13 April 2009

หลักธรรมคำสั่งสอนตามหลักพระพุทธศาสนานั้นเป็นสิ่งที่ทันสมัย เป็นวิทยาศาสตร์ และสามารถนำมาปรับใช้ได้กับการดำรงชีวิต และการทำงานในปัจจุบัน โดยเมื่อสัปดาห์ที่แล้วผมนำเรื่องการนำหลักมงคลชีวิต 38 ประการ มาปรับใช้กับการดำรงชีวิตของพวกเราในปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์ ของความไม่แน่นอนในด้านต่างๆ ในปัจจุบัน สัปดาห์นี้เรามาดูกันเรื่องของภาวะผู้นำบ้างครับ โดยหลายๆ ท่านอาจจะสงสัยว่าหลักธรรมคำสั่งสอนขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้นจะเกี่ยวข้องอย่างไรกับผู้นำ ผมจึงขอนำเนื้อหาบางส่วนจากหนังสือ “ภาวะผู้นำ ความสำคัญต่อการพัฒนาคน พัฒนาประเทศ” โดยพระธรรมปิฎก มานำเสนอ พร้อมทั้งวิเคราะห์เปรียบเทียบกับแนวคิดและหลักการของภาวะผู้นำในปัจจุบันนะครับ เผื่อท่านผู้อ่านที่สนใจจะได้ไปศึกษาต่อได้ และแทนที่เราจะต้องไปเรียนรู้เรื่องของภาวะผู้นำจากตำราตะวันตก เราจะได้หันกลับมาศึกษาจากหลักธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้ากันมากขึ้น

            หลักผู้นำจากพระพุทธศาสนาประการแรกคือบทบาทของผู้นำกับการสื่อสารครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์ปัจจุบันไม่ว่าจะจากปัญหาทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ ต่างๆ ทำให้ผู้นำขององค์กรต่างๆ ต้องให้ความสำคัญกับการสื่อสารทั้งภายในและภายนอกองค์กร โดยภายใต้หลักกัลยาณมิตรธรรมหรือธรรมของกัลยาณมิตร 7 ประการนั้นมีอยู่ข้อหนึ่งคือวัตตา หรือ เป็นผู้รักจักพูด โดยการที่จะเป็นนักพูดที่ดีนั้นต้องพูดให้ผู้อื่นสามารถเข้าใจได้ พูดให้ผู้อื่นได้ประโยชน์ หรือ พูดให้ผู้อื่นช่วยกันสร้างสรรค์ประโยชน์ ไม่ใช่การพูดเพื่อหาประโยชน์ให้แก่ตนเอง โดยพระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงลักษณะของนักสื่อสารหรือนักพูดที่ดีไว้ 4 ประการด้วยกันได้แก่ พูดแจ่มแจ้ง (อธิบายให้เข้าใจได้ชัดเจน) พูดจูงใจ (พูดจนคนยอมรับและอยากจะลง มือทำ) พูดเร้าใจ (พูดให้เกิดความคึกคัก กระตือรือร้น) และ พูดให้ร่าเริง (พูดให้เกิดความร่าเริง มีความหวัง ในผลดีและทางที่จะสำเร็จ)

            การเป็นผู้รู้จักพูดตามหลักการข้างต้นนั้น ผมมองว่าสามารถนำมาปรับใช้กับการพูดเนื่องในโอกาสต่างๆ ไม่จำเป็นแต่ต้องเป็นการพูดของผู้นำเท่านั้น แม้กระทั่งครูบาอาจารย์ที่สอนหนังสือเอง ก็ต้องรู้จักพูดให้แจ่มแจ้ง จูงใจ เร้าใจ และร่าเริง เพื่อให้ผู้เรียนได้มีความเข้าใจ กระตือรือร้น และสนใจที่จะเรียนหนังสือ สำหรับตัวผู้นำนั้น นอกเหนือจากการรู้จักที่จะพูดแล้วยังต้องรู้จักที่จะฟังด้วย โดยท่านใช้คำว่า วจนักขโม แปลว่าควรทนหรือฟังต่อถ้อยคำของคนอื่นด้วย ไม่ใช่ว่าเอาแต่พูดแก่เขาอย่างเดียวโดยไม่ยอมรับฟังใคร ซึ่งการเป็นผู้ฟังที่ดีนั้น ถือเป็นสิ่งที่ยากและท้าทายสำหรับผู้นำหลายๆ ท่าน เนื่องจากผู้นำจำนวนมากมักจะชอบพูดมากกว่าฟัง โดยเฉพาะการรับฟังจากผู้ที่ต่ำกว่าหรือเป็นลูกน้อง นอกจากนี้ยังมีหลักธรรมว่าไว้ว่า คัมภีรัญจะ กะถัง กัตตา แปลว่ารู้จักแถลงเรื่องราวต่างๆ ที่ลึกซึ้ง โดยประเด็นหรือเรื่องราวต่างๆ ที่สำคัญ ก็ต้องสามารถอธิบาย ทำให้ผู้ที่ร่วมงานมีความเข้าใจ

            หลักธรรมที่สำคัญอีกประการหนึ่งที่มักจะถูกนำมาโยงกับเรื่องของการทำงานร่วมกับผู้อื่น หรือ ภาวะผู้นำนั้นคือหลักพรหมวิหาร  4 ประการ ซึ่งถือเป็นคุณธรรมพื้นฐานที่จะต้องมีอยู่ประจำในจิตใจ เพื่อนำไปสู่การแสดงออกที่ดีและเหมาะสม และสำหรับตัวผู้นำแล้ว ถ้าสามารถแสดงออกได้อย่างดีและ เหมาะสมแล้ว ก็จะนำไปสู่ศรัทธาจากบุคคลต่างๆ ในองค์กร และทำให้สามารถนำพาทุกคนไปในทิศทางเดียวกันได้

            พรหมวิหาร 4 นั้นประกอบด้วย เมตตา โดยมีความเป็นมิตรไมตรีต่อผู้อื่น มีน้ำใจ ปราถนาดีต่อผู้อื่น กรุณา คือความต้องการช่วยเหลือให้ผู้อื่นพ้นจากความทุกข์ ความเดือดร้อน โดยเมื่อผู้อื่นมีทุกข์นั้นผู้นำจะ ต้องมีกรุณา ช่วยบำบัดทุกข์ให้ มุทิตา ก็คือเมื่อพนักงาน เพื่อนร่วมงานมีความสุข ความสำเร็จมากขึ้น ผู้นำก็จะต้องพลอยยินดี ช่วยส่งเสริมสนับสนุน และสุดท้ายคืออุเบกขา ก็คือการรักษาความเป็นกลาง ไม่ลำเอียง ไม่เข้าข้างใดข้างหนึ่ง

            หลักพรหมวิหารสี่นั้นเป็นสิ่งที่ผู้นำควรจะยึดเป็นหลักธรรมในการบริหารงานเป็นประจำวันทั่วไปเลยครับ โดยเฉพาะกับผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนร่วมงาน ลูกน้อง หรือ ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต่างๆ กับองค์กร โดยเมื่อบุคคลอื่นมีปัญหา มีทุกข์ เดือดร้อน ผู้นำก็ต้องมีความกรุณาที่จะแก้ไขปัญหา ในขณะเดียวกันเมื่อบุคคลอื่นประสบความสำเร็จ มีความสุข ก็ต้องมีมุทิตา ที่จะช่วยส่งเสริมสนับสนุน และยินดีในความสำเร็จของผู้อื่น ในช่วงสถานการณ์ปกตินั้นก็ต้องคอยดูแล เอาใจใส่ให้บุคคลต่างๆ ในองค์กรมีความสุขในการทำงาน และสุดท้ายในการบริหารงานทุกอย่างผู้นำจะต้องมีและสามารถรักษาความเป็นกลาง ไม่ลำเอียง เข้าข้างใดข้างหนึ่ง ซึ่งหลักของอุเบกขานั้นจะคุมเมตตา กรุณา มุทิตาไว้อีกด้วย โดยการปฏิบัติหรือช่วยเหลือผู้อื่นนั้นก็จะต้องมีความเป็นกลาง ไม่ลำเอียง

            ปัจจุบันเรารับอิทธิพลในแนวคิดทางด้านการบริหารจากโลกตะวันตกมามากขึ้น ทำให้เรามักจะละเลยการนำหลักธรรมตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้ามาปรับใช้กับการนำองค์กรของเรา แต่จริงๆ แล้วผมเชื่อว่าการนำหลักธรรม คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้ามาปรับใช้กับการบริหารองค์กรนั้นน่าจะเหมาะกับบริบทของประเทศไทยมากกว่าการนำหลักของตะวันตกมาใช้แต่เพียงอย่างเดียวนะครับ