23 March 2009

แนวโน้มที่สำคัญประการหนึ่งในปัจจุบันคือการที่เรากำลังก้าวเข้าสู่สังคมแห่งการสร้างสรรค์ (Creative Society) ซึ่งถือเป็นปรากฎการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก โดยในสังคมยุคใหม่นั้นจะเป็นการพัฒนาที่ต่อเนื่องมาจากสังคมแห่งความรู้ที่ท่านผู้อ่านคุ้นเคยกันอยู่ในช่วงหลายๆ ปีที่ผ่านมา เนื่องจากมองว่าในปัจจุบันเรื่องของความรู้เพียงอย่างเดียว ไม่เพียงพอแล้ว การบริหารความรู้ได้กลายเป็นสิ่งที่พื้นฐานและจำเป็นสำหรับองค์กรทุกแห่ง ในขณะเดียวกันพัฒนาการของเทคโนโลยี ทำให้ความรู้ที่เราต้องการสามารถหามาได้ด้วยปลายนิ้วสัมผัส ดังนั้นพัฒนาการต่อไปของสังคมจึงเป็นการต่อยอดจากการเป็นเพียงแค่สังคมแห่งความรู้ กลายเป็นสังคมแห่งการสร้างสรรค์

            สังเกตได้ง่ายๆ ครับว่าในอดีตนั้นการที่คนทำงานคนหนึ่งมีวุฒิ MBA ติดตัวนั้นถือเป็นปัจจัยที่ สร้างความแตกต่างให้กับบุคคลผู้นั้น แต่ปัจจุบันดูเหมือนว่าวุฒิ MBA กลายเป็นพื้นฐานที่จำเป็นที่คนทำ งานต้องมีไปเสียแล้ว ในขณะเดียวกันองค์กรทุกแห่งก็มุ่งเน้นที่จะเรียนรู้จาก Best Practices ต่างๆ ดังนั้นไม่ว่าองค์กรไหน ทำเรื่องไหนดี ทำเรื่องไหนเด่น ก็จะมีการเรียนรู้และแบ่งปันกรณีศึกษา ประสบการณ์กันอย่างทั่วถึง ดังนั้นแนวโน้มสำคัญที่กำลังจะเกิดขึ้นทั้งในปัจจุบันและอนาคตก็คือการจะประสบความสำเร็จนั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับแค่การมีความรู้เพียงอย่างเดียวแล้วครับ แต่ผมมองว่าขึ้นอยู่กับความสามารถของบุคคลและองค์กร ในการสร้างสรรค์สิ่งที่ก่อให้เกิดคุณค่าหรือประโยชน์กับบุคคลที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งต้องเป็นความสามารถในการสร้างสรรค์ที่ต่อเนื่องและยั่งยืนด้วย เนื่องจากสิ่งที่สร้างสรรค์นั้น ไม่ช้า ไม่นาน ก็จะถูกลอกเลียนแบบ หรือ เรียนรู้ไป ดังนั้นการสร้างสรรค์อย่างต่อเนื่องจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ

            ทีนี้เรามาดูกันต่อนะครับว่าในสังคมแห่งการสร้างสรรค์นั้น อะไรบ้างคือปัจจัยหรือองค์ประกอบที่สำคัญ นักคิดที่มีชื่อเสียงท่านหนึ่งชื่อ Daniel Pink ได้มองในลักษณะคล้ายๆ กัน แต่แทนที่จะเรียกว่าเป็น สังคมแห่งการสร้างสรรค์หรือ Creative Society ยุคที่เรากำลังเผชิญนั้นควรจะเรียกว่าเป็น Conceptual Age โดย Pink ระบุว่าสำหรับ Conceptual Age นั้น มีองค์ประกอบที่สำคัญประกอบด้วย Design, Story, Symphony, Empathy, Play, Meaning ซึ่งองค์ประกอบต่างๆ ข้างต้นนั้นผมเองก็มองว่าเป็นปัจจัยที่สำคัญที่จะนำไปสู่การสร้างสรรค์

            ลองดูตัวอย่างง่ายๆ อย่างเช่นเรื่องของ Play หรือการเล่นก็ได้ครับ เวลาเรานึกถึงการเล่นต่างๆ หรือ Play นั้น เรามักจะมองว่าเป็นเรื่องของเด็กหรือของผู้ใหญ่ที่ไม่รู้จักโต เป็นสิ่งที่ไร้แก่นสาร อีกทั้งไม่ก่อให้ เกิดประโยชน์หรือคุณค่าใดๆ ต่อการทำงาน แต่ในสังคมแห่งการสร้างสรรค์นั้นการเล่นกลับเป็นปัจจัยสำคัญ ที่จะนำไปสู่ความสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ได้อย่างที่เรานึกไม่ถึงเลยนะครับ

            มีหนังสือเล่มหนึ่งตั้งชื่อว่า Play เขียนต่อคุณหมอท่านหนึ่งชื่อ Stuat Brown โดยในหนังสือเล่มนี้ผู้ แต่งเขาพยายามชี้ให้เห็นว่าการเล่นนั้นมีประโยชน์และความสำคัญอย่างไร นอกเหนือจากเรื่องของความสุข สนุกสนานที่เกิดขึ้นกับผู้เล่นแล้ว การเล่นยังเป็นสิ่งที่กระชับและสร้างความสัมพันธ์ระหว่างผู้เล่น และข้อมูลใหม่ที่น่าสนใจก็คือการเล่นส่งผลต่อความคิดสร้างสรรค์ ความสามารถในด้านนวัตกรรมของคนเราอีกด้วย

            ท่านผู้อ่านลองสังเกตเด็กๆ เวลาเล่นดูก็ได้นะครับ เราจะพบว่าเด็กๆ นั้นจะมีความสุขเวลาได้เล่น เด็กที่ไม่รู้จักกันมาก่อน เมื่อมาเล่นด้วยกันแล้วก็กลายเป็นเพื่อนกัน และสิ่งที่น่าสนใจเราก็จะพบว่าความคิดสร้างสรรค์ของเด็กจะแสดงออกมาให้เห็นอย่างชัดเจนผ่านการเล่นของเขา ท่านผู้อ่านอาจจะนึกภาพตัวท่านเองสมัยเด็กๆ ก็ได้นะครับว่า เราจะมีความสามารถในการสร้างสรรค์การละเล่นต่างๆ ได้ออกมาอย่างมากมาย แต่เมื่อเราโตขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่เราก็จะเล่นน้อยลง และมองว่าการเล่นนั้นกลายเป็นสิ่งไร้สาระ กลายเป็นเรื่องของเด็ก และการเล่นก็จะหายไปจากชีวิตเรา ยกเว้นท่านที่มีลูกที่อาจจะกลับไปเล่นกับลูกบ้างเป็นครั้งเป็นคราว

            แต่พอเราเข้าสู่สังคมแห่งการสร้างสรรค์ การเล่นจะกลับมาเป็นปัจจัยที่สำคัญในชีวิตเรา ไม่ใช่เพียงแค่ว่าการเล่นเพื่อพัฒนาความสามารถในการคิด การนวัตกรรมของเรานะครับ แต่ยังทำให้เรามีความสุข และเป็นการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับบุคคลรอบๆ ข้างด้วย

            ปัจจุบันองค์กรต่างๆ เริ่มนำเรื่องของการเล่นมาใช้ประกอบการจัดทำกิจกรรมกลุ่มภายในองค์กรมากขึ้นนะครับ ลองสังเกตพวกกิจกรรมกลุ่มต่างๆ ที่องค์กรต่างๆ จัดซิครับ เริ่มมีแนวโน้มที่หันไปสู่เรื่องของการเล่นมากขึ้น แต่ทำไมเราต้องรอให้องค์กรจัดกิจกรรมกลุ่มละครับ? ท่านผู้อ่านลองถามตนเองดูนะครับ ว่าครั้งสุดท้ายที่ท่านเล่นนั้นคือเมื่อไร และท่านจะสามารถนำเรื่องของการเล่น มาใช้ในการเตรียมพร้อมตัวท่านเพื่อเข้าสู่สังคมแห่งการสร้างสรรค์ได้อย่างไร