4 January 2009

สวัสดีปีใหม่ครับท่านผู้อ่านทุกท่าน ปีใหม่ 2552 นี้ ผมอยากจะตั้งชื่อไว้เลยครับว่าควรจะเป็นปีแห่งความไม่ประมาทครับ เชื่อว่าเพียงแค่เปิดศักราชมาไม่กี่วันท่านผู้อ่านได้ยินหรือได้อ่านเกี่ยวกับเรื่องความไม่ประมาทอย่างมากมาย ไม่ว่าจะเป็นระดับประเทศ ด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคม หรือ ด้านบุคคล และผมก็เชื่อว่าในปี 2552 นี้ท่านผู้อ่านทุกท่านคงตั้งมั่นในความไม่ประมาทในด้านต่างๆ ตั้งแต่ความไม่ประมาทในการดำรงชีวิตประจำวัน เช่นในปัจจุบันหลายท่านเวลาไปทานข้าว หรือ ไปเที่ยวตามผับ ก็คงจะมองหาทางหนีทีไล่กันมากขึ้น หรือ ความไม่ประมาทในการทำงานและดำเนินธุรกิจ ซึ่งเราจะเห็นตัวอย่างจากบริษัทต่างๆ กันตั้งแต่ช่วงสิ้นปี ผมเองพบเจอหลายๆ บริษัทมากครับว่าในปี 2552 นั้นตัวชี้วัดที่สำคัญของบริษัทไม่ใช่เรื่องของกำไรหรือยอดขายหรือส่วนแบ่งตลาดอีกต่อไปครับ แต่กลับเป็นเรื่องของกระแสเงินสด และ สินค้าคงเหลือเสียมากกว่า หรือ สำหรับท่านที่เป็นมนุษย์เงินเดือน ก็จะเริ่มลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น หลายท่านที่มีความคิดที่จะย้ายงานก็เริ่มเก็บความคิดนั้นไว้ก่อน หรือ หลายๆ ท่านก็เริ่มหาแผนสำรองกันไว้แล้ว อย่างบรรดาลูกศิษย์ของผมที่จุฬาฯ หลายๆ คนก็เตรียมเรียนต่อกันแล้วครับ เนื่องจากการหางานสำหรับบัณฑิตจบใหม่ในช่วงนี้ไม่ใช่สิ่งที่ง่ายเลย

            ดังนั้นสรุปได้เลยนะครับว่าปี 2552 นี้ถือเป็นปีแห่งความไม่ประมาทในทุกๆ ด้าน ทุกๆ ระดับเลยครับ คำถามสำคัญต่อมาก็คือ จะมีแนวทางหรือแนวคิดอะไรบ้างที่จะมาช่วยเราในการสร้างความระมัดระวังและไม่ประมาทขึ้นมา ผมก็เลยขอสรุปและรวบรวมแนวคิดและหลักการที่สำคัญนะครับ โดยมุ่งเน้นไปในเรื่องของการบริหารองค์กรเป็นหลักครับ แต่ก็เชื่อว่าแนวคิดเหล่านี้ก็สามารถปรับใช้ได้อย่างดีกับการดำเนินชีวิตประจำวันเช่นเดียวกัน

            แนวคิดแรกที่คงจะคุ้นเคยกันก็หนีไม่พ้นเรื่องของการบริหารความเสี่ยงหรือ Risk Management ครับ ซึ่งในปัจจุบันบริษัทและหน่วยราชการส่วนใหญ่ก็มีการบริหารความเสี่ยงกันถ้วนหน้าอยู่แล้ว เพียงแต่ในปีนี้เชื่อว่าทุกหน่วยงานคงจะต้องเข้มกับเรื่องของการบริหารความเสี่ยงกันมากขึ้น และอยากจะฝากให้ว่าเราอย่ามองเรื่องของการบริหารความเสี่ยงเป็นการดำเนินการตามระเบียบ ข้อบังคับ หรือ เป็นสิ่งที่ต้องทำเพราะเขาบอกให้ทำนะครับ (หน่วยงานหลายๆ แห่งจะคิดกันแบบนี้) ดังนั้นการบริหารความเสี่ยงที่จัดทำกันจึงมักจะเป็นสิ่งที่ต้องทำตามข้อบังคับ ตามระเบียบเสียมากกว่า และความเสี่ยงที่พิจารณาก็มักจะเป็นความเสี่ยงจากการดำเนินงานเป็นหลัก จึงอยากจะเชิญชวนองค์กรทั้งหลายหันมาให้ความสนใจและความสำคัญต่อความเสี่ยงทางกลยุทธ์หรือ Strategic Risks กันมากขึ้นครับ เนื่องจากความเสี่ยงทางด้านกลยุทธ์นั้นถือเป็นปัจจัยเสี่ยงที่มีผลต่อความอยู่รอดของแต่ละองค์กรเลยทีเดียว

            นึกง่ายๆ ว่าความเสี่ยงทางด้านกลยุทธ์ คือปัจจัยเสี่ยงที่จะส่งผลต่อการประสบความสำเร็จทางกลยุทธ์ขององค์กร ไม่ว่ากลยุทธ์ขององค์กรจะเป็นเรื่องของอะไรก็แล้วแต่ ผู้บริหารควรจะเริ่มพิจารณาทั้งปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอกกันมากขึ้นว่าจะมีปัจจัยใดบ้างที่จะส่งผลต่อความสำเร็จและความอยู่รอด จากนั้นกระบวนการในการเฝ้าระวัง การติดตามอย่างใกล้ชิด และการเตือนภัยด้วยความรวดเร็ว ก็เป็นสิ่งที่ต้องสร้างกันต่อมาครับ ก็ขอฝากแนวคิดหรือเครื่องมืออย่างแรกสำหรับการบริหารองค์กรอย่างไม่ประมาทไว้พิจารณานะครับ

            แนวคิดประการที่สองคือเรื่องของการผูกค่าตอบแทนหรือสิ่งจูงใจเข้ากับผลการดำเนินงาน ซึ่งปัจจุบันองค์กรธุรกิจจำนวนมากได้นำหลักการเรื่องนี้มาปรับใช้ ประสบความสำเร็จบ้าง ล้มเหลวบ้าง ในปี 2552 นี้ถ้าองค์กรของท่านยังคงผูกผลตอบแทนหรือสิ่งจูงใจของพนักงานหรือผู้บริหารเข้ากับบรรดาผลการดำเนินงานหรือตัวชี้วัดต่างๆ ก็อยากจะฝากข้อแนะนำไว้ว่าขอให้มุ่งเน้นการผูกผลตอบแทนเข้ากับตัวชี้วัดที่สะท้อนผลการดำเนินงานขององค์กรในระยะยาวหน่อยนะครับ อย่าไปผูกกับตัวชี้วัดที่เป็นระยะสั้นๆ เช่นกำไรเพียงอย่างเดียว เนื่องจากจะเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้บริหารมุ่งเน้นกำไรหรือผลตอบแทนระยะสั้นในช่วงวิกฤตนี้เท่านั้น แต่ละเลยการมองถึงการเติบโตขององค์กรเมื่อวิกฤตผ่านพ้นไป ดังนั้นเพื่อเป็นการไม่ประมาทสำหรับการเติบโตในระยะยาวขององค์กร อย่าลืมมุ่งเน้นตัวชี้วัดที่เป็นระยะยาวบ้างนะครับ

            ข้อเสนอสุดท้ายสำหรับสัปดาห์นี้คือต้องทำให้ทุกคนในองค์กรไม่ประมาทด้วยนะครับ ผู้บริหารต้องเปิดเผยข้อมูลจริงให้พนักงานได้รับทราบ ให้ข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริงให้กับพนักงาน ไม่ใช่คอยแต่หยอดคำหวานหรือยังมองโลกในแง่ดีเกินไป ในขณะเดียวก็ไม่ใช่มองโลกในแง่ร้ายจนเกินไป ข้อเท็จจริงที่ผู้บริหารสื่อสารไปนั้น จะช่วยให้พนักงานในองค์กรได้รับรู้และตระหนักถึงระดับความสำคัญและรุนแรงของปัญหาที่เกิดหรือจะเกิดขึ้น เพื่อที่สุดท้ายแล้วทุกคนจะได้ไม่ประมาทครับ