2 February 2009

ท่านผู้อ่านเคยใช้เวลาและความพยายามอย่างมากในการทำงานใดงานหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นข้อเสนอโครงการ รายงาน เอกสาร ฯลฯ แล้วสุดท้ายงานที่ท่านอุตส่าห์ทุ่มเทความพยายามในการทำนั้นกลับไม่ได้รับความสนใจจากผู้บริหารแม้แต่น้อยบ้างไหมครับ? หรือท่านผู้อ่านมีผู้ร่วมงานที่ดูเป็นคนที่ยุ่งกับงานตลอดทั้งวัน มาถึงที่ทำงานเป็นคนแรกๆ และกลับเป็นคนท้ายๆ เป็นคนที่ตั้งใจทำงาน ทุ่มเทให้กับงาน แต่สุดท้ายแล้วดูเหมือนจะไม่มีผลงานอะไรปรากฎให้เห็นเป็นชิ้นเป็นอันบ้างไหมครับ? ข้อสงสัยหนึ่งที่เราอาจจะมีกันมาตลอดก็คือจริงๆ แล้วงานหลายๆ อย่างที่เราทำกันนั้น เป็นงานจริงหรืองานลวง (Fake Work) โดยงานจริงคือ งานที่ก่อให้เกิดประโยชน์ ก่อให้เกิดคุณค่ากับองค์กร มีความสอดคล้องกับเป้าหมายและกลยุทธ์ขององค์กร ส่วนงานลวงนั้นเป็นงานที่มีภาพเหมือนกับเป็นการทำงานจริงๆ แต่โดยข้อเท็จจริงแล้ว ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ใดๆ รวมทั้งไม่สอดคล้องกับเป้าหมายและกลยุทธ์ขององค์กร

            ลองดูตัวอย่างอื่นๆ ของงานลวงบ้างนะครับ ท่านผู้อ่านเคยต้องร่วมอยู่ในคณะกรรมการหรือคณะทำงาน ที่ต้องทำหน้าที่ในการหาข้อมูลหรือเสนอทางเลือกบางประการสำหรับองค์กรของท่าน แต่ในขณะเดียวกันท่านก็ทราบว่าผลงานของคณะทำงานหรือกรรมการนั้น สุดท้ายแล้วผู้บริหารคงจะไม่ได้นำไปใช้ เนื่องจากผู้บริหารเองมีคำตอบหรือสิ่งที่ต้องการอยู่ในใจแล้ว เพียงแต่ตั้งคณะทำงาน เพื่อให้ดูเหมือนว่าได้รับความฟังความคิดเห็นจากทุกคนเท่านั้นเอง ถ้าท่านเคยตกอยู่ในสถานการณ์ลักษณะนี้ก็แสดงว่างานที่ท่านทำก็ถือเป็นงานลวงเช่นเดียวกันครับ

            หรือในอีกสถานการณ์หนึ่งที่ท่านต้องทำรายงานส่งผู้บริหารทุกเดือนๆ ละไม่ต่ำกว่ายี่สิบสามสิบหน้า ซึ่งการทำงานรายงานดังกล่าวได้ใช้เวลาและพลังงานของท่านไปพอสมควร แต่สุดท้ายสิ่งที่ผู้บริหารได้อ่านก็คือสามสี่หน้าแรก หรือ สามสี่หน้าสุดท้าย การทำรายงานดังกล่าวก็ถือเป็นงานลวงอีกประการหนึ่งเช่นเดียวกัน

            สาเหตุที่ผมเรียกงานข้างต้นว่าเป็นงานลวงนั้น เนื่องจากสิ่งที่ทำนั้นดูเหมือนว่าจะเป็นการทำงานของบุคคลในองค์กร แต่งานที่ทำนั้นจริงๆ แล้วไม่ใช่งานที่แท้จริงที่ก่อให้เกิดคุณค่าหรือประโยชน์กับองค์กรเท่าใด ดังนั้นงานที่ทำจึงเสมือนเป็นงานลวงที่ดูเหมือนจะเป็นงานจริงๆ แต่โดยเนื้อแท้แล้วกลับไม่ได้มีประโยชน์ต่อตัวเราเองหรือองค์กรแต่อย่างใด เปรียบเสมือนเป็นงานลวงๆ ที่เปลือกนอกดูเหมือนจะทำงาน แต่ข้างในนั้นกลับไม่ได้ก่อให้เกิดคุณค่าหรือประโยชน์แต่อย่างใด ท่านผู้อ่านลองถามตนเองดูนะครับว่างานที่ท่านทำอยู่ในปัจจุบันเป็นงานลวงหรือไม่? เพื่อนร่วมงานรอบๆ ตัวท่านทำงานลวงอยู่หรือไม่?

            ในอดีตเราเป็นสังคมเกษตรกรรมและสังคมอุตสาหกรรม ดังนั้นการทำงานส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นการเพาะปลูกพืชผลทางการเกษตร หรือ การประกอบชิ้นส่วนอุตสาหกรรม จะมีความชัดเจนในตัวเองว่าเป็นงานที่ก่อให้เกิดประโยชน์และคุณค่ากับองค์กรจริงๆ แต่พอสังคมเราเป็นสังคมแห่งความรู้แล้ว งานที่ทำส่วนใหญ่จึงเป็นงานที่เกี่ยวข้องกับความรู้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่สามารถมองเห็นหรือจับต้องได้อย่างชัดเจนเหมือนงานเกษตรกรรมหรืออุตสาหกรรม ลองคิดดูซิครับว่าการนั่งหาข้อมูลทางอินเตอร์เน็ต ซึ่งเป็นสิ่งที่หลายๆ คนทำอยู่เป็นประจำ จริงๆ แล้วเป็นงานจริงหรืองานลวง? การนั่งอยู่ในห้องประชุมเป็นเวลานานๆ เพื่อรับฟังสิ่งที่ไม่เกี่ยวข้องกับเรา เป็นงานจริงหรืองานลวง? หลายครั้งที่เรามักจะนึกเอาว่าการทำตัวให้ดูยุ่งๆ มีกิจกรรมต่างๆ ที่ต้องทำอยู่ตลอดเวลาเป็นการทำงาน แต่ถามจริงๆ นะครับว่าการทำตัวยุ่งๆ มีสิ่งที่ต้องทำมากมายนั้น เป็นงานจริงหรืองานลวง?

            สาเหตุของงานลวงนั้นไม่ได้เกิดขึ้นจากการที่บุคลากรอยากจะอู้งานหรือไม่อยากจะทำงานหรอกนะครับ เชื่อว่าบุคลากรทุกคนอยากจะทำงานที่มีคุณค่า มีประโยชน์ต่อองค์กรของตนเองทั้งสิ้น ดังนั้นทุกคนเลยทำงานอย่างหนัก ทำงานอยู่ตลอดเวลา ไม่ได้หยุดพักแม้กระทั่งวันหยุด เพียงแต่ปัญหาคือบุคลากรเหล่านั้นทำงานไม่ถูกเรื่องหรือถูกประเด็นเท่านั้นเอง อาจจะเป็นเนื่องจากบุคลากรไม่ทราบว่างานไหนคืองานจริง คืองานที่มีความสำคัญและสอดคล้องกับเป้าหมายขององค์กรก็ได้

            จริงๆ แล้วปัญหาเรื่องของการทำงานลวงนั้นจะต้องเริ่มแก้ไขจากผู้บริหารและระบบการทำงานเป็นสำคัญครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาวะเศรษฐกิจเช่นปัจจุบัน ที่องค์กรต่างๆ จะต้องให้ความสำคัญกับผลิตภาพในการทำงานและผลลัพธ์ของงานมากกว่าในสภาวะปกติ ดังนั้นผู้บริหารคงต้องรีบหาวิธีที่จะขจัดงานที่เป็นงานลวงออกไปนะครับ ส่วนจะทำอย่างไรนั้นสัปดาห์หน้าผมจะมานำเสนอทางเลือกต่างๆ ให้นะครับ

            ถ้าท่านผู้อ่านอยากจะหารายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องนี้เพิ่มเติม ลองดูหนังสือชื่อ Fake Work นะครับ เขียนโดย Brent D. Peterson และ Gaylan W. Nielson