23 October 2008

การเข้ามาเป็นผู้บริหารสูงสุดขององค์กรหรือของประเทศนั้น อาจจะเป็นความฝันและความปราถนาสำหรับใครหลายๆ คน ไม่ว่าจะเป็นนักธุรกิจ ข้าราชการ หรือ นักการเมือง การได้นั่งตำแหน่งบริหารสูงสุดขององค์กรของตนนั้นเปรียบเสมือนเป็นเป้าหมายสูงสุดในการทำงาน แต่เชื่อว่าท่านที่ปัจจุบันนั่งอยู่ในตำแหน่งดังกล่าวคงจะเห็นพ้องต้องกันว่าจริงๆ แล้วการได้นั่งในตำแหน่งดังกล่าวถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของสิ่งต่างๆ และสิ่งต่างๆ ที่ต้องเผชิญนั้น อาจจะเป็นสิ่งที่ไม่เคยคิดหรือเคยฝันมาก่อนว่าจะต้องเผชิญ

            Michael E. Porter ปรมาจารย์ทางด้านกลยุทธ์ชื่อดังจาก Harvard Business School ได้ออกหนังสือใหม่มาเล่มหนึ่งชื่อ On Competition ซึ่งจริงๆ ก็ไม่ได้ใหม่ถอดด้ามหรอกครับ เนื่องจากเป็นการนำบทความชื่อดังที่เขามีอยู่แล้ว มารวบรวมไว้ รวมทั้งมีการเขียนเพิ่มเติมไปบ้างในบางบทความ มีบทความหนึ่งที่เขาเขียนขึ้นมาใหม่ร่วมกับ Jay W. Lorsch และ Nitin Nohria จาก Harvard เช่นเดียวกัน ที่พูดถึง Surprises หรือ สิ่งที่ CEO หน้าใหม่ๆ จะต้องพบเจอความคาดไม่ถึงในเรื่องต่างๆ อยู่พอสมควร เมื่อท่านก้าวขึ้นมาเป็นผู้บริหารสูงสุด ท่านอาจจะมีความคาดหวังที่จะเผชิญกับเหตุการณ์แบบหนึ่ง แต่เมื่อท่านขึ้นมาเป็นผู้บริหารสูงสุดแล้ว ท่านอาจจะพบเจอสิ่งที่ท่านคาดไม่ถึงก็เป็นได้ครับ เรามาลองดูนะครับว่าท่านหรือคนที่ท่านรู้จักได้พบเจอความแปลกใจต่างๆ เหล่านี้บ้างหรือไม่

            เรามักจะคิดว่าคนที่เป็นผู้บริหารสูงสุดนั้น จะต้องทำหน้าที่ในการวางกลยุทธ์ กำหนดทิศทาง และมองภาพใหญ่ ภาพรวมขององค์กร แต่ถึงเวลาจริงๆ แล้ว ท่านจะพบว่าผู้บริหารสูงสุดกลับไม่ได้เป็นผู้บริหารองค์กรอย่างแท้จริง ท่านอาจจะจมอยู่กับการประชุมที่มีตลอดทั้งวัน และเรื่องในที่ประชุมนั้นก็เต็มไปด้วยเรื่องเกี่ยวกับการดำเนินงาน ซึ่งไม่ใช่เรื่องในเชิงกลยุทธ์หรือนโยบายแต่อย่างใด

            ในอีกประเด็นหนึ่งนั้นเรามักจะคิดว่าผู้บริหารสูงสุดคือผู้ที่ทำการตัดสินใจสุดท้ายขององค์กร ซึ่งถ้าท่านทำแบบนั้นเมื่อไร ท่านก็จะพบว่าตัวท่านเองก็จะทำตัวเสมือนคอขวดที่ทำให้งานต่างๆ ในองค์กรไม่สามารถก้าวไปได้ ในขณะเดียวกันลูกน้องก็จะสูญเสียความสามารถในการตัดสินใจ เนื่องจากก่อนจะตัดสินใจอะไร ก็ต้องผ่านความเห็นของตัวผู้บริหารสูงสุดเสียก่อน

            นอกจากนี้ท่านอาจจะมีความเข้าใจผิดว่าผู้บริหารสูงสุดควรจะต้องรู้ ความเป็นไปที่สำคัญต่างๆ ขององค์กร แต่ท่านอาจจะพบว่าหลายครั้งที่ท่านอาจจะเป็นคนสุดท้ายในองค์กรที่รู้เรื่องราวต่างๆ ลองสังเกตดูซิครับว่าหลายครั้งผู้บริหารสูงสุดอาจจะเป็นคนที่รู้เรื่องราวต่างๆ เมื่อเหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นไปแล้ว แม้กระทั่งในเรื่องของพฤติกรรมและการแสดงออกของท่านเองก็จะเป็นการสื่อสารและส่งสัญญาณที่ท่านไม่รู้ตัวให้ลูกน้องท่านทราบ เนื่องจากเมื่อท่านก้าวไปเป็นผู้บริหารสูงสุดแล้ว คำพูดหรือการกระทำต่างๆ ของท่าน ต่างเป็นการส่งสัญญาณให้ลูกน้องของท่านทราบถึงสิ่งที่ท่านต้องการ ท่านชอบ หรือ ไม่ชอบ ทั้งสิ้น

            ผู้บริหารสูงสุดหลายท่านเองอาจจะมีความรู้สึกว่าตนเองไม่ได้เป็นผู้บริหารสูงสุดที่แท้จริง เนื่องจากว่ายังมีคณะกรรมการบริษัท รวมทั้งเจ้าของบริษัท (ในกรณีที่เป็นบริษัทในครอบครัว) ค้ำอยู่ การตัดสินใจหลายๆ เรื่องของท่านอาจจะถูกพลิกกลับได้ด้วยความคิดเห็นของกรรมการบริษัท และจะทำให้ภาพระหว่างผู้บริหารสูงสุดกับกรรมการบริษัทไม่ชัดเจนในสายตาลูกน้อง สุดท้ายครับคือผู้บริหารสูงสุดทุกท่านยังคงเป็นมนุษย์เดินดิน เหมือนพวกเราทั้งหลายนะครับ

            Porter ให้ข้อเสนอแนะสำหรับบรรดาผู้บริหารสูงสุดที่เพิ่งก้าวขึ้นไปรับตำแหน่งว่า การก้าวขึ้นมาเป็นผู้บริหารสูงสุดขององค์กรได้นั้น ไม่ได้หมายความว่าท่านมีสิทธิ์เต็มที่ ที่จะชี้นำและบริหารองค์กร รวมทั้งสามารถรับประกันได้ว่าทั้งองค์กรจะมีความภักดีต่อท่าน ผู้บริหารสูงสุดจะต้องทำในสิ่งที่ถูกที่ควร เพื่อให้ตนเองได้รับความเคารพ ความศรัทธาจากบรรดาคนในองค์กรอย่างแท้จริง ความสำเร็จในการนำองค์กรของพวกเขาขึ้นอยู่กับความสามารถในการทำให้คนในองค์กรเห็นชอบและพร้อมจะปฏิบัติตาม มากกว่าเพียงแค่การสั่งการและบังคับบัญชา

            สุดท้ายและสำคัญสุดคือท่านผู้บริหารสูงสุด อย่ายึดติดและหลงกับคำว่า “ผู้บริหารสูงสุด” ของท่าน เพราะสุดท้าย ท่านเองก็ยังเป็นมนุษย์ปุถุชนอยู่เหมือนคนอื่นๆ เขาครับ ถ้าลืมในสิ่งนี้เมื่อใด ก็มักจะนำไปสู่ความก้าวร้าว ความหยิ่ง และท่านก็จะอยู่ในตำแหน่งได้ไม่นาน ท่านจะต้องอย่าหลงในอำนาจ ตำแหน่งที่มีอยู่ มิฉะนั้นการตัดสินใจต่างๆ ของท่านก็จะไม่ได้เป็นเพื่อประโยชน์ขององค์กรท่านในระยะยาว แต่จะเป็นเพื่อประโยชน์ของตัวท่านเองเท่านั้น ซึ่งตัวอย่างของผู้บริหารสูงสุดประเภทนี้ก็สามารถพบเจอได้พอสมควรทั้งในแวดวงธุรกิจและการเมือง

            ก่อนจบขอฝากข่าวอีกครั้งครับ ในงานสัมมนาครบรอบ 70 ปีของคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี ในวันพฤหัสที่ 30 ตุลาคมนี้ จะมีอยู่ช่วงหนึ่งที่เป็นการขึ้นเวทีร่วมกันครั้งแรกของ รศ.ดร.วรศักดิ์ ทุมมานนท์ จากภาควิชาการบัญชี รศ.ดร.พรอนงค์ บุษราตระกูล จากภาควิชาการธนาคารและการเงิน และผม โดยเราจะมาอภิปรายกันในเรื่องของ นวัตกรรม: การเติบโต ความเสี่ยง และการควบคุมครับ ซึ่งถือเป็นมุม มองใหม่ในเรื่องของนวัตกรรมครับ ถ้าท่านผู้อ่านสนใจก็โทร.สอบถามได้ที่ 02-218-5867 นะครับ