ภาพจาก http://www.3m.com

25 July 2007

เมื่อสัปดาห์ที่แล้วผมได้นำเสนอท่านผู้อ่านด้วยการจัดอันดับบริษัทชั้นนำด้านนวัตกรรมของโลก ที่ทางวารสาร Business Week เป็นผู้จัด ซึ่งมีบริษัทที่น่าสังเกตอยู่บริษัทหนึ่ง ซึ่งได้แก่ 3M           ถึงแม้ว่า 3M จะยังคงอยู่ในสิบอันดับแรก (อันดับที่เจ็ด) แต่ก็ตกลงมาจากที่เคยอยู่ในอันดับที่สามในปีที่แล้ว ทำให้มีข้อสงสัยเหมือนกันนะครับว่าเกิดอะไรขึ้นกับยักษ์ใหญ่ที่มีชื่อเสียงทางด้านนวัตกรรมอย่าง 3M ซึ่งใน Business Week เขาก็ได้มีบทวิเคราะห์ต่อเนื่องครับว่าที่ 3M นั้น นวัตกรรมเริ่มหดหายไปหรือยัง?

            ท่านผู้อ่านที่ติดตามข่าวสารทางด้านการจัดการและนวัตกรรมก็คงทราบนะครับว่า 3M ถือเป็นบริษัทชั้นแนวหน้าของโลกทางด้านนวัตกรรม ผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่ 3M พัฒนาขึ้นมาล้วนแล้วแต่ก่อให้เกิดประโยชน์ใหม่ๆ แก่ลูกค้าอยู่เสมอ สินค้าที่มีชื่อเสียงด้านนวัตกรรมและเป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไปของ 3M ก็หนีไม่พ้น สก็อตเทป (Scotch Tape) ซึ่งปรากฎสู่สายตาของผู้บริโภคตั้งแต่ค.ศ. 1930 และชื่อของ Scotch Tape ก็ได้กลายเป็นชื่อสามัญที่ทุกคนเรียกกันไปแล้ว หรือ ที่ดังสุดๆ ก็คือ Post-It ที่คงไม่ต้องอธิบายนะครับว่าคืออะไร นอกจากสินค้าที่ใช้ทั่วๆ ไปแล้ว 3M ยังเป็นผู้นำนวัตกรรมใหม่ๆ ในสินค้าอุตสาหกรรมหรือทางด้านการแพทย์ด้วย อาทิเช่น LCD Coating ที่ใช้เคลือบจอ LCD ที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน หรือ Thinsulate ที่ใช้ในการเคลือบผิวผ้าต่างๆ เป็นต้น

            นอกเหนือจากนวัตกรรมต่างๆ ของ 3M แล้ว วัฒนธรรมองค์กรของ 3M ก็มีความโด่งดังไม่แพ้กันครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งวัฒนธรรมที่กระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกันและนวัตกรรมภายในองค์กร วัฒนธรรมองค์กรของ 3M ได้กลายเป็นกรณีศึกษาให้กับบริษัทต่างๆ และโรงเรียนทางด้านบริหารธุรกิจทั่วโลก ในด้านการสร้างวัฒนธรรมที่มุ่งเน้นนวัตกรรม เช่น นโยบายการสนับสนุนให้บุคลากรใช้เวลา 15% ของเวลางานในการไปศึกษาหรือทำโครงการส่วนตัวที่ตนเองมีความสนใจ หรือ การตั้งเป้าหมายในการดำเนินงานไว้ว่า ร้อยละ 30 ของรายได้ในแต่ละปี จะต้องมาจากสินค้าที่เพิ่งนำออกสู่ตลาดภายในเวลาไม่เกินสี่ปี หรือ นโยบายทีว่าถ้าใครจะหยุดหรือไม่อนุมัติโครงการใดก็แล้วแต่ คนที่จะหยุดหรือไม่อนุมัติโครงการนั้นจะต้องเป็นคนพิสูจน์ให้เห็นว่าทำไมถึงไม่อนุมัติโครงการดังกล่าว

            ถ้าได้ศึกษาวัฒนธรรมองค์กรของ 3M อย่างใกล้ชิด ผมเชื่อว่าท่านผู้อ่านก็คงจะชื่นชมกับแนวทางในการกระตุ้นให้เกิดนวัตกรรมในด้านต่างๆ อย่างเป็นรูปธรรมและต่อเนื่อง แต่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาดูเหมือนว่าชื่อเสียงทางด้านนวัตกรรมของ 3M จะค่อยๆ ลดลงไปเรื่อยๆ นะครับ สังเกตได้จากการจัดอันดับ Most Innovative Companies ที่ทาง Business Week จัดร่วมกับทางบริษัทที่ปรึกษาอย่าง BCG ซิครับ ในปี 2004 นั้น 3M ได้ที่ 1 จากนั้นก็ตกลงมาเรื่อยๆ ครับ ปี 2005 เป็นที่ 2 พอปี 2006 ตกมาเป็นที่ 3 และสุดท้ายในปี 2007 ก็ตกลงมาที่ 7 ทำให้เริ่มเกิดข้อสงสัยกันนะครับว่าเกิดอะไรขึ้นกับ 3M หรือ ว่าวัฒนธรรมในการกระตุ้นให้เกิดนวัตกรรมของ 3M ไม่สามารถใช้ได้ต่อไป ซึ่งก็ไม่น่าจะเป็นไปได้นะครับ เนื่องจากบริษัทที่เด่นทางด้านนวัตกรรมในช่วงหลังๆ อย่าง Google เขาก็นำนโยบายหลายๆ ประการของ 3M ไปใช้ เช่น ให้พนักงานใช้เวลาส่วนหนึ่งของงานไปทำในโครงการหรืองานที่ตนเองสนใจ

            บรรดานักวิเคราะห์ต่างๆ เขาก็พยายามหาสาเหตุของความตกต่ำทางด้านนวัตกรรมของ 3M ในครั้งนี้นะครับ แล้วสุดท้ายก็ได้ข้อสรุปครับ นั้นคือ 3M ได้เปลี่ยนจากองค์กรที่มุ่งเน้นนวัตกรรมเป็นองค์กรที่มุ่งเน้นประสิทธิภาพแทนครับ ทำให้เกิดข้อสงสัยและถกเถียงกันพอสมควรนะครับว่านวัตกรรมและประสิทธิภาพสามารถไปควบคู่กันได้ไหม?

            เราคงต้องย้อนกลับไปดูอดีตนิดหนึ่งนะครับ เนื่องจาก 3M เป็นองค์กรที่มุ่งเน้นและให้ความสำคัญกับเรื่องของนวัตกรรมเป็นอย่างมาก ทำให้มีวัฒนธรรมองค์กรและแนวทางในการทำงานที่ค่อนข้างเป็นอิสระ รวมทั้งไม่ได้ให้ความสำคัญกับวินัยและประสิทธิภาพทางด้านการเงินมากนัก เนื่องจากต้องการมุ่งเน้นทางนวัตกรรม ซึ่งก็ส่งผลต่อการดำเนินงานและต้นทุนของ 3M ในช่วงทศวรรษที่ 1990 พอสมควร ทีนี้พอมาถึงปี 2000 ทาง 3M ก็ได้จ้าง CEO คนใหม่ครับ ซึ่งถือเป็นคนแรกในรอบร้อยปีของ 3M เลยนะครับที่ผู้บริหารสูงสุดมาจากภายนอกองค์กร โดย CEO ท่านใหม่นี้คือ James McNerney ซึ่งมาจาก GE โดยคุณ James คนนี้เคยเป็นหนึ่งในผู้เข้าประกวดตำแหน่ง CEO ของ GE ต่อจาก Jack Welch ซึ่งสุดท้าย Jeff Immelt ได้ครองไป ทำให้บรรดาผู้เข้าประกวดทั้งหลายก็ต้องกระจัดกระจายแยกย้ายไปเป็น CEO ตามบริษัทต่างๆ แทนครับ และทาง 3M ก็ได้ว่าจ้างคุณ James คนนี้เข้ามาเป็น CEO ของตัวเอง

            พอคุณ James เข้ามาเป็น CEO ปุ๊บ ท่านผู้อ่านก็คงพอจะเดาได้นะครับ สไตล์หรือแนวทางในการบริหารของเขานั้นก็จะถูกถอดแบบมาจากแนวทางของ GE และ Jack Welch โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเข้ามาจัดระเบียบ วินัย และเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพให้กับ 3M โดยแรกเริ่มเลย CEO คนใหม่ก็ลดพนักงานของ 3M ลง 8,400 คน หรือ ร้อยละ 11 ของจำนวนพนักงานทั้งหมด ตามมาด้วยการทบทวนกระบวนการในการประเมินผลการดำเนินงานของ 3M ใหม่หมด การเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน การลดของเสียในกระบวนการผลิต และที่สำคัญนำ Six Sigma เข้ามาใช้

            การเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานของ James ดูเหมือนจะเป็นที่ชื่นชอบนักวิเคราะห์และนักลงทุนนะครับ เนื่องจากราคาหุ้นของ 3M ก็กระเตื้องกลับมาอยู่ในระดับที่น่าพอใจ รวมทั้งได้รับเสียงชมเชยจากบรรดานักวิเคราะห์ต่างๆ เต็มไปหมดครับ หลังจาก James มาเป็น CEO ของ 3M ได้ประมาณสี่ปีครึ่ง James ก็กระโดดไปเป็น CEO ของยักษ์ใหญ่อีกแห่งหนึ่งครับคือ Boeing แต่สิ่งที่ James ทิ้งไว้เป็นมรดกของ 3M นอกจาก Six Sigma แล้วก็คือวัฒนธรรมองค์กรที่กระตุ้นและมุ่งเน้นให้เกิดความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมที่เริ่มจะหดหายไปครับ เนื่องจากพอนำ Six Sigma หรือแนวคิดในการเพิ่มประสิทธิภาพมาใช้ ก็เริ่มทำให้คนของ 3M หันมาให้ความสนใจกับประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเริ่มละเลยความอิสระที่จะสร้างสรรค์และคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ

            ซึ่งตรงนี้ถือเป็นความท้าทายของ CEO ท่านใหม่คือคุณ George Buckley นะครับว่าจะสร้างความสมดุลระหว่างประสิทธิภาพกับนวัตกรรมได้อย่างไร? ซึ่งเชื่อว่าอาจจะเป็นโจทย์ที่สำคัญของผู้บริหารในเมืองไทยหลายๆ ท่านนะครับ ว่าถ้าเราจะมุ่งเน้นนวัตกรรมแล้ว จะสร้างความสมดุลกับประสิทธิภาพได้อย่างไร