
14 June 2009
ท่านผู้อ่านเคยสังเกตไหมครับว่าทำไมองค์กร หน่วยงาน หรือ บุคคลที่เคยประสบความสำเร็จมาก่อน ถึงอยู่ดีๆ ได้ล้มเหลว ในขณะเดียวกันพวกที่ล้มเหลวนั้น ทำไมบางกลุ่มถึงยังสามารถพลิกฟื้นตัวเองขึ้นมาได้ แต่บางกลุ่มเมื่อล้มแล้วก็จะล้มไปเลย ก็เลยเกิดข้อสงสัยขึ้นนะครับว่ารูปแบบในการที่องค์กรที่ประสบความสำเร็จมาก่อนนั้น จะล้มเหลวหรือพังลงได้นั้นเกิดขึ้นจากอะไรหรือมีรูปแบบอะไร
ช่วงที่ผ่านมา มีหนังสือชื่อ How The Mighty Fall เขียนโดย Jim Collins ซึ่งท่านที่ติดตาม หนังสือทางด้านการบริหารธุรกิจก็คงทราบดีว่าเป็นผู้เขียนหนังสือขายดีสองเล่มคือ Built to Last และ Good to Great โดยในหนังสือเล่มนี้ Colliins ได้พยายามศึกษาและนำเสนอรูปแบบที่ชัดเจนและเป็นระบบว่าเพราะเหตุใดองค์กรธุรกิจถึงประสบความล้มเหลว โดยได้ศึกษาจากกรณีตัวอย่างขององค์กรชั้นนำต่างๆ ในอเมริกาที่เคยประสบความสำเร็จมาก่อนแล้วล้มเหลว
จากผลการศึกษาดังกล่าวพบว่าองค์กรที่ล้มเหลวส่วนใหญ่ (ย้ำว่าส่วนใหญ่นะครับ ไม่ได้หมายความทั้งหมด) มักจะผ่านขั้นตอนต่างๆ ทั้งหมดห้าขั้นด้วยกัน โดยในสองขั้นแรกเป็นเสมือนสาเหตุหลักว่าทำไมองค์กรถึงล้มเหลว และสามขั้นหลังเป็นปฏิกริยาของผู้บริหารเมื่อเผชิญกับปัญหาหรือความล้มเหลวที่จะเกิดขึ้น ผมมองว่าขั้นทั้งห้าขั้นที่เสนอมานั้น อาจจะไม่สามารถอธิบายสาเหตุที่องค์กรล้มเหลวได้ทั้งหมด แต่เมื่อนำมาเปรียบเทียบกับความล้มเหลวของอย่างอื่นที่ไม่ใช่องค์กรธุรกิจแล้ว ก็เป็นสิ่งที่น่าสนใจและน่าเรียนรู้ครับ ท่านผู้อ่านลองนำทั้งห้าขั้นตอน (ซึ่งจะนำเสนอต่อไปนะครับ) มาลองเปรียบเทียบกับความล้มเหลวของประเทศชาติ (ชาติไหนก็ได้ครับในประวัติศาสตร์) ของรัฐบาล ของพรรคการเมืองหรือนักการเมือง ของหน่วยงานต่างๆ (ที่ไม่ใช่องค์กรธุรกิจ) และที่สำคัญของบุคคลต่างๆ
ขั้นที่หนึ่งนั้นถ้าเรียกเป็นสำนวนกำลังภายในก็เป็น “ความสำเร็จนำไปสู่ความผยอง” โดยในขั้นนี้องค์กรธุรกิจประสบความสำเร็จในด้านต่างๆ และจากความสำเร็จนั้นเองก็นำมาสู่ความมั่นใจ และความผยองต่อมา ในขั้นนี้เรายังไม่เริ่มเห็นความล้มเหลวหรอกครับ แต่เป็นขั้นที่เปรียบเสมือนกับเป็นจุดกำเนิดที่จะนำพาองค์กรสู่ความล้มเหลวในอนาคต เนื่องจากพอองค์กรประสบความสำเร็จในด้านต่างๆ แล้วผู้บริหารก็จะมีความรู้สึกมั่นใจในขีดความสามารถและศักยภาพของตนเอง และจากความมั่นใจดังกล่าวก็จะถูกแปรเปลี่ยนเป็นความผยองในที่สุด
เนื่องจากความสำเร็จที่เกิดขึ้น ทำให้ผู้บริหารมีความเชื่อมั่นว่าไม่ว่าองค์กรจะทำอะไร ก็จะประสบความสำเร็จต่อไปเรื่อยๆ โดยลืมหันกลับมาคิดทบทวนว่าสิ่งที่ทำให้ตนเองประสบความสำเร็จนั้นคืออะไร ผู้บริหารจะมีความคิดว่าไม่ว่าจะทำอะไรก็จะยังคงสำเร็จอยู่ นอกจากนี้ผู้บริหารเหล่านี้ยังเป็นพวกคิดว่าตนเองรู้ไปหมดทุกอย่าง หรือ อีกนัยหนึ่งคืออวดฉลาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่คิดว่าตัวเองรู้ว่าปัจจัยหรือสิ่งที่ทำให้ประสบความสำเร็จคืออะไร และเมื่อคิดว่าตนเองรู้แล้ว ผู้บริหารขององค์กรเหล่านี้ก็จะเลิกถามคำถาม เลิกที่จะเรียนรู้ ขาดการพัฒนาตนเองให้เป็นองค์การแห่งการเรียนรู้
ขั้นที่สองนั้นถ้าเป็นสำนวนกำลังภายในก็เปรียบได้ดัง “ความโลภไม่มีที่สิ้นสุด” โดยหลังจากผ่านขั้นที่ 1 ที่องค์กรประสบความสำเร็จและมีความผยองกับความสำเร็จของตนเองนั้น องค์กรก็ไม่ได้อยู่นิ่งเฉย และจมอยู่กับความสำเร็จของวันวานนะครับ องค์กรเหล่านี้ยังคงมุ่งเน้นในเรื่องของนวัตกรรม ยังพยายาม ขวนขวายและกระเสือกกระสนที่จะเติบโตต่อไป ซึ่งตรงนี้แหละครับที่เป็นปัญหา เนื่องจากความสำเร็จในอดีตทำให้เกิดแรงกดดันที่องค์กรจะต้องเติบโตต่อไปเรื่อยๆ และการเติบโตต่อไปเรื่อยๆ ไม่สิ้นสุดนั้น เมื่อถึงจุดๆ หนึ่งอาจจะเกินขีดความสามารถที่บุคลากรและระบบต่างๆ ภายในองค์กรจะรับไหว
นอกจากนี้ความสำเร็จในอดีตก็อาจจะทำให้ผู้บริหารมีอาการตาพร่ามัวในการเติบโต นั้นคือเนื่องจากความสำเร็จในอดีตเป็นเครื่องที่ (ตัวเอง) คิดว่าเป็นสิ่งยืนยันความเก่งกาจของตนเอง ทำให้คิดว่าสามารถนำพาองค์กรเติบโตไปในทุกทิศทุกทางที่ต้องการได้ และเมื่อองค์กรเน้นการเติบโตมากๆ แล้ว ปัญหาที่ตามมาก็คือการขาดบุคลากรที่มีคุณภาพและเหมาะสมในตำแหน่งหรือสายงานต่างๆ เนื่องจากองค์กรโตเร็วกว่าบุคลากร ซึ่งก็เป็นปัญหาคลาสสิกที่พบในหลายๆ องค์กรที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว
ในขั้นที่สองนี้ความล้มเหลวยังไม่ปรากฎให้เห็นอย่างชัดเจนเท่าไรครับ องค์กรยังคงร่าเริงอยู่กับความสำเร็จที่เกิดขึ้นในอดีต รวมทั้งการเติบโตอย่างไม่หยุดยั้งในปัจจุบัน เอาไว้พอเข้าขั้นที่สาม ซึ่งจะนำเสนอในสัปดาห์หน้า แล้วถึงจะเริ่มเห็นเค้ารางของความล้มเหลวครับ
ถ้าท่านผู้อ่านอยากจะเรียนรู้กรณีศึกษาความสำเร็จและล้มเหลวขององค์กรธุรกิจไทย จะขอแนะนำหลักสูตร EDP (Executive Development Program) ของสมาคมบริษัทจดทะเบียนไทยครับ เป็นหลักสูตรที่ผมเองก็ได้มีโอกาสเข้าเรียนและมีประโยชน์มาก โดยวิทยากรจะเป็นผู้บริหารระดับสูงจากองค์กรธุรกิจต่างๆ และท่านเหล่านั้นจะมาเหล่ากรณีศึกษาในเรื่องความสำเร็จหรือความล้มเหลวขององค์กรตนเองให้ฟัง อีกทั้งเพื่อนร่วมรุ่นก็เป็นผู้บริหารในองค์กรต่างๆ ของภาคเอกชนและภาครัฐ ทำให้ได้รับมุมมองและกรณีศึกษาที่หลากหลายเลยครับ ตอนนี้เขา กำลังรับสมัครในรุ่นที่ 4 อยู่ครับ สนใจก็เข้าไปดูในเว็บเขาได้นะครับที่ www.thailca.com ครับ