5 February 2009

เมื่อสัปดาห์ที่แล้วผมได้ลองเปิดประเด็นข้อแตกต่างระหว่างงานจริงกับงานลวงไว้ โดยงานลวงนั้นคือการทำงานที่ไม่ได้ก่อให้เกิดคุณค่าหรือประโยชน์ต่อองค์กร รวมทั้งไม่สอดคล้องต่อเป้าหมายและกลยุทธ์ขององค์กร และในปัจจุบันคนทำงานจำนวนมากก็ทำงานลวงๆ กันอยู่ ซึ่งไม่น่าเหมาะกับสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันเลยนะครับ สัปดาห์นี้เราลองมาดูสาเหตุหลักๆ ที่ทำให้เกิดงานลวงกันนะครับ

            งานลวงนั้นหลายองค์กรจะเริ่มจากวัฒนธรรมขององค์กร บางแห่งอาจจะเริ่มจากตัวผู้บริหารระดับสูงขององค์กร ที่มักจะไม่เข้าใจในงานที่แท้จริงที่พนักงานต้องทำ แถมผู้บริหารระดับสูงยังมักจะชอบสนับสนุนให้พนักงานตนเองทำงานลวงโดยที่ไม่รู้ตัวอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นการให้ความสำคัญกับการทำตัวให้ยุ่ง ดูเหมือนมีกิจกรรมที่ต้องทำเยอะแยะ การปรากฎหน้าอยู่ในสถานที่ทำงานเป็นเวลานาน (มาเช้ากลับค่ำ) การให้คำสัญญาตกปากรับคำไว้เยอะ แต่กลับน้อยในการปฏิบัติ การไม่สอดคล้องระหว่างการทำงานในระดับต่างๆ ในองค์กร รวมทั้งการขาดการสื่อสารระหว่างระดับต่างๆ ภายในองค์กร ทีนี้เราลองมาแยกพิจารณาเป็นประเด็นหลักๆ กันนะครับ

            สาเหตุแรกเลยก็หนีไม่พ้นจากการที่พนักงานแต่ละคนไม่มีความเข้าใจในงานจริงๆ ที่ตนเองจะต้องทำ ท่านผู้อ่านลองถามลูกน้องหรือเพื่อนร่วมงานของท่านดูซิครับว่าหน้าที่และงานที่แท้จริงที่เขาจะต้องทำนั้นมีอะไรบ้าง ผมเองพบว่าในหลายองค์กรบุคลากรยังไม่มีความเข้าใจหรือรู้ในงานที่ต้องทำอย่างแท้จริงเลย

            สาเหตุที่สองก็คือพนักงานไม่ได้ทราบถึงเส้นชัยหรือเป้าหมายที่ต้องไปถึง ท่านผู้อ่านลองถามตนเองดูก็ได้ครับว่างานที่ท่านทำไปนั้น สุดท้ายแล้วจะนำไปสู่หรือทำให้เกิดการบรรลุในสิ่งใด? ปัญหาของงานลวงจำนวนมากก็คือพนักงานไม่มีความรู้ ความเข้าใจต่อผลลัพธ์ของงานที่ตนเองทำ ทุกคนที่ทำงานควรจะรู้ว่างานที่ตนเองทำอยู่นั้นทำไปโดยมีจุดมุ่งหมายใด และเมื่อรู้ในจุดมุ่งหมายแล้ว ก็จะนำไปสู่ผลลัพธ์หรือเส้นชัยของงานที่ทำ แต่ปัญหาเดิมๆ ก็คือในการทำงานนั้นพนักงานจะมองไม่เห็นเส้นชัยที่ต้องการไปถึงเลยครับ ดังนั้นคนที่เป็นหัวหน้างานที่ดี เมื่อมอบหมายงานให้ลูกน้องแล้ว ควรจะต้องสามารถอธิบายต่อได้นะครับว่าผลงานหรือผลลัพธ์ที่มองหาหรือต้องการคืออะไร? ทำไมงานดังกล่าวถึงมีความสำคัญ? และเมื่อไหร่ที่ต้องการให้งานนั้นสำเร็จ?

            สาเหตุประการที่สามคือพนักงาน (รวมทั้งตัวเจ้านายด้วย) ไม่สามารถจัดลำดับความสำคัญของงานที่ต้องทำด้วย เนื่องจากงานที่คนๆ หนึ่งจะต้องทำในวันหนึ่งนั้นมีเยอะแยะมากมายไปหมด ถ้าพนักงานและหัวหน้า ไม่สามารถจัดลำดับความสำคัญของงานที่ต้องทำได้ พนักงานก็จะทำแต่งานที่ไม่มีความสำคัญหรือความเร่งด่วน ส่วนงานที่สำคัญหรือเร่งด่วนกลับไม่ได้รับความเอาใจใส่ ซึ่งก็เปรียบเสมือนเป็นการทำงานลวงๆ เช่นเดียวกันครับ และปัญหาของการที่พนักงานไม่สามารถจัดลำดับความสำคัญของงานที่จะต้องทำนั้น บางครั้งไม่ได้อยู่ที่ตัวพนักงานนะครับ แต่อยู่ที่ตัวหัวหน้างาน ที่ไม่สื่อสาร ไม่ถ่ายทอด และไม่แจ้งข่าวให้พนักงาน และที่สำคัญคือถ้างานทุกชนิดได้รับการมองหรือพิจารณาให้มีความเท่าเทียมกันแล้ว งานทุกชนิดก็จะมีความสำคัญเหมือนกันครับ

            สาเหตุประการที่สี่มาจากความล้มเหลวในการสื่อสารครับ ซึ่งก็น่าสงสารเจ้าการสื่อสารนะครับ เนื่องจากดูเหมือนว่าจะเป็นแพะรับบาปสำหรับเหตุการณ์ต่างๆ มากมาย แต่จริงๆ แล้วก็ต้องบอกว่าสาเหตุหลักประการหนึ่งของงานลวงก็มาจากเจ้าการสื่อสารนั้นแหละครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขาดการสื่อสารหรือสื่อสารที่ผิดพลาดที่ทำให้คนทำงานมุ่งและให้ความสำคัญกับงานลวงมากกว่างานจริงที่ต้องทำ

            สาเหตุประการที่ห้ามาจากความล้มเหลวในการสื่อสารและถ่ายทอดกลยุทธ์ตั้งแต่ระดับองค์กรลงสู่ระดับปฏิบัติงานเลยครับ         ถ้าองค์กรไม่สามารถแปลงหรือถ่ายทอดกลยุทธ์ที่อุตส่าห์ไปวางไว้ ลงสู่การปฏิบัติที่พนักงานทุกระดับสามารถจับต้อง และเชื่อมโยงได้อย่างชัดเจนแล้ว ก็แสดงว่ากระบวนการวางแผนกลยุทธ์ที่ผู้บริหารไปดำเนินการกันทุกปีนั้นก็ถือเป็นงานลวงเช่นเดียวกันครับ เนื่องจากกระบวนการดังกล่าวสุดท้ายแล้ว ไม่ได้ก่อให้เกิดคุณค่าหรือประโยชน์ใดๆ ต่อองค์กร ถ้ากลยุทธ์ไม่สามารถสื่อสารและแปลงไปสู่สิ่งที่บุคลากรทุกระดับสามารถเชื่อมโยงได้ งานของบุคลากรในองค์กรก็มีสิทธิ์เป็นงานลวงเสียมากนะครับ เนื่องจากขาดความเชื่อมโยงระหว่างงานที่บุคลากรทำและกลยุทธ์ขององค์กร

            ท่านผู้อ่านลองดูสาเหตุต่างๆ ข้างต้นนะครับ และหวังว่างานที่ท่านทำอยู่ในปัจจุบันไม่ใช่งานลวงนะครับ และถ้าท่านผู้อ่านอยากจะหารายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องนี้เพิ่มเติม ลองดูหนังสือชื่อ Fake Work นะครับ เขียนโดย Brent D. Peterson และ Gaylan W. Nielson สุดท้ายก่อนจากขอฝากประชาสัมพันธ์หนังสือของภาควิชาพาณิชยศาสตร์ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี หน่อยนะครับ โดยเป็นหนังสือที่รวบรวมข้อเขียนของคณาจารย์ในภาควิชาฯ ในเรื่องเกี่ยวกับนวัตกรรม ชื่อนวัตกรรมเพื่อการแข่งขันที่ยั่งยืน ถ้าท่านผู้อ่านสนใจก็ลองหาดูได้ที่ศูนย์หนังสือจุฬาฯ ได้นะครับ ผมเองก็เขียนอยู่บทหนึ่งเรื่องนวัตกรรมทางกลยุทธ์ครับ