
6 April 2009
จากวิกฤติทางการเงินที่ระบาดกันอยู่ทั่วโลกในปัจจุบัน รวมทั้งความวุ่นวายทางด้านการเมืองในประเทศไทยในปัจจุบัน ท่านผู้อ่านได้สังเกตหรือตรวจสอบสุขภาพของท่านบ้างไหมครับ? ลองสังเกตดูไหมว่าช่วงที่เกิดวิกฤติทางการเงินในครั้งนี้ ได้นำไปสู่วิกฤติทางด้านสุขภาพของท่านบ้างหรือไม่? ผมเองได้ไปอ่านบทความสัมภาษณ์คุณหมอท่านหนึ่งชื่อ Dr. Mehmet Oz จากมหาวิทยาลัย Columbia ซึ่งท่านได้อธิบายถึงความสัมพันธ์ระหว่างวิกฤติทางการเงินในปัจจุบันกับปัญหาสุขภาพของเราๆ ท่านๆ
ปัญหาทางด้านสุขภาพที่ควรจะได้รับการดูแลเอาใจใส่ที่สุดในช่วงนี้คือเรื่องของความเครียดครับ และเป็นความเครียดที่ต่อเนื่องหรือที่ทางการแพทย์เขาเรียกว่าเป็น Chronic Stress นะครับ ซึ่งความเครียดที่ ต่อเนื่องนั้นน่ากลัวและควรจะได้รับการดูแลเอาใจใส่มากกว่าความเครียดที่เกิดขึ้นเนื่องจากเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่ง เช่น เกิดอุบัติเหตุรถชน ซึ่งถือเป็นความเครียดที่เกิดขึ้นเนื่องจากเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่ง และไม่รุนแรงเหมือนพวกที่เครียดสะสมครับ
ทีนี้ความเครียดที่เกิดขึ้นจากวิกฤติการเงินหรือปัญหาเศรษฐกิจถือเป็นความเครียดแบบสะสมครับ ความเครียดพวกนี้จะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและเป็นไปในระยะยาวครับ และผลพวงประการหนึ่งที่เกิดขึ้นจากความเครียดแบบสะสมนั้นคือเรามีแนวโน้มที่จะรับทานมากขึ้นครับ แล้วก็นำไปสู่ปัญหาโรคอ้วน ลองสังเกตดูง่ายๆ นะครับ เวลาเราเครียดเฉพาะกิจหรือเนื่องจากเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่งเรามักจะมีอาการรับทานอาหารไม่ค่อยลง แต่ถ้าเราเครียดสะสมหรือเครียดต่อเนื่อง ร่างกายเรากลับจะเป็นไปในทางตรงกันข้ามคือรับทานมากขึ้น (สงสัยจะทานแก้เครียด) ซึ่งสุดท้ายแล้วก็จะนำไปสู่โรคอ้วน (จริงๆ ทางการแพทย์เขามีอธิบายมากกว่านี้นะครับ แต่ผมขอข้ามแล้วกัน)
ก็น่าแปลกใจเหมือนกันนะครับว่าถ้าเศรษฐกิจไม่ดี แทนที่คนจะผอมลง กลับมีแนวโน้มว่าคนจะอ้วนขึ้นเนื่องจากความเครียดที่สะสมหรือต่อเนื่อง ซึ่งเจ้าความอ้วนนั้นก็จะนำไปสู่โรคภัยไข้เจ็บต่างๆ อย่างที่ทุกท่านทราบกันดี นอกเหนือจากความเครียดกับความอ้วนแล้ว ยังมีความสัมพันธ์ระหว่างความเครียดกับความดันโลหิต โดยในช่วงที่เครียดอย่างต่อเนื่องนั้น ความดันโลหิตเราก็มักจะสูงขึ้นตามไปด้วย
ที่สำคัญที่สุดคือความเครียดนำไปสู่การนอนไม่หลับครับ ซึ่งเป็นอาการที่เราสามารถสังเกตได้ง่ายที่สุดจากความเครียดครับ ความเครียดนั้นจะทำให้เราไม่สามารถหลับได้ลึกและหลับได้ยาวตามที่ร่างกายเราต้องการ ทางการแพทย์ของอเมริกาเขาวิจัยและพบว่าไม่ถึงครึ่งหนึ่งของผู้ที่อายุเกิน 50 ปีขึ้นไปนั้นมักจะนอนไม่พอกับที่ร่างกายเราต้องการครับ หมอเขาได้แนะนำวิธีการง่ายๆ เพื่อเป็นการช่วยให้ร่างกายเราได้นอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอครับ ประการแรกคือพยายามหรี่หรือลดแสงสว่างในห้องนอนลงประมาณครึ่งชั่วโมงก่อนที่เราจะหลับ เพื่อเป็นการเตรียมร่างกายเราให้พร้อมก่อนที่จะนอน ในอดีตที่เรายังไม่มีไฟฟ้าใช้กันอย่างสว่างไสวเช่นในปัจจุบัน บรรพบุรุษเราจะหลั่งเมลาโทนินเมื่อพระอาทิตย์ตกดิน ซึ่งจะทำให้เรามีอาการง่วงและอยากนอน แต่ในปัจจุบันพอมีไฟฟ้าสว่างไสวไปทุกที่ร่างกายเราคงบอกลำบากว่าควรจะหลั่งเจ้าเมลาโทนินเมื่อไร ดังนั้นการหรี่ไฟก่อนนอนก็จะเหมือนกับเป็นเครื่องเตือนให้ร่างกายเรารู้ตัวล่วงหน้าก่อนนอนครับ
ประการที่สองคือชุดนอนควรจะหลวมๆ เพื่อให้หลับสบาย ไม่ควรจะรัดหรือแน่นเกินไป ประการที่สามคือเราควรจะหลับในบรรยากาศที่เย็นสบาย เนื่องจากในขณะที่เราหลับอุณหภูมิในร่างกายเราจะลดต่ำลง ถ้าเรานอนในสภาพที่ร้อน โอกาสที่เราจะหลับๆ ตื่นๆ ก็จะมีสูง และประการสุดท้ายคือที่นอนของเราไม่ควรจะเก็บความร้อนไว้นะครับ นั้นคือควรจะเป็นที่นอนคุณภาพหน่อยที่ทำให้เราอย่างเย็นสบาย
นอกจากนี้ข้อควรระวังอีกอย่างคือในภาวะเช่นปัจจุบัน เราจะโมโหง่ายขึ้นครับ ลองสังเกตรอบๆ ตัวดูก็ได้ครับ คนในปัจจุบันจะขี้โมโหกันมากกว่าในสมัยก่อน ซึ่งอาจจะเป็นเนื่องจากปัจจัยหลายๆ อย่างผสมกัน และโดยทางการแพทย์แล้วเขาก็บอกว่าการโมโหนั้นเป็นปฏิกริยาโดยธรรมชาติเพื่อตอบสนองต่อวิกฤติการณ์หรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และเราไม่ควรจะบอกให้คนที่กำลังโมโหอยู่ใจเย็นลง เนื่องจากเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ยาก และที่สำคัญคือความใจเย็นไม่ใช่สิ่งที่ตรงข้ามกับอาการโมโหหรือโกรธนะครับ หมอเขาแนะนำว่าสิ่งที่ตรงกันข้ามกับความโกรธคือความเข้าอกเข้าใจ หรือที่เรียกว่า Empathy ครับ
ดังนั้นในสถานการณ์ปัจจุบันถ้าเจอคนที่กำลังโมโหหรือโกรธ ต่อให้เราไปบอกเขาว่าให้ใจเย็นแค่ไหนก็คงจะไม่มีประโยชน์ครับ แต่คงต้องอาศัยความเข้าอกเข้าใจ ความเห็นใจซึ่งกันและกัน โดยพยายามคิดว่าถ้าเราอยู่ในสถานการณ์แบบเดียวกับเขาแล้วเราจะรู้สึกอย่างไร สิ่งเหล่านี้จะเป็นสิ่งที่ช่วยให้เราสามารถจัดการกับพวกขี้โมโหทั้งหลายได้ดีกว่าการบอกให้ใจเย็นครับ
สุดท้ายวันหยุดสงกรานต์นี้ก็ขอให้ทุกคนพยายามเข้าใจซึ่งกันและกันนะครับ อย่าเครียด และพยายามนอนหลับพักผ่อนให้เต็มที่ครับ