
15 October 2007
เมื่อสัปดาห์ที่แล้วผมได้นำเสนอเนื้อหาจากนิตยสาร Business Week เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ที่แสดงให้เห็นถึงพัฒนาการของการเรียนการสอนทางด้านบริหารธุรกิจ ที่คนสายพันธุ์ใหม่ที่เป็นที่ต้องการกลับเป็นผู้ที่มีพื้นฐานความรู้เกี่ยวกับเรื่องของการออกแบบ หรือ Design ทำให้เกิดกระแสความตื่นตัวใน D-School หรือ Design School กันมากยิ่งขึ้น และหลักสูตร MBA ทั้งหลายในต่างประเทศก็เริ่มที่จะปรับตัวให้มีการบูรณาการหรือผสมผสานระหว่างพวกที่เรียนทางด้านบริหารธุรกิจ กับพวกที่เรียนทางด้านการออกแบบมากขึ้น
จริงๆ แล้วกระแสความตื่นตัวในเรื่อง D-School นั้น ก็ดูเหมือนว่าจะสอดคล้องกับกระแสความต้องการของผ่านธุรกิจในปัจจุบัน ที่การแข่งขันในด้านต่างๆ เริ่มที่จะมาถึงทางตัน ดังนั้นปัจจุบันธุรกิจต่างๆ ถึงได้ให้ความสำคัญกับเรื่องของความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมกันมากขึ้น อย่างไรก็ดีปัญหาของสถาบันสอนทางด้านบริหารธุรกิจในปัจจุบัน คือเราผลิตบุคลากรเพื่อเป็นนักวิเคราะห์ที่ดี แต่ขาดความสามารถในการคิดสร้างสรรค์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการคิดในเชิงแสวงหาโอกาสใหม่ๆ สำหรับผลิตภัณฑ์ บริการ หรือ กลยุทธ์ธุรกิจ ทำให้กลายเป็นโอกาสของบรรดา D-School ต่างๆ ที่ถึงแม้ไม่ได้สอนบริหารธุรกิจ แต่บุคลากรที่จบจากสถาบันเหล่านี้ก็ได้รับการบ่มเพาะมาทางด้านของการคิด แสวงหาโอกาส และมองมุมมองต่างๆ ที่แตกต่างจากเดิม ทำให้ไม่แปลกใจนะครับว่าทำไมในต่างประเทศกระแสเรื่องของ D-School ถึงมาแรงขึ้นเรื่อยๆ และเชื่อว่าไม่ช้าก็คงลามมาถึงไทย
จริงๆ แล้วพอเราใช้คำว่า Design มันก็ค่อนข้างกว้างนะครับ ครอบคลุมตั้งแต่ในเรื่องของการออกแบบทางด้านศิลปะ ทางด้านสถาปัตยกรรม หรือแม้กระทั่งออกแบบทางด้านวิศวกรรม เช่น การออกแบบเครื่องกล หรือ ออกแบบกระบวนการผลิต ซึ่งในทางธุรกิจแล้ว การออกแบบในที่นี้น่าจะครอบคลุมในเรื่องของการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ การคิดในมุมมองใหม่ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อสร้างสรรค์โอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ
จริงๆ แล้วความสามารถในเรื่องของการวิเคราะห์ ซึ่งสถาบันทางด้านบริหารธุรกิจส่วนใหญ่มุ่งเน้นก็ยังเป็นทักษะที่จำเป็นอยู่นะครับ แต่เรื่องของการออกแบบ ก็ได้เริ่มกลายเป็นความต้องการขององค์กรธุรกิจจำนวนมาก ยิ่งถ้าใครสามารถผสมผสานการคิดของสมองข้างซ้ายและสมองข้างขวาเข้าไว้ด้วยกันได้ จะยิ่งเป็นทรัพยากรที่มีค่ามากเลยครับ นั้นคือทำได้ทั้งการวิเคราะห์และการออกแบบ
นอกจากแนวโน้มทางด้าน Design แล้ว เมื่อศึกษาแนวโน้มและภาวะของสถาบันการศึกษาทางด้านบริหารธุรกิจทั้งหลาย โดยเฉพาะในระดับ MBA แล้ว เราก็จะพบเห็นแนวโน้มในด้านต่างๆ ที่ทวีความสำคัญมากขึ้น เริ่มตั้งแต่การให้ความสำคัญกับ Soft Skill ต่างๆ เนื่องจากได้มีการศึกษาวิจัยในอเมริกา โดยสอบถามทั้งผู้บริหาร และบรรดาคณบดีของสถาบัน MBA ต่างๆ ทำให้พบว่าสถาบัน MBA ต่างๆ นั้นยังไม่สามารถผลิตบัณฑิตที่ตอบสนองต่อความต้องการของนายจ้างได้อย่างเต็มที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทักษะที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของคนและการตัดสินใจ โดยเริ่มต้นจากการตัดสินใจ ซึ่งบรรดาผู้บริหารต่างๆ ถือว่าเป็นทักษะที่สำคัญสำหรับบุคลากรในวงการธุรกิจ แต่เมื่อลองไล่ดูหลักสูตรของสถบัน MBA แล้วก็จะพบว่าในวิชาพื้นฐานหรือวิชาหลักนั้น กลับไม่ได้ให้ความสนใจกับเรื่องของการตัดสินใจเสียเท่าไร
เราจะได้ยินเสียงเรียกร้องกันมานานพอสมควรครับจากบรรดานายจ้างต่างๆ ให้สถาบันทางด้าน MBA เพิ่มทักษะทางด้านการตัดสินใจ และทักษะเกี่ยวกับคนเข้าไปให้มากขึ้น แต่ดูเหมือนก็ยังไม่ได้รับการตอบสนองเท่าไรจากสถาบัน MBA เหล่านั้น นอกจากนี้แนวโน้มที่สำคัญอีกประการหนึ่งที่กำลังมาแรงในหมู่สถาบัน MBA ก็คือเรื่องของความยั่งยืน ถ้าท่านผู้อ่านยังจำได้เมื่อไม่กี่ฉบับที่แล้ว ผมได้นำเสนอเรื่องของกลยุทธ์เพื่อความยั่งยืนที่ Wal-Mart แต่ปัจจุบันดูเหมือนว่าเรื่องของความยั่งยืน หรือ Sustainability จะไม่ได้อยู่เฉพาะภาคธุรกิจเท่านั้นนะครับ ภาคการศึกษาก็เริ่มให้ความสำคัญและตื่นตัวในเรื่องนี้กันมากพอควร
อย่างเช่นที่ Standord Graduate School of Business ซึ่งได้รับการจัดอันดับโดย Business Week ให้เป็นอันดับหนึ่งในเรื่องของความยั่งยืนนั้น มุ่งเน้นในเรื่องของความยั่งยืน โดยเริ่มต้นจากการปรับภาชนะและโรงอาหารเสียใหม่ให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และโดยเฉพาะอย่างยิ่งหลักสูตรของ Standford ที่มีรายวิชาต่างๆ ที่มุ่งเน้นในเรื่องของความยั่งยืนมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นวิชา Environmental Entrepreneurship หรือ Frontiers of Social Innovation นอกจากนี้ในระหว่างปิดภาคเรียนนักศึกษาของ Stanford ก็เข้าร่วมโครงการเพื่อเดินทางไปประเทศต่างๆ ในกิจกรรมหรือโครงการที่ส่งเสริมเรื่องของความยั่งยืน
แนวโน้มความตื่นตัวเรื่องสังคมและความยั่งยืนนั้น เห็นได้ชัดเจนจากสำรวจหลักสูตรของสถาบัน MBA ต่างๆ ครับ ที่ปัจจุบันร้อยละ 63 ของโรงเรียนด้านนี้ทั้งหมด ที่มีวิชาบังคับที่ให้นิสิตจะต้องเรียนวิชาที่ว่าด้วยธุรกิจและสังคม หรือ ธุรกิจและสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้สถาบัน MBA โดยเฉลี่ยแล้วจะมีวิชาเลือกประมาณ 6 วิชาที่เกี่ยวข้องกับสังคมและสิ่งแวดล้อม สำหรับให้นิสิตเลือกเรียน (น่าสนใจนะครับว่าสถาบัน MBA ในเมืองไทยส่วนใหญ่มีวิชาเลือกทางด้านสิ่งแวดล้อมกี่ตัวกัน?) อย่างไรก็ดีสาขาที่ดูเหมือนจะให้ความสนใจกับเรื่องของสังคมและสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุดก็คือทางด้านการเงินนะครับ ซึ่งถ้าดูตัวเนื้อหาวิชาก็พอจะเข้าใจอยู่บ้างนะครับ
สัปดาห์นี้ก็คงจะพอจะเห็นแนวโน้มที่สำคัญของสถาบันทางด้าน MBA ในต่างประเทศนะครับ และเชื่อว่าไม่ช้าไม่นานก็คงจะเริ่มเข้ามาที่เมืองไทยกันมากขึ้น