
15 March 2009
ในช่วงที่เราประสบปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจนั้น คำๆ หนึ่งที่จะพูดถึงกันมากคือเรื่องของการเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าองค์กรจะต้องเปลี่ยนรูปแบบ กลยุทธ์ หรือ นโยบายการดำเนินงาน รวมทั้งบุคลากรในองค์กรก็ต้องเปลี่ยนแปลงวิธีการในการทำงาน ดังนั้นในช่วงวิกฤตปัจจุบันหน้าที่ประการหนึ่งของผู้บริหารก็หนีไม่พ้นเรื่องของการเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง อย่างไรก็ดี การบริหารการเปลี่ยนแปลงนั้นเรามักจะใช้ตำราของโลกตะวันตกมาเป็นคู่มือในการบริหารการเปลี่ยนแปลง ซึ่งก็ไม่ได้หมายความว่าแนวทางการบริหารการเปลี่ยนแปลงของชาติตะวันตกนั้นจะเหมาะสมกับวัฒนธรรมการทำงานของโลกตะวันออกหรือของไทย ดังนั้นถ้าเราจะศึกษาแนวทางในการบริหารการเปลี่ยนแปลงที่เหมาะกับประเทศไทยนั้น การศึกษาจากผู้บริหารและกรณีศึกษาของผู้นำการเปลี่ยนแปลงที่ประสบความสำเร็จในประเทศไทยนั้นกลับเป็นอีกทางออกหนึ่งที่น่าศึกษา
ผมได้มีโอกาสกลับมาเรียนหนังสืออีกครั้งในหลักสูตร EDP 3 ของสมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย ทำให้ได้มีโอกาสรับฟังแนวทางในการบริหารการเปลี่ยนแปลงของผู้บริหารระดับสูงของบริษัทชั้นนำหลายๆ แห่งในเมืองไทย ไม่ว่าจะเป็นปูนซิเมนต์นครหลวง ศรีไทยซุปเปอร์แวร์ ดีแทค เอไอเอส สหพัฒน์ ฯลฯ ทำให้พอจะสรุปได้ว่าการบริหารการเปลี่ยนแปลงสำหรับบริบทไทยๆ นั้น มีแนวทางที่น่าสนใจดังนี้ครับ
คนไทยส่วนใหญ่ไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง การเปลี่ยนแปลงที่เริ่มจากเบื้องบนหรือผู้บังคับบัญชาระดับสูงเพียงอย่างเดียว จะลำบาก ถ้าคนส่วนใหญ่หรือมวลชนไม่เห็นด้วยกับการเปลี่ยนแปลง การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นย่อมเป็นไปได้ด้วยความยากลำบาก แนวคิดของฝรั่งนั้นเขามองว่าการเปลี่ยนจะเกิดขึ้นได้ต้องเริ่มจากผู้บริหารระดับสูง พร้อมทั้งพันธมิตรเพียงไม่เท่าไร ย่อมจะไม่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืน แต่ถ้าการเปลี่ยนแปลงใดก็ตามที่คนส่วนใหญ่หรือมวลชนในองค์กรได้มีส่วนร่วมหรือเห็นชอบด้วย การเปลี่ยนแปลงนั้นย่อมมีโอกาสสำเร็จและยั่งยืนกว่าการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากระดับสูงเพียงอย่างเดียว
นอกจากนี้เมื่อศึกษาประวัติศาสตร์การเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยเราจะพบว่าการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้นในอดีตจะต้องใช้เวลาพอสมควร ไม่ใช่ว่าผู้นำอยากจะทำการเปลี่ยนแปลงในวันนี้แล้วพรุ่งนี้ก็จะสามารถเปลี่ยนแปลงได้ การเปลี่ยนแปลงในสังคมไทยนั้นควรจะมีลักษณะค่อยเป็นค่อยไป ใช้เวลา และมวลชนหรือคนส่วนใหญ่จะต้องมีส่วนร่วมและเห็นชอบด้วย ดังนั้นผู้นำการเปลี่ยนแปลงจะต้องมีความอดทนพอสมควร ผู้บริหารท่านหนึ่งกล่าวไว้เลยครับว่าการเปลี่ยนแปลงหรือเติบโตที่ฝืนธรรมชาติ อาจจะดีหรือได้ผลในระยะสั้น แต่ในระยะยาวแล้วจะไม่ยั่งยืน
ดังนั้นการที่จะทำให้มวลชนหรือคนส่วนมากเห็นด้วยกับการเปลี่ยนแปลงนั้น ตัวผู้นำเองจะต้องสามารถสร้างศรัทธาให้เกิดขึ้นกับคนของตนเองก่อน และที่สำคัญคือเรื่องของการสื่อสารครับ โดยจะต้องสร้างความเข้าใจให้เกิดขึ้นกับคนทั้งหมดให้ได้ โดยเฉพาะความเข้าใจถึงสาเหตุ ความจำเป็น และสิ่งที่กำลังจะทำ และเมื่อคนส่วนมากมีความเข้าใจดังกล่าวแล้วถึงจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงได้
นอกจากนี้ข้อคิดที่สำคัญอีกประการก็คือการเปลี่ยนแปลงที่ชอบพูดถึงกันบ่อยๆ นั้นจริงๆ แล้วสิ่งที่จะต้องทำการเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริงนั้นคือการเปลี่ยนแปลงทัศนคติ และยิ่งภาวะวิกฤตเช่นในปัจจุบันนั้นการเปลี่ยนแปลงทัศนคตินั้นถือว่าเป็นโอกาสและช่วงเวลาที่เหมาะสมที่สุด วิทยากรท่านหนึ่งคือคุณธนา เธียรอัจฉริยะ จากดีแทคกล่าวไว้เลยครับว่ากฎที่สำคัญสำหรับการเปลี่ยนแปลงนั้นมีอยู่สี่ประการคือประการแรกต้องมีความมุ่งมั่น หรือ Passion ในสิ่งที่จะทำ ประการที่ต้องมีความพยายามหรือ Effort ประการที่สามคือจะต้องมุ่งเน้นหรือ Focus และสุดท้ายจะต้องกล้าเสี่ยง มองโอกาสความสำเร็จไว้ ซึ่งแนวทางในการเปลี่ยนแปลงทั้งสี่ข้อนั้นถ้าคิดย้อนกลับมาก็จะพบว่าหนีไม่พ้นอิทธิบาท 4 ซึ่งประกอบไปด้วย ฉันทะ วิริยะ จิตตะ และ วิมังสา นั้นเองครับ เรียกได้ว่าหลักการบริหารในโลกปัจจุบันนั้น ถ้าย้อนกลับไปดูดีๆ ก็สามารถนำหลักของพระพุทธศาสนามาเป็นรากฐานได้ทั้งสิ้นครับ
คำถามสำคัญสุดสำหรับการเปลี่ยนแปลงทั้งหลายนั้นก็คือการเปลี่ยนแปลงที่ต้องการให้เกิดขึ้นนั้นควรจะเริ่มจากไหนครับ? คำตอบที่วิทยากรหลายๆ ท่านให้ตรงกันโดยไม่ได้นัดหมายก็คือ การเปลี่ยนแปลงนั้นจะต้องเริ่มต้นจากตัวเราเองก่อนครับ ท่านที่เป็นผู้บริหารและต้องการให้คนในองค์กรท่านเปลี่ยนต้องถามตัวเองก่อนครับว่าแล้วตนเองทำการเปลี่ยนแปลงหรือยัง? เนื่องจากเรามักจะยึดติดกับตัวตนและไม่เคยคิดเลยครับว่าตนเองต้องเปลี่ยนแปลง แต่จะชอบคิดว่าคนรอบข้างจะต้องเปลี่ยนแปลงทุกคน (ยกเว้นตนเอง) แต่จริงๆ แล้วผู้บริหารที่อยากจะให้ลูกน้องเปลี่ยแปลงนั้น ต้องเปลี่ยนตนเองให้ได้ก่อนครับ เพราะถ้าเปลี่ยนตนเองไม่ได้แล้ว ก็ยากที่จะทำให้ผู้อื่นคล้อยตามหรือเปลี่ยนตามได้ และจากการที่สิ่งที่เปลี่ยนยากที่สุดคือตนเองนั้น ถ้าเราสามารถเปลี่ยนตนเองได้นั้น การเปลี่ยนแปลงผู้อื่นย่อมตามมาไม่ยากหรอกครับ
ใครก็ตามที่จะสอน จะพูด หรือ จะนำการเปลี่ยนแปลงได้นั้น ต้องย้อนกลับมาถามตัวเองเสมอนะครับว่าตนเองเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง โดยเฉพาะท่านผู้บริหารระดับสูงที่เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงทั้งหลาย ท่านจะนำให้คนในองค์กรเกิดการเปลี่ยนแปลงได้ ท่านก็อย่าลืมเปลี่ยนแปลงตนเองด้วยนะครับ ไม่ใช่ว่าสุดท้ายทุกคนในองค์กรพยายามปรับเปลี่ยนเพื่อให้องค์กรดีขึ้น แต่ผู้บริหารระดับสูงยังทำตัวเหมือนเดิม แล้วเราจะเปลี่ยนแปลงไปเพื่ออะไร?