
24 May 2009
หนังสือเล่มหนึ่งที่เพิ่งอ่านจบไปเมื่อไม่นานชื่อ Management Rewired เขียนโดย Charles S. Jacobs ซึ่งเป็นที่ปรึกษาทางด้านการจัดการ แต่ไปรวบรวมการศึกษาต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของสมองมนุษย์ ซึ่งปัจจุบันการศึกษาปรากฎการณ์ต่างๆ เกี่ยวกับสมองคนเราได้พัฒนาไปมากเนื่องจากพัฒนาการของเครื่องมือทางการแพทย์และวิทยาศาสตร์ต่างๆ และได้นำผลการศึกษาต่างๆ เหล่านั้นมาผูกหรือเชื่อมโยงกับ หลักการและแนวคิดการบริหารต่างๆ ในปัจจุบัน โดยสิ่งที่ Jacobs ระบุไว้ในหนังสือของเขานั้น เขามองว่า หลักการและแนวทางการบริหารในปัจจุบันมีความขัดแย้งกับการค้นพบในการทำงานของสมองเรา
เริ่มจากพัฒนาการของศาสตร์ทางด้าน Neuroscience (เห็นเขาแปลว่าประสาทวิทยาศาสตร์) อาจจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในวิธีคิดเกี่ยวกับการจัดการและบริหารองค์กร โดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นฐานต่างๆ ของการจัดการ ซึ่งข้อค้นพบจากการศึกษาทางด้านประสาทวิทยาศาสตร์นั้นอาจจะขัดกับหลักการบริหารที่เรารู้หรือคุ้นเคยกันดี (ซึ่งมาจากโลกตะวันตก) แต่ทางผู้เขียนเขามองว่าเป็นแนวทางหรือหนทางที่จะบริหารองค์กรให้ประสบความสำเร็จ เราลองมาดูกันนะครับว่ามีประเด็นไหนบ้าง
อย่างแรกเลยคือผู้บริหารไม่ควรจะบังคับหรือขืนใจให้ลูกน้องทำในสิ่งหนึ่งสิ่งใด ผู้บริหารควรจะหาหนทางหรือวิธีการที่จะทำให้พนักงานทำด้วยความเต็มใจ โดยผ่านการกระตุ้น สนับสนุนและการขอให้ทำ ซึ่งอาจจะแตกต่างจากหลักการบริหารของทางตะวันตกในปัจจุบัน ที่มุ่งเน้นในการให้รางวัลหรือลงโทษ เพื่อให้สอดคล้องกับการทำงานของสมองเราแล้ว ผู้บริหารควรจะทำหน้าที่ทำงานให้กับลูกน้องแทนครับ นั้นคือ ผู้บริหารไม่ใช่ผู้ที่ชี้นิ้วหรือคอยสั่งให้ลูกน้องทำอะไร แต่ควรจะเป็นผู้ทำหน้าที่คอยส่งเสริมและสนับสนุนลูกน้อง ในลักษณะของผู้รับใช้ลูกน้องมากกว่า (มีแนวคิดทางด้านภาวะผู้นำที่เรียกว่า Servant Leadership ที่สนับสนุนแนวคิดดังกล่าวครับ)
จากการศึกษาเรื่องของสมองเราทำให้พบว่ามนุษย์เราจะเข้ามารวมกลุ่มและให้การสนับสนุนซึ่งกันและกัน หรือ สนับสนุนในหลักการอะไรก็ตาม เนื่องจากความเชื่อและความศรัทธาที่บุคคลเหล่านั้นมีครับ โดยการมารวมกลุ่มกันในลักษณะดังกล่าวยากที่จะสำเร็จและยั่งยืนได้ถ้าบุคคลที่มารวมกลุ่มกันนั้นขาดความเชื่อและความศรัทธาร่วมกัน ซึ่งเราก็พอจะเห็นตัวอย่างได้จากม็อบหลายๆ ม็อบในช่วงที่ผ่านมา ที่เกิดขึ้นจากเหตุผลอื่นที่ไม่ใช่ความเชื่อและความศรัทธาร่วมแล้วไม่ประสบความสำเร็จนะครับ
นอกจากนี้ในการทำงานเป็นกลุ่มนั้นเรามักจะพบว่าลูกน้องแต่ละคนจะมีพฤติกรรมที่แตกต่างกัน ผู้บริหารจำนวนมากก็จะพยายามที่จะปรับพฤติกรรมของลูกน้องในกลุ่มให้มีลักษณะที่คล้ายๆ หรือเหมือนๆ กันหมด แต่จริงๆ แล้วไม่ควรจะเป็นอย่างนั้นนะครับ เนื่องจากคนแต่ละคนจะมีลักษณะที่แตกต่างกัน ดังนั้นผู้บริหารควรจะยอมรับในพฤติกรรมที่แตกต่างกันของลูกน้องแต่ละคน และพยายามใช้ประโยชน์จากพฤติกรรมของลูกน้องแต่ละคนให้ได้มากที่สุด
พบกันมานานแล้วครับว่าสมองของคนเราจะตอบสนองต่อประโยคคำถามได้ดีที่สุด ดังนั้นการใช้คำถามให้เป็นประโยชน์จึงเป็นเครื่องมือที่สำคัญครับ ปราชญ์โบราณอย่าง Socrates ยังเคยบอกไว้เลยนะ ครับว่า It’s Better to Ask Than Tell ดังนั้นแทนที่จะบอกหรือสั่งให้คนทำอะไร เราลองปรับประโยคให้เป็นรูปของประโยคคำถามเพื่อให้ได้ผลที่เราต้องการซิครับ ท่านผู้อ่านลองนึกภาพเวลาต้องเถียงกับใครซิครับ ถ้าเราต่อปากต่อคำกัน ก็จะกลายสภาพจากการพูดคุยธรรมดา เป็นการคอยแข่งกันที่จะเถียงเอาชนะฝ่ายตรงข้าม ซึ่งสุดท้ายแล้วย่อมไม่มีฝ่ายไหนชนะหรอกครับ เนื่องจากทุกฝ่ายก็สามารถหาเหตุผลของตนเองเอามาอ้างชัยชนะได้ทุกครั้ง ซึ่งสุดท้ายก็จะเป็นการปะทะในเชิงอารมณ์กัน
แต่ถ้าฝ่ายหนึ่งเปลี่ยนวิธีคิดใหม่และแทนที่จะคอยเถียงหรือโต้กลับ ลองหยุดแล้วคอยฟังความเห็นจากอีกฝ่าย จากนั้นใช้คำถามให้เป็นประโยค เพื่อให้เราได้เรียนรู้ในมุมมองหรือความคิดของอีกฝ่าย ซึ่งการเปลี่ยนจากประโยคโต้เถียงเป็นประโยคคำถาม จะทำให้อารมณ์ของอีกฝ่ายสงบหรือเยือกเย็นลง พร้อมกันนั้นก็จะมีความอยากหรือกระตือรือร้นที่จะอธิบายมุมมองของตนเองให้อีกฝ่ายเข้าใจ และในขณะเดียวกันก็อาจจะเริ่มเป็นฝ่ายถามบ้าง เพื่อรับฟังในมุมมองหรือความเห็นของอีกฝ่าย นอกจากนี้คำถามที่ดียังทำให้ผู้ฟังไม่รู้สึกเหมือนกับถูกบังคับหรือสั่งให้ทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ซึ่งก็จะนำไปสู่การลดการต่อต้านอีกด้วย
ประเด็นสุดท้ายคือร่างกายเราจะหลั่งสารสื่อนำประสาทชนิดหนึ่ง เมื่อเราทำงานหรือเข้าไปเกี่ยวข้องในงานที่นำไปสู่ความสำเร็จ ไม่ใช่เมื่อเราทำงานสำเร็จ ดังนั้นถ้าเรามัวแต่กังวลหรือให้ความสนใจต่อความสำเร็จหรือผลลัพธ์ของงานที่จะเกิดขึ้น เราก็อาจจะไม่มีความสุขกับกระบวนการทำงานที่นำไปสู่ความสำเร็จ นักจิตวิทยาเขาระบุไว้ว่าเมื่อคนเราสามารถมุ่งมั่นกับงานที่ทำอยู่ คนเราจะมีความสุข มีความรู้สึกที่เต็มอิ่ม รวมทั้งจะทำให้เราสามารถทำงานได้อย่างเต็มความสามารถ ดังนั้นเราจะเห็นได้นะครับว่าหลายๆ คนจะมีความสุขหรือกิจกรรมที่ทำเป็นอย่างมาก และหลายครั้งจะมากยิ่งกว่าความสำเร็จที่เกิดขึ้นเมื่องานเสร็จเสียอีก
เป็นอย่างไรบ้างครับหลักการทางการจัดการบางอย่างที่มาจากผลการศึกษาทางด้านประสาทวิทยาศาสตร์ (Neuroscience) ผมว่าหลายๆ เรื่องก็เป็นสิ่งที่เราปฏิบัติกันอยู่แล้ว เพียงแต่อาจจะไม่ได้มีผลวิจัยใดๆ มาพิสูจน์หรือสนับสนุนเท่านั้นเอง ถ้าท่านผู้อ่านอยากจะอ่านความคิดเห็นของผมต่อหนังสือเล่มนี้เพิ่มเติมก็เข้าไปดูได้ที่ http://pasuonline.net/blog ได้นะครับ