม่ต่ำไปด้วย ผู้บริหารจำนวนมากที่พยายามวาดฝันในอนาคตไว้อย่างสวยหรู เพื่อจูงใจพนักงานอีกเช่นกัน และที่น่าสนใจคือเป็นความหวังในอนาคตที่สวยหรูทั้งๆ ที่ผลประกอบการในปัจจุบันกลับไม่ค่อยดีเท่าไร

            จริงๆ แล้วสาเหตุที่องค์กรพยายามหาทางออกที่สั้นและเร็วนั้นก็ค่อนข้างชัดเจนครับ เนื่องจากเมื่อพบว่าองค์กรเริ่มยืนอยู่ที่ปากเหวแล้ว ความตื่นตกใจก็จะต้องเพิ่มมากขึ้นกว่าปกติเป็นธรรมดา และความตื่นตกใจนั้นก็มักจะนำไปสู่พฤติกรรมบางอย่างที่เราอาจจะไม่ทำในภาวะปกติก็ได้ ดังนั้นความมุ่งมั่น การตัดสินใจที่เคยเป็นไปอย่างรอบคอบก็จะไม่มี เนื่องจากความกลัวต่อการหล่นลงไปในเหวที่เริ่มมองเห็นอยู่รำไรๆ

            เมื่อผ่านพ้นขั้นที่สี่ไปแล้วก็ถึงขั้นที่ห้าคือการตกเหวนั้นแหละครับ โดยในขั้นสุดท้ายของความล้มเหลวขององค์กรนั้น ก็มีความชัดเจนครับ เหมือนกับคนที่ตกจากหน้าผาสูง ที่จะตกลงไปเรื่อยๆ และยิ่งตกลงไปมากขึ้นความหวังก็จะยิ่งลดน้อยลงไปทุกที อย่างไรก็ดีใช่ว่าองค์กรจะไม่สามารถโงหัวขึ้นจากความล้มเหลวนะครับ เหมือนนิยายกำลังภายในนั้นแหละครับที่พอพระเอกถูกผลักตกหน้าผาสูง ตอนแรกก็เริ่มหมดหวังและท้อแท้กับชีวิต แต่สุดท้ายกลับตกลงบนต้นไม้ที่ยื่นออกจากหน้าผา ที่บริเวณดังกล่าวมีปากถ้ำที่มีใบเล้งจืออยู่

            องค์กรก็สามารถพลิกสถานการณ์ของตนเองขึ้นมาได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าอยู่ในขั้นที่ 1,2,3 ก็จะยิ่งง่ายใหญ่ หรือ แม้กระทั่งบางองค์กรที่อยู่ในขั้นที่ 4 ก็พลิกฟื้นกลับมารุ่งเรืองได้อีกครั้งเช่นเดียวกัน ตราบใดที่มีทรัพยากรที่เพียงพอ และไม่หลอกตัวเอง ท่านผู้อ่านที่สนใจอ่านเรื่องความล้มเหลวขององค์กรก็ลองหาอ่านเพิ่มเติมได้จากหนังสือ How The Mighty Fall เขียนโดย Jim Collins ได้นะครับ