3 April 2009

ในช่วงที่เศรษฐกิจไม่ดีนั้นปรากฎการณ์อย่างหนึ่งที่คืบคลานเข้าสู่คนทำงานทุกคนโดยไม่รู้ตัวก็คือการทำงานที่หนักขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเพื่อการรักษากิจการให้ดำรงอยู่ไม่ล่มสลาย หรือ การรักษางานของตนเองให้ยังคงอยู่ไม่ต้องถูกปลดเหมือนหลายๆ คน หรือ เพื่อหารายได้เสริมให้มากขึ้นเพื่อทดแทนรายได้ที่หายหรือลดลง หรือ การเรียนเพิ่มเติมในทักษะวิชาชีพต่างๆ เพื่อทำให้ตนเองมีความแตกต่าง ซึ่งจะเป็นใบเบิกทางในการได้งานดีๆ รวมทั้งอื่นๆ อีกมากมายที่พวกเราทำงานกันหนักขึ้นโดยไม่รู้ตัว ซึ่งเป็นแรงกดดันทั้งทางจิตวิทยาและที่เกิดขึ้นจริงกับตัวเรา อันเนื่องจากที่เรากำลังเผชิญกับสภาวะเศรษฐกิจที่กำลังตกสะเก็ดเช่นในปัจจุบัน

            ทีนี้พอเราทำงานหนักขึ้น นอกเหนือจากความกดดันส่วนตัวที่เราได้รับจากการทำงานแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความเครียด ความเหนื่อย การขาดเวลาพักผ่อน การรับทานอาหารที่ไม่เพียงพอ และที่สำคัญก็คือ ทำให้ความสมดุลระหว่างชีวิตการทำงานและชีวิตส่วนตัวเราสูญเสียไป ท่านผู้อ่านลองสังเกตดูนะครับว่าตั้งแต่เราเริ่มรับรู้ถึงปัญหาภาวะเศรษฐกิจที่กำลังมีปัญหาอยู่ทั่วโลก ท่านทำงานหนักขึ้นหรือไม่? รวมทั้งความสมดุลระหว่างชีวิตการทำงานและชีวิตส่วนตัวของท่านได้เริ่มสูญเสียไปบ้างหรือไม่?

            ในขณะเดียวกันเมื่อมองในมุมมองของนายจ้าง ผู้บริหารองค์กรต่างๆ เชื่อว่าส่วนใหญ่แล้วเรื่องของความสมดุลระหว่างชีวิตการทำงานและชีวิตจะกลายเป็นสิ่งที่มีความสำคัญในระดับรองที่อยู่ในใจผู้บริหาร เนื่องจากในภาวะเศรษฐกิจเช่นในปัจจุบัน สิ่งที่ผู้บริหารองค์กรต่างๆ ต้องการก็คือการทำให้ธุรกิจอยู่รอด โดยการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของพนักงานให้มากที่สุด โดยอาจจะลดจำนวนพนักงานลง หรือ ไม่รับพนักงานใหม่ แต่ขอให้ทำงานมากขึ้นหรือหนักกว่าเดิม ซึ่งก็ไม่ใช่ความผิดของผู้บริหารองค์กรธุรกิจเหล่านั้นหรอกนะครับ เนื่องจากในภาวะปัจจุบันผู้บริหารทุกท่านก็ต้องคำนึงถึงความอยู่รอดขององค์กรเป็นหลัก จากตัวเลขการสำรวจของสหรัฐอเมริกาพบว่าระดับความพึงพอใจในความสมดุลระหว่างชีวิตการทำงานและชีวิตส่วนตัวอยู่ที่ระดับร้อยละ 53 ในปี 2006 แต่พอมาไตรมาสแรกของปีนี้ระดับความพอใจดังกล่าวลดเหลือร้อยละ 30 เท่านั้น

            ปัญหาสำคัญอย่างหนึ่งก็คือองค์กรต่างๆ ยังมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนเกี่ยวกับการสร้างความสมดุลระหว่างชีวิตการทำงานและชีวิตส่วนตัว โดยหลายๆ องค์กรมักจะเข้าใจผิดว่าการทำให้พนักงานได้รับความสะดวกสบายในชีวิตประจำวันของพนักงาน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการสร้างสถานออกกำลังกายในที่ทำงาน หรือ การมีบริการตรวจสุขภาพฟรีในที่ทำงาน หรือ บริการเสริมพิเศษอื่นๆ ให้พนักงาน เป็นการสร้างความสมดุลให้กับชีวิตของพนักงาน แต่จริงๆ แล้วสิทธิประโยชน์พิเศษเหล่านี้ กลับไม่ใช่สิ่งที่พนักงานให้ความสำคัญหรือระลึกถึงในบริบทของความสมดุลของชีวิต สิ่งที่พนักงานต้องการเมื่อนึกถึงความสมดุลระหว่างงานและชีวิตส่วนตัว ก็คือเรื่องของ “เวลา” ครับ

            มีการสำรวจในอเมริกาอีกเหมือนกันครับ แล้วพบกว่ากว่าร้อยละ 60 ของพนักงานที่สำรวจมองว่า การจัด Flexible Schedule เป็นนโยบายสำคัญที่องค์กรธุรกิจสามารถที่จะจัดให้กับพนักงานได้ในการสร้างความสมดุลระหว่างงานกับชีวิตส่วนตัว ในอดีตเรื่องของ Telecommuting หรือการทำงานจากที่บ้าน เป็นคำศัพท์ที่ดูโก้เก๋ และถือเป็นสิทธิประโยชน์ ที่มีเฉพาะในบางองค์กรเท่านั้น แต่ปัจจุบันเรื่องของ Telecommuting กลายเป็นสิ่งที่กลายเป็นสิ่งพื้นฐานสำหรับหลายๆ องค์กรแล้ว

            การเปิดโอกาสให้พนักงานได้ทำงานจากที่บ้านมีประโยชน์อยู่หลายประการด้วยกันครับ ไม่ว่าจะเป็นการช่วยทำให้องค์กรประหยัดค่าใช้จ่ายในเรื่องของสถานที่รวมทั้งต้นทุนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งการทำให้พนักงานได้มีโอกาสใช้เวลาอยู่ใกล้ชิดกับครอบครัวมากขึ้น โดยหลักการแล้วการที่องค์กรเปิดโอกาสให้พนักงานได้ทำงานที่บ้านดูแล้วน่าดึงดูดใจนะครับ เนื่องจากพัฒนาการของเทคโนโลยีสารสนเทศในปัจจุบัน ทำให้การทำงานที่บ้านเป็นสิ่งที่ไม่ยาก อีกทั้งทำให้พนักงานได้มีเวลาและโอกาสอยู่กับครอบครัวมากขึ้น อย่างไรก็ดีในทางปฏิบัติแล้วเรื่องของการทำงานที่บ้านยังคงมีรายละเอียดหรือข้อจำกัดในทางปฏิบัติอยู่พอสมควร

            ในช่วงภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันอยากจะฝากท่านผู้บริหารองค์กรทั้งหลายได้ลองพิจารณาในเรื่องของการสร้างความสมดุลระหว่างชีวิตส่วนตัวกับการทำงานให้มากขึ้นนิดนึงครับ จากภาวะในปัจจุบันที่ทุกคนต้องทำงานหนักขึ้นเพื่อความอยู่รอดขององค์กรและตนเอง “เวลา” กลายเป็นสิ่งที่มีค่า โดยเฉพาะเวลากับครอบครัว หรือ เวลาสำหรับชีวิตส่วนตัว ซึ่งถ้าพนักงานยังสามารถรักษาความสมดุลระหว่างการทำงานและชีวิตส่วนตัวได้ พนักงานก็จะมีความสุขและขวัญกำลังใจ และพร้อมที่จะต่อสู้เพื่อองค์กรมากขึ้น         

            ก่อนจบของฝากประชาสัมพันธ์หน่อยนะครับ ป่านนี้คะแนน O-NET, A-NET น่าจะออกแล้ว หลายๆ คนคงจะเริ่มตัดสินใจเลือกคณะเรียนแล้ว สำหรับน้องๆ มัธยมที่กำลังจะสอบคัดเลือกเข้ามาเป็นนิสิตของคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ มีข่าวดีเรื่องทุนการศึกษาในโครงการ CBS Rising Star Scholarships ในปีนี้สำหรับน้องที่สอบคัดเลือกเข้าศึกษาได้ในอันดับ 10 percentile แรก และเลือกคณะฯเป็นอันดับหนึ่ง จะได้รับทุนการศึกษามูลค่า 50,000 บาท พร้อมการประกาศเกียรติคุณจากคณะฯด้วย โดยแบ่งเป็นหลักสูตรบัญชีบัณฑิต 4 ทุน บริหารธุรกิจบัณฑิต 4 ทุน และสถิติศาสตรบัณฑิต 2 ทุน ฝากท่านผู้ปกครองบอกต่อยังบุตรหลานทุกท่านนะครับ