18 October 2008

สัปดาห์นี้พักจากเรื่องบ้านเมือง กลับมาเรื่องของการบริหารองค์กรกันต่อนะครับ ข้อสังเกตประการหนึ่งที่ผมพบ โดยเฉพาะกับคนทำงานรุ่นใหม่ๆ คือเรื่องของความมุ่งมั่น ภักดี และกระตือรือร้นต่อการทำงานครับ เชื่อว่าผู้บริหารองค์กรทุกแห่งอยากจะเห็นพนักงานของตนมีความกระตือรือร้น มุ่งมั่น รับผิดชอบ ในการทำงานอย่างเต็มที่ แต่ได้พบเจอผู้บริหารหลายๆ ท่านก็มักจะบ่นให้ฟังถึงแต่เรื่องนี้กันเป็นแถว หลายองค์กรพยายามหาเครื่องมือหรือแนวทางใหม่ๆ ในการทำให้พนักงานเกิดความมุ่งมั่นและกระตือรือร้นในการทำงาน ปัจจุบันคำๆ หนึ่งที่คนในแวดวงธุรกิจได้ยินกันบ่อยมากขึ้นคือ Employee Engagement ครับ หลายๆ องค์กรเริ่มมีการวัด Employee Engagement กันพอสมควร ถึงแม้ว่า Engagement จะเป็นคำที่ค่อนข้างใหม่ แต่จริงๆ แล้วถ้าไปดูที่ตัวความหมายเบื้องหลัง เราจะพบว่าแนวคิดนี้มีมานานพอสมควรแล้ว นั้นคือทำอย่างไรให้พนักงานเกิดความมุ่งมั่น ความตั้งใจ และความรับผิดชอบในการทำงาน

            ผมเองก็ประสบกับตัวเองมาหลายๆ ครั้งเมื่อเจอพนักงานองค์กรต่างๆ พวกเขาเหล่านั้นก็ต่างบอกว่าตนเองก็รับผิดชอบต่องานที่ทำ แต่เมื่อพูดคุยกับผู้บริหารแล้ว สิ่งที่พบคือคำว่ารับผิดชอบนั้น ก็คือถ้านายสั่งงานไปก็ทำ แล้วก็ทำเท่าที่นายสั่งงานมา แต่พนักงานเหล่านี้ดูเหมือนว่าจะขาดความกระตือรือร้น ขาดความมุ่งมั่น ขาดความคิดริเริ่มใหม่ๆ ในการทำงาน แนวคิดหรือความริเริ่มใหม่ๆ ในการทำงานมักจะมาจากตัวผู้บริหารระดับสูงหรือคนหน้าเดิมๆ เพียงไม่กี่กลุ่ม ในขณะที่พนักงานส่วนใหญ่ทำงานในลักษณะให้เป็นไปตามหน้าที่ ความรับผิดชอบเท่านั้น แต่ขาดความมุ่งมั่นและทุ่มเทที่จะพัฒนาองค์กรที่อยู่ให้เจริญก้าวหน้ากว่าที่เป็นในปัจจุบัน

            จริงๆ ปัญหานี้ผมเองก็นำเสนอผ่านทางบทความนี้ไปหลายครั้งแล้วเหมือนกันครับ และเราก็มักจะพบว่าปัญหาที่เกิดขึ้นบางครั้งไม่ได้เกิดจากตัวพนักงานเป็นต้นเหตุ แต่เกิดขึ้นจากตัวผู้บริหาร บรรยากาศและสภาวะแวดล้อมในการทำงานเป็นหลัก มีงานวิจัยที่ชี้ให้เห็นว่าพนักงานส่วนใหญ่ยิ่งอยู่กับองค์กรนานขึ้น ระดับของ Engagement จะยิ่งลดลงครับ ท่านผู้อ่านลองสังเกตดูนะครับ จะพบว่าเมื่อเป็นพนักงานเข้าใหม่นั้น ดูเหมือนว่าน้องๆ เหล่านั้นจะมีความกระตือรือร้น ความมุ่งมั่น ความตั้งใจในการทำงานสูง พนักงานใหม่มักจะร้อนวิชา พยายามนำเสนอแนวทางหรือวิธีการใหม่ๆ ในการทำงานอย่างต่อเนื่อง แต่เมื่ออยู่นานเข้าหรือได้ซึมซับวัฒนธรรมการทำงานขององค์กรไปนานๆ เข้า ความกระตือรือร้น ความมุ่งมั่น ความตั้งใจเหล่านั้น ก็ดูเหมือนจะค่อยๆ ลดลงเรื่อยๆ ตามกาลเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าระหว่างการทำงานพนักงานเหล่านั้น มีความรู้สึกว่าตนเองไม่ได้รับการสนับสนุน การยอมรับ การชมเชย ในสิ่งที่ตนเองทำไป ความมุ่งมั่น กระตือรือร้นเหล่านั้น ก็จะค่อยๆ ลดลงไปเรื่อยๆ ครับ

            Gallup ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษายักษ์ใหญ่ในด้าน Engagement (มีบริษัทหลายแห่งในเมืองไทยที่ใช้บริการเขาอยู่ด้วยครับ) ได้ประมาณออกมาว่าในอเมริกา การที่พนักงานขาดความมุ่งมั่น กระตือรือร้น ตั้งใจในการทำงานนั้น ส่งผลต่อเศรษฐกิจของอเมริกาถึงปีละ $300 พันล้านเหรียญสหรัฐต่อปี รวมทั้งมีพนักงานกว่าร้อยละ 17 ของคนทำงานในสหรัฐทั้งหมดที่มีลักษณะ Disengaged ครับ โดยพวกพนักงานที่ Disengaged เหล่านี้สร้างความสูญเสียในด้านผลิตภาพให้กับนายจ้างของพวกเขา คนละ $13,000 ต่อปี

            ในเมืองไทยเองยังไม่มีการศึกษาหรือตัวเลขพวกนี้ออกมานะครับ แต่ก็เชื่อว่าความสูญเสียจากบุคลากรในองค์กรที่มีลักษณะ Disengaged ก็คงมีไม่น้อยเหมือนกันครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคราชการแล้ว มีข้อสงสัยเหมือนกันว่าระดับของ Engagement ของข้าราชการนั้นเมื่อเปรียบเทียบกับภาคเอกชนแล้ว เป็นอย่างไร

            มีตัวเลขผลการวิจัยในระบบราชการของประเทศอังกฤษ พบว่าร้อยละ 12 นั้นเป็นพวกที่ highly engaged ส่วนอีกร้อยละ 22 เป็นพวก disengaged ครับ ในขณะที่พวกที่ engaged นั้นก็เชื่อว่าตนเองสามารถ ทำให้องค์กรดีขึ้นได้ นอกจากนี้พวกที่มุ่งมั่นและตั้งใจนั้น จะมีวันลาป่วยโดยเฉลี่ย 2.69 วันต่อปี ส่วนพวกไม่มุ่งมั่นนั้นจะลาป่วย 6.19 วันต่อปีครับ – ก็เป็นสิ่งที่น่าสนใจและน่าศึกษานะครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบราชการของไทย

            ประเด็นสุดท้ายคือจะรู้ได้อย่างไรว่าพนักงานเริ่มที่จะไม่สนใจ ไม่มุ่งมั่น ไม่ตั้งใจ ไม่รับผิดชอบต่องานของตนเอง หรือ ที่เรียกว่า Disengaged ท่านผู้อ่านลองสังเกตพฤติกรรมเหล่านี้ดูนะครับ ว่าลูกน้องของท่านไม่ค่อยยอมที่จะก้าวขึ้นมารับผิดชอบต่องานต่างๆ เมื่อมีปัญหาหรือโอกาสเกิดขึ้น ก็มักจะหาทางหลบเลี่ยง ไม่ค่อยแบ่งปันข้อมูลกับผู้อื่น หรือ เริ่มชอบที่จะแยกมาอยู่โดดเดี่ยวมากขึ้น ถ้าพบอาการเหล่านี้ท่านผู้บริหารทั้งหลายคงจะต้องรีบหาทางรักษาและเยียวยาโดยด่วนนะครับ ที่สำคัญอย่าลืมว่าทุกคนต้องการให้คนอื่นเห็นถึงคุณค่าหรือความสำคัญของตนเองทั้งสิ้นครับ

            ก่อนจบฝากข่าวประชาสัมพันธ์เช่นเคยครับ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ จะครบรอบ 70 ปี ทางคณะร่วมกับทางสมาคมนิสิตเก่าฯ จึงจัดงานสัมมนาทางวิชาการขึ้นครับ โดยจะจัดในวันที่ 30 ตุลาคมนี้ เรื่อง Implanting Innovation into Corporate DNA ซึ่งนอกเหนือจากคณาจารย์จากคณะแล้วยังมีศิษย์เก่าที่ประสบความสำเร็จของคณะมาร่วมพูดคุยด้วย อาทิ คุณธนะชัย  สันติชัยกูล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เนชั่นมัลติมิเดีย กรุ๊ป คุณภัทรียา เบญจพลชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย คุณชัยวัฒน์ อุทัยวรรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารนครหลวงไทย และคุณวิสิฐ ตันติสุนทร เลขาธิการคณะกรรมการกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ถ้าสนใจก็โทร.มาสอบถามรายละเอียดได้ที่ 02-218-5867 นะครับ