
9 March 2009
ช่วงนี้ผมกลับไปเรียนหนังสืออีกครั้งครับ โดยเข้าร่วมหลักสูตร EDP 3 (Executive Development Program) ของสมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย ซึ่งเป็นหลักสูตรที่ดีครับ ได้เพื่อนใหม่ๆ ในหลายวงการ รวมทั้งได้รับฟังประสบการณ์ตรงของวิทยากรชั้นนำหลายท่าน รวมทั้งทำให้ได้ข้อมูลมาเขียนบทความในวันนี้ด้วยครับ
ช่วงนี้เริ่มเรียนไปได้เกือบทางแล้ว สิ่งที่ผมสังเกตได้จากวิทยากรทุกท่านที่มาพูดให้ฟังก็คือ ทุกท่านจะเน้นและให้ความสำคัญกับเรื่องของการเปลี่ยนแปลงหรือ Change เป็นอย่างมากครับ และดูเหมือนจะเป็น การพูดถึงประเด็นเดียวกันโดยไม่ได้นัดหมายอีกด้วย การเปลี่ยนแปลงไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ส่วนใหญ่แล้วเราเรียนกันแต่หลักการและทฤษฎีของฝรั่งตะวันตก แต่จริงๆ แล้วการเปลี่ยนแปลงในบริบทของไทยและเอเชียนั้นอาจจะไม่สามารถใช้ทฤษฎีฝรั่งได้ร้อยเปอร์เซ็นต์
แนวคิดหนึ่งที่น่าสนใจและกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสำหรับบริษัทชั้นนำหลายแห่งในเอเชียคือใช้หลักการทุบหม้อข้าวของตนเองครับ เหมือนสมัยพระเจ้าตากสินมหาราชที่ทรงให้ทหารทุบหม้อข้าวหม้อแกงก่อนที่จะตีเมืองจันทบุรี ซึ่งพบว่าบริษัทชั้นนำหลายแห่งในเอเชียไม่ว่าจะเป็น Haier ซึ่งเป็นบริษัท ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านชั้นนำของจีน หรือ ซัมซุงของเกาหลี ต่างใช้กลยุทธ์นี้มาแล้วทั้งสิ้น เพียงแต่ของทั้งสองบริษัทนั้นเป็นการทุบทำลายสินค้าของตนเอง เนื่องจากในอดีตนั้นทั้งสองบริษัทอาจจะมีสินค้าที่ไม่มีคุณภาพอยู่บ้าง และผู้บริหารของบริษัทต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในบริษัทจากการผลิตสินค้าราคาไม่แพง คุณภาพไม่ดี มาเป็นสินค้าคุณภาพดีเลิศ ดังนั้นพิธีกรรมทุบทำลายสินค้าของตนเอง ต่อหน้าพนักงานจึงถูกหยิบยกมาใช้ ซึ่งในอดีตพระเจ้าตากสินมหาราชก็ทรงใช้กลวิธีนี้เหมือนกัน ถึงแม้ว่าจะมีวัตถุประสงค์ต่างกัน (ตีเมืองกับมุ่งเน้นสินค้ามีคุณภาพ) แต่ก็ส่งผลต่อจิตใจของบุคลากรและก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้เช่นเดียวกัน ท่านผู้อ่านอาจจะลองนำกลวิธีนี้ไปใช้บ้างนะครับ น่าจะส่งผลทางจิตวิทยาได้พอสมควร
สำหรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนั้นส่วนใหญ่แล้วเกิดขึ้นมาจากสาเหตุสำคัญสองประการคือเปลี่ยนด้วยตนเอง และถูกบังคับให้เปลี่ยน ซึ่งการเปลี่ยนแปลงส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นในเมืองไทยนั้นหนีไม่พ้นการถูกบังคับให้เปลี่ยนครับ ไม่ว่าจะเกิดขึ้นจากกระแสโลกาภิวัตร หรือ เกิดขึ้นจากภาวะการแข่งขัน ได้มีโอกาสฟังคุณสนั่น อังอุบลกุลจากศรีไทยซุปเปอร์แวร์ เล่าให้ฟังถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับศรีไทยฯ ก็น่าสนใจไม่น้อยครับ พวกเราอาจจะยึดติดกับภาพของศรีไทยในฐานะผู้ผลิตจาน ชาม กล่องพลาสติกต่างๆ แต่ปัจจุบันศรีไทยพัฒนาไปไกลกว่านั้นมากครับ และพัฒนาการของศรีไทยนั้นก็เกิดขึ้นจากการบริหารการเปลี่ยนแปลงที่เห็นผล โดยศรีไทยฯ นั้น เริ่มต้นเปลี่ยนแปลงเพราะถูกแรงกดดันจากกระแสโลกาภิวัตรที่เกิดขึ้น และจากกระแสดังกล่าวทำให้ผู้บริหารของศรีไทยฯ ตั้งเป้าหมายที่จะเป็นบริษัทชั้นนำระดับโลก หรือ World Class Company ให้ได้ และการจะเป็นบริษัทชั้นนำระดับโลกได้นั้นบริษัทไทยๆ ที่ตั้งมานานอย่างศรีไทยฯ ก็ต้องเปลี่ยนแปลงครับ
วิธีการเปลี่ยนแปลงของศรีไทยฯ น่าสนใจคือเน้นการเปลี่ยนแปลงที่คนและเทคโนโลยี โดยในส่วนของเทคโนโลยีนั้นก็ได้แสวงหาเทคโนโลยีที่ดีที่สุดในโลก ส่วนคนก็ไปหาผู้เชี่ยวชาญที่เก่งระดับโลกมาทำงานด้วย ซึ่งการนำสิ่งใหม่ๆ เข้ามาในบริษัทที่ตั้งมานานและมีความเป็นไทยนั้นก็ไม่ง่ายนะครับ แต่แนวทางการเปลี่ยนแปลงของคุณสนั่นไม่ได้หักด้ามพร้าด้วยเข่าเหมือนบริษัทฝรั่งทั่วๆ ไป แต่จะเน้นให้บุคลากรได้มีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว มีการพัฒนาบุคลากรอย่างต่อเนื่อง โดยเน้นทั้งการรักษาคนเก่าไว้ และการนำคนใหม่เข้ามา โดยการเปลี่ยนแปลงต่างๆ นั้นทางศรีไทยฯ จะเน้นเรื่องของการสร้างกำลังใจให้กับบุคลากรในทุกระดับอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากคุณสนั่นมองว่าคนไทยนั้นยังไงก็ต้องการกำลังใจจากผู้บริหารเสมอ เนื่องจากทัศนคติและวิธีการคิดของคนเป็นสิ่งที่สำคัญและการเปลี่ยนแปลงนั้นก็ต้องเริ่มจากทัศนคติ
สุดท้ายการเปลี่ยนแปลงทุกอย่างจะสำเร็จหรือไม่นั้นต้องอยู่ที่ผู้นำครับ ผู้นำต้องกล้าตัดสินใจและทำในสิ่งที่คนอื่นคิดว่าทำไม่ได้ ผู้นำต้องกล้าที่จะเปลี่ยนแปลง อย่างไรก็ดีการเปลี่ยนแปลงแบบไทยๆ นั้นอาจจะต้องค่อยเป็นค่อยไป และให้ความสำคัญกับคนและมวลชนเป็นสำคัญครับ
จริงๆ แล้วบทเรียนและประสบการณ์เรื่องการเปลี่ยนแปลงจากการไปเรียนหนังสืออีกครั้งยังมีอีกเยอะนะครับ ไว้จะทยอยนำมาเสนอนะครับ ก่อนจบขอแสดงความยินดีกับนิสิตหลักสูตร BBA International Program ของคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศการแข่งขันการวิเคราะห์กรณีศึกษาทางธุรกิจ USC Marshall International Case Competition 2009 ที่จัดโดย University of Southern California เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาครับ ซึ่งเขาถือกันว่าการแข่งขันนี้เป็นเวทีที่ยากที่สุดแล้วครับ เพราะมีมหาวิทยาลัยชั้นนำมาร่วมแข่งกว่า 30 ทีม และทีมเด็กไทยจากจุฬาฯ ก็สามารถคว้าเอารางวัลที่ 1 มาได้ครับ โดยชนะทีมจากมหาวิทยาลัยดังๆ จากทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็น Wharton, Carnegie Mellon, UC-Berkeley, Texas-Austin, Babson College, National University of Singapore, Manchester ฯลฯ ก็ขอแสดงความยินดีด้วยนะครับ