11 October 2008

ในขณะที่สถานการณ์ในเมืองไทยยังไม่ราบรื่นดี ท่านผู้รู้หลายๆ ท่าน ก็พยายามหาทางออกด้วยวิธีการต่างๆ นานา กันอยู่ ผมขออนุญาตมองข้ามช้อตไปหน่อยว่าเมื่อเหตุการณ์ทุกอย่างหาทางออกได้แล้ว ประเทศไทยจะก้าวต่อไปอย่างไร จะพัฒนาต่อไปอย่างไร? ท่านผู้อ่านบางท่านอาจจะคิดว่าผมมองยาวเกินไป เนื่องจากเรายังหาทางออกหรือทางเลือกใหม่ที่เหมาะสมสำหรับสถานการณ์การเมืองในปัจจุบันยังไม่ได้เลย แต่ผมคิดว่าเราน่าจะเริ่มคิดถึงพัฒนาการของเมืองไทยในระยะยาวได้แล้วนะครับ โดยเฉพาะบรรดาเกจิทางด้านเศรษฐกิจทั้งหลาย ควรจะเริ่มหาทางเลือกและทางออกสำหรับประเทศไทยในระยะยาวกันได้แล้ว
ผมเองเพิ่งเดินทางกลับจากเยี่ยมเยียนมหาวิทยาลัยต่างๆ ในสหรัฐร่วมกับคณาจารย์ของคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ และข้อสังเกตที่พบก็คือในขณะนี้ต่างประเทศเขาให้ความสนใจกับภาวะวิกฤตทางด้านการเงินที่กำลังเกิดขึ้นไปทั่วโลก จากจุดเริ่มต้นของปัญหาที่ธนาคารและสถาบันการเงินต่างๆ ของอเมริกา และในปัจจุบันก็ได้ลามไปถึงทางฝั่งยุโรปกันแล้ว ปัญหาที่เกิดขึ้นในขณะนี้ถือว่าเป็นปัญหาระดับโลก ที่ตอนนี้ทุกฝ่ายต่างหันหน้าเข้ามาหาทางบรรเทาและแก้ไข ตอนนี้สิ่งที่ทุกคนหวาดกลัวก็คือปัญหาเศรษฐกิจระดับโลกในครั้งนี้จะลุกลามและใหญ่โตกว่าเหตุการณ์ต่างๆ ที่เคยเกิดขึ้นมาในอดีต
จริงอยู่นะครับว่าหลายท่านอาจจะรู้สึกว่าเรื่องนี้ยังค่อนข้างไกลตัวเราอยู่ เนื่องจากสาขาของธนาคารต่างประเทศที่อยู่ในประเทศไทยไม่ว่าจะมาจากทางฝั่งอเมริกาหรืออังกฤษ ต่างก็ยังออกมาประกาศถึงความมั่นคงและเสถียรภาพของตนเองในประเทศไทย ในขณะเดียวกันสถาบันการเงินของไทยก็ยังดูมั่นคง เหมือนไม่ได้รับผลกระทบใดๆ ทั้งสิ้น แต่ถ้าเรามองดูดีๆ นะครับ เราจะเห็นว่าภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลกที่กำลังเกิดขึ้นนี้จะส่งผลกระทบต่อประเทศไทยอย่างไรบ้าง
ถ้ามองที่รายได้หลักของประเทศไทยก็คงหนีไม่พ้นรายได้หลักจากการส่งออกและรายได้จากการท่องเที่ยว แต่เมื่อประเทศหลักๆ ที่เราส่งออกไปไม่ว่าจะเป็นอเมริกาหรือทางยุโรปเริ่มประสบปัญหาด้านภาวะเศรษฐกิจ ท่านผู้อ่านลองนึกง่ายๆ ก็ได้นะครับว่าประชาชนเหล่านี้จะบริโภคสินค้าต่างๆ น้อยลง จะประหยัดการใช้จ่ายมากขึ้น เมื่อประชากรโลกตัดการใช้จ่ายลงไป สินค้าต่างๆ ที่ประเทศไทยเคยส่งออกได้ก็จะเริ่มประสบปัญหา บรรดาโรงงาน ธุรกิจต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกก็จะเริ่มประสบปัญหา ซึ่งก็จะเป็นลูกโซ่ต่อเนื่องกันไปเรื่อยๆ ในขณะเดียวกัน เมื่อเกิดปัญหาเศรษฐกิจ ค่าใช้จ่ายในการท่องเที่ยวต่างประเทศก็จะเป็นอีกตัวหนึ่งที่จะถูกลดลง ชาวต่างประเทศจะหันไปเที่ยวภายในประเทศมากขึ้น นักท่องเที่ยวที่จะมาเมืองไทยก็จะลดน้อยลง ประกอบกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ก็ขู่ขวัญนักท่องเที่ยวกันพอสมควรอยู่แล้วครับ ตอนที่ผมกลับจากอเมริกา จะต้องแวะเปลี่ยนเครื่องที่ญี่ปุ่น ท่านผู้อ่านเชื่อไหมครับว่าไฟลท์โตเกียว – กรุงเทพ บนสายการบิน ANA นั้น มีผู้โดยสารไม่ถึงครึ่งลำ ทุกคนสามารถนอนกันมายาวๆ ได้สบายเลย แถมรายงานข่าวที่ฉายบนเครื่องบิน ซึ่งรับรายการข่าวของ NHK มาก็รายงานข่าวเหตุกาณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยอีก
ผมว่าตอนนี้ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดนโยบายของประเทศ จะต้องมองปัญหาสองจุด และสองระดับเลยครับ ระดับแรกคือปัญหาทางการเมืองที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ระดับที่สองคือผลกระทบที่ประเทศไทยจะได้รับจากภาวะวิกฤติทางเศรษฐกิจที่กำลังลามไปทั่วโลก ตอนนี้ความสนใจของคนไทยอยู่ที่ข่าวสารบ้านเมือง แต่ก็อยากจะให้ท่านผู้อ่านได้เหลือบดูปัญหาภาวะเศรษฐกิจที่กำลังเป็นอยู่ในปัจจุบันบ้างนะครับ
สิ่งที่น่ากลัวคือในขณะที่ประเทศอื่นๆ เขาเตรียมพร้อมที่จะรับมือต่อภาวะวิกฤติที่กำลังเกิดขึ้นอยู่แล้ว เมื่อประเทศไทยรู้ตัว มีทางออกทางการเมืองที่เหมาะสม และพร้อมที่จะเดินหน้าขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทยต่อไป แล้วประเทศไทยจะอยู่ ณ จุดใด เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ที่เขามีการเตรียมพร้อมและมุ่งความสนใจไปที่ปัญหาภาวะเศรษฐกิจมากกว่าเรา
อ่านไปก็น่าห่วงนะครับ ดูข่าวดีๆ บ้างดีกว่าครับ เนื่องจากปีนี้คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ จะครบรอบ 70 ปี ทางคณะร่วมกับทางสมาคมนิสิตเก่าฯ จึงจัดงานสัมมนาทางวิชาการขึ้นครับ โดยจะจัดในวันที่ 30 ตุลาคมนี้ เรื่อง Implanting Innovation into Corporate DNA ซึ่งนอกเหนือจากคณาจารย์จากคณะแล้วยังมีศิษย์เก่าที่ประสบความสำเร็จของคณะมาร่วมพูดคุยด้วย อาทิ คุณธนะชัย สันติชัยกูล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เนชั่นมัลติมิเดีย กรุ๊ป คุณภัทรียา เบญจพลชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย คุณชัยวัฒน์ อุทัยวรรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารนครหลวงไทย และคุณวิสิฐ ตันติสุนทร เลขาธิการคณะกรรมการกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ถ้าสนใจก็โทร.มาสอบถามรายละเอียดได้ที่ 02-218-5867 นะครับ