30 September 2008

เราคงไม่ต้องพูดถึงเรื่องของความตื่นตัวทางด้านนวัตกรรมที่มีในแวดวงการบริหารจัดการในปัจจุบันนะครับ กระแสเรื่องนวัตกรรมได้พัดผ่านไปในทุกๆ วงการไม่ว่าจะเป็นด้านการศึกษา หรือ ด้านธุรกิจ แม้กระทั่งในด้านการเมืองที่เรากำลังพยายามแสวงหาทางออกทางการเมือง ด้วยการเมืองรูปแบบใหม่ ซึ่งถ้าจะเรียกให้สวยๆ ก็เป็นนวัตกรรมทางการเมืองได้เช่นเดียวกันครับ

            คำถามหนึ่งที่น่าสนใจก็คือการที่องค์กรต่างๆ ให้ความสนใจและสำคัญกับนวัตกรรมเพิ่มขึ้นอย่างมากมายในช่วงที่ผ่านมานั้น สุดท้ายแล้วทำให้ผลการดำเนินงานขององค์กรดีขึ้นจริงหรือไม่? หรือว่านวัตกรรมเป็นเพียงแค่ศัพท์ทางด้านการจัดการอีกคำหนึ่งที่บรรดาที่ปรึกษาทางการจัดการและคณจารย์ทั้งหลาย ยกขึ้นมาเล่น เพียงชั่วครั้งชั่วคราว และสุดท้ายก็คงจะค่อยๆ จางหายไปเหมือนแนวคิดทางด้านการจัดการอื่นๆ

            ผู้บริหารบางท่านอาจจะมีประสบการณ์ไม่ดีเท่าไรนักกับการลงทุนทางด้านวิจัยและพัฒนา ที่การลงทุนทางด้านวิจัยและพัฒนากลับไม่ได้ส่งผลลัพธ์ให้กับองค์กรอย่างคุ้มค่าอย่างที่คิดทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ทำให้ผู้บริหารของไทยหลายๆ องค์กรหนีจากการทำ Research & Development เป็น Copy & Development แทน ซึ่งก็ไม่แปลกหรอกนะครับ จะพบเจอตัวอย่างของบริษัทหลายๆ แห่งที่มีการลงทุนด้านวิจัยและพัฒนาจำนวนมาก แต่ผลการดำเนินงานกลับไม่ดีเท่าที่ควร ทำให้เกิดข้อสงสัยว่าการลงทุนด้านวิจัยและพัฒนานั้น จะส่งผลต่อผลการดำเนินงานของบริษัทได้จริงหรือไม่?

            ผมเองเชื่อว่าน่าจะมีความสัมพันธ์ที่ชัดเจนระหว่างนวัตกรรมกับผลการดำเนินงานขององค์กร เพียงแต่เราคงต้องระบุให้ชัดเจนว่านวัตกรรมในที่นี้ไม่ได้หมายถึงเพียงแค่งบประมาณด้านการวิจัยและพัฒนาเท่านั้น เนื่องจากนวัตกรรมเองครอบคลุมในหลายๆ เรื่อง และสำหรับหลายๆ องค์กร ที่ไม่ได้ทำหน้าที่คิดค้น หรือ ผลิตสินค้าขึ้นมาขาย บริษัทเหล่านั้นก็ไม่จำเป็นต้องมีการลงทุนด้านวิจัยและพัฒนา แต่ในขณะเดียวกันบริษัทเหล่านั้นยังสามารถที่จะมีการพัฒนาในด้านนวัตกรรมขึ้นมาได้

            อาจารย์ที่คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ ท่านหนึ่ง (อาจารย์ศันธยา กิตติโกวิท) กำลังทำวิจัยเพื่อศึกษาหาความสัมพันธ์ระหว่างนวัตกรรมขององค์กรกับผลการดำเนินงานขององค์กร โดยอาจารย์ศันธยา เลือกศึกษาในองค์กรที่เป็น Entrepreneurial Firm ในเมืองไทย ประเด็นที่น่าสนใจและน่าคิดสำหรับท่านผู้อ่านก็คือนวัตกรรมส่งผลต่อผลการดำเนินงานขององค์กรจริงหรือ? และมีปัจจัยใดบ้างที่จะกระตุ้นหรือส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรมในองค์กร?

            ในประเด็นแรกนั้น มีรายงานวิจัยของต่างประเทศหลายชิ้นที่แสดงให้เห็นครับว่านวัตกรรมมีความสัมพันธ์กับผลการดำเนินงานขององค์กร เพียงแต่คำว่านวัตกรรมนั้น ไม่ได้วัดกันที่งบประมาณลงทุนด้านวิจัยและพัฒนาเท่านั้นครับ แต่ยังครอบคลุมถึงบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการคิดค้น หรือ พัฒนาสินค้าและบริการใหม่ๆ เกี่ยวข้องกับการที่องค์กรมุ่งเน้นและให้ความสำคัญกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ๆ มากน้อยเพียงใด เกี่ยวข้องกับระยะเวลาในการนำเสนอสินค้าหรือบริการใหม่ๆ ออกสู่ตลาด

            ซึ่งถ้าดูจากลักษณะของนวัตกรรมข้างต้นนั้น จะพบว่านวัตกรรมขององค์กรธุรกิจต่างๆ ที่คิดหรือพูดถึงกันนั้น ยังมุ่งเน้นแต่ในส่วนที่เป็นนวัตกรรมที่จับต้องได้ง่าย แต่ถ้ามองในอีกมุมหนึ่งเราจะพบนวัตกรรมหลายๆ อย่างที่ไม่สามารถจับต้องได้ง่ายและชัดเจน เช่นนวัตกรรมในตัวต้นแบบธุรกิจ หรือ Business Model Innovation ที่ยากที่จะจับต้องหรือระบุได้อย่างชัดเจน แต่เป็นนวัตกรรมที่ส่งผลต่อความ สำเร็จในการดำเนินธุรกิจขององค์กรหลายๆ แห่ง

            ประเด็นที่สองในเรื่องของปัจจัยที่จะกระตุ้นและส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรมภายในองค์กรนั้น จริงอยู่ว่าแม้ว่าจะมีปัจจัยหลายอย่างแต่ดูเหมือนว่าเมื่อกลั่นออกมาแล้วจะเหลือปัจจัยที่เป็นต้นเหตุและแก่นจริงๆ อยู่แค่สองเรื่องเท่านั้นคือเรื่องของภาวะผู้นำและวัฒนธรรมองค์กร ซึ่งสองเรื่องดังกล่าวก็ดูเหมือนว่าจะเป็นแก่นที่สำคัญสำหรับหลายๆ เรื่องนะครับ สิ่งที่อาจารย์ศันธยา กำลังศึกษาอยู่ก็คือคุณลักษณะของผู้นำแบบใดที่กระตุ้นให้เกิดนวัตกรรมภายในองค์กร นอกจากนี้ด้วยคุณลักษณะของผู้นำดังกล่าวยังไปกระตุ้นให้เกิดวัฒนธรรมในการทำงานในรูปแบบใด? และวัฒนธรรมองค์กรรูปแบบใดจึงจะมีลักษณะที่เหมาะสม ที่จะกระตุ้นให้เกิดนวัตกรรม ซึ่งความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยทั้งสามประการนั้น สำหรับเมืองไทยแล้วยังเป็นกล่องดำใบใหญ่ที่เรายังไม่รู้คำตอบ

            สัปดาห์นี้ขอเรียกน้ำย่อยก่อนแล้วกันนะครับ และถ้าผลงานวิจัยชิ้นนี้สำเร็จเมื่อไร ผมจะขอนำผลการวิจัยมานำเสนอท่านผู้อ่านอีกครั้ง เพื่อพิสูจน์ให้เห็นชัดๆ เลยว่าภาวะผู้นำ วัฒนธรรมองค์กร ส่งผลต่อการบริหารนวัตกรรมภายในองค์กรหรือไม่? และการบริหารนวัตกรรมองค์กรอย่างไร ที่จะส่งผลต่อการดำเนินงานขององค์กรต่อไป

            ก่อนจบขอฝากข่าวประชาสัมพันธ์ครับ เนื่องจากปีนี้คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ จะครบรอบ 70 ปี ทางคณะร่วมกับทางสมาคมนิสิตเก่าฯ จึงจะจัดงานสัมมนาทางวิชาการขึ้นสองครั้งครับ ครั้งที่สองในวันที่ 30 ตุลาคมนี้ เรื่อง Implanting Innovation into Corporate DNA ซึ่งจะ มีคณาจารย์และนิสิตเก่าของคณะมาพูดคุยให้ฟังถึงเรื่องต่างๆ ที่น่าสนใจ ถ้าสนใจก็โทร.มาสอบถามรายละเอียดได้ที่ 02-218-5867 นะครับ