
7 June 2009
วันนี้ขอเขียนเรื่องของ Blue Ocean Strategy หรือ กลยุทธ์น่านน้ำสีครามอีกครั้งนะครับ อย่าเพิ่งเบื่อ เสียก่อน แต่วันนี้จะมาดูกันว่า BOS ที่วงการธุรกิจรู้จักคุ้นเคยดี จะสามารถนำมาปรับใช้กับหน่วยงานราช การของไทยได้อย่างไร? เนื่องจากพอดีต้องไปพูดให้หน่วยงานราชการฟังเรื่องของ BOS ก็เลยต้องมานั่งคิด อยู่พอสมควรครับว่าหน่วยราชการในประเทศไทยจะนำแนวคิดเรื่องของกลยุทธ์น่านน้ำสีครามมาปรับใช้ได้อย่างไรบ้าง เหมือนกับที่หน่วยราชการของไทยปรับและประยุกต์ใช้เครื่องมือทางการบริหารจัดการอื่นๆ ของภาคธุรกิจไปใช้จนเต็มไปหมด
ความท้าทายก็คือ BOS เป็นกระบวนการหรือวิธีการในการคิดที่ทำให้องค์กรธุรกิจไม่ต้องจมหรือ วนเวียนอยู่กับการแข่งขันแบบเดิมๆ สามารถสร้างอุตสาหกรรมและความต้องการใหม่ๆ ให้เกิดขึ้น แต่สำหรับส่วนราชการจำนวนมากแล้ว ไม่ได้ตกอยู่ภายใต้ภาวะการแข่งขันที่จะต้องหลีกหนี และถึงแม้ส่วนราชการทุกแห่งจะมีการกำหนดยุทธศาสตร์และกลยุทธ์ แต่ส่วนใหญ่แล้วก็มักจะเป็นยุทธศาสตร์ที่นำไปสู่การบรรลุวิสัยทัศน์และเพื่อตอบสนองต่อพันธกิของหน่วยงาน ซึ่งจะไม่เหมือนกับกลยุทธ์ขององค์กรเอกชนที่เน้นเรื่องการขยายตัว การสร้างความแตกต่าง หรือ การแสวงหาลูกค้าใหม่ เป็นต้น
อย่างไรก็ดีผมคิดว่าเราสามารถนำแนวคิดและวิธีการคิดของ BOS มาปรับใช้กับหน่วยราชการของ ไทย เพียงแต่อาจจะต้องวิเคราะห์ถึงบทบาท หน้าที่ และลักษณะของหน่วยราชการแต่ละแห่งก่อนนะครับ สำหรับจังหวัดแต่ละแห่งนั้น การนำ BOS มาใช้นั้นไม่ค่อยยากและต้องปรับเท่าไร เนื่องจากจังหวัดแต่ละ แห่งนอกเหนือจากจะต้องดูแลทางด้านสังคม และความเป็นอยู่ของประชาชนแล้ว ยังต้องให้ความสำคัญกับการเติบโตทางเศรษฐกิจของจังหวัด โดยในปัจจุบันจังหวัดแต่ละแห่งก็ได้พยายามวางตำแหน่งทางยุทธศาสตร์ของตนเองไว้อย่างชัดเจน บางจังหวัดจะเป็นศูนย์กลางผลไม้ หรือ บางจังหวัดจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ หรือ จะเน้นการส่งออกสินค้าเกษตรอินทรีย์ ฯลฯ ซึ่งในกรณีของจังหวัดแล้วผมว่าสามารถนำวิธีคิดในเรื่องของ BOS มาปรับใช้ได้ครับ เพื่อสร้างสรรค์ตลาด และความต้องการใหม่ๆ ของลูกค้าให้เกิดขึ้น
อย่างไรก็ดียังมีหน่วยราชการลักษณะอื่นๆ อีกไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานด้านความมั่นคง หน่วยงานวิชาการ หน่วยงานด้านนโยบาย หน่วยงานที่มุ่งเน้นการให้บริการต่อหน่วยงานอื่นๆ หรือ หน่วยงานที่มุ่งเน้นการให้บริการประชาชน คำถามสำคัญคือหน่วยงานลักษณะต่างๆ ข้างต้นจะนำแนวคิดเรื่องของ BOS มาปรับใช้ได้อย่างไร?
ผมมองว่าหน่วยงานดังกล่าวคงไม่สามารถยกเอากลยุทธ์น่านน้ำสีครามมาใช้โดยตรง แต่สามารถที่จะนำหลักการและวิธีคิดหลายๆ อย่างที่ปรากฎใน BOS มาปรับใช้ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของการคิดนอกกรอบ การคิดในแง่มุมใหม่ๆ และการมองเรื่องเดิมๆ ด้วยมุมมองใหม่ๆ รวมทั้งแนวทางในการนำกลยุทธ์หรือวิธีการคิดที่แปลกใหม่มาใช้ในองค์กรให้เกิดประโยชน์
ตัวอย่างเช่น ในหน่วยงานที่เป็นหน่วยงานบริการ ไม่ว่าจะเป็นต่อส่วนราชการด้วยกัน ต่อองค์กรเอกชน หรือ ต่อประชาชน สามารถที่จะนำหลักของ BOS มาปรับใช้เพื่อพัฒนาและปรับปรุงการบริการให้ ดีขี้น โดยที่ผู้ที่มารับบริการจากส่วนราชการนั้นส่วนใหญ่จะมาเพราะเหตุผลหรือ Function เป็นหลัก ดังนั้นเพื่อทำให้ผู้รับบริการเกิดความพึงพอใจมากขึ้น หน่วยราชการก็สามารถจะใช้หลักของ BOS ในเรื่องของ Functional – Emotional เข้ามาใช้ โดยผสมส่วนที่เป็นอารมณ์หรือ Emotion เข้าไปที่บริการ เหมือนเครื่องคอมพิวเตอร์โน๊ตบุ๊กในปัจจุบันที่แทนที่จะขายที่สมรรถนะหรือการใช้งานอย่างเดียว ก็เพิ่งเติมการออกแบบหรือศิลปะเข้าไป
อีกแนวคิดหนึ่งของ BOS ที่หน่วยราชการทุกแห่งสามารถนำมาปรับใช้ได้คือการวิเคราะห์ Strategy Canvas ซึ่งจะแสดงให้เห็นถึงประโยชน์หรือคุณค่าที่ส่วนราชการให้กับลูกค้า ผู้รับบริการ หรือ ประชาชน รวมทั้งระดับในการนำเสนอคุณค่าเหล่านั้น เพียงแต่ว่าเมื่อเขียน Strategy Canvas ออกมาแล้ว แทนที่ส่วน ราชการจะสร้างรูปที่ต้องแตกต่างเหมือนองค์กรธุรกิจ ส่วนราชการย่อมสามารถที่จะใช้ Strategy Canvas วิเคราะห์ถึงคุณค่าที่นำเสนอ พร้อมทั้งจุดอ่อนหรือสิ่งที่ยังไม่ได้นำเสนอก็ได้
คิดไปคิดมา เขียนไปเขียนมาก็เริ่มพบนะครับว่าถ้าคิดให้ละเอียดและดีๆ เราจะสามารถนำหลักการ กระบวนการและวิธีการคิดแบบ Blue Ocean Strategy มาปรับใช้กับหน่วยงานราชการไทย เพียงแต่เราคงไม่ สามารถยกมาได้ทั้งดุ้น อาจจะต้องเลือกนำวิธีการวิเคราะห์หรือการคิดในบางประเด็นมาปรับใช้กับหน่วยราชการแต่ละประเภท ทั้งนี้ก็ไม่ใช่เพื่อให้หน่วยราชการหลีกหนีการแข่งขันหรือสร้างตลาดใหม่ๆ เหมือนองค์กรธุรกิจหรอกนะครับ แต่เพื่อให้หน่วยราชการได้มีวิธีการใหม่ๆ มุมมองใหม่ๆ รวมทั้งนวัตกรรมในการทำงานและให้บริการต่อผู้รับบริการอย่างสร้างสรรค์ครับ