6 September 2007

photo credit: edusearchuk.com

ในสัปดาห์ที่แล้วผมได้นำเสนอถึงแนวคิดที่น่าสนใจจากหนังสือ Small Giants โดย Bo Burlingham ที่ได้นำเสนอไว้ว่าการที่องค์กรจะประสบความสำเร็จนั้น ไม่จำเป็นต้องวัดกันที่ขนาดเพียงอย่างเดียว ยังมีองค์กรอีกมากมายที่มีขนาดเล็กแต่ถือว่าประสบความสำเร็จในสิ่งที่ทำ ในด้านผลประกอบการและความสุขของเจ้าของ ซึ่งผมเชื่อว่าท่านเจ้าของธุรกิจหรือผู้ประกอบการหลายท่านที่เลือกที่จะขยายธุรกิจหรือเติบโตอย่างก้าวกระโดดนั้น อาจจะกลับมานั่งย้อนคิดในภายหลังนะครับว่า ถ้าท่านย้อนอดีตได้ และถ้าท่านมีทางเลือก ท่านอาจจะเลือกที่จะไม่เติบโตในรูปแบบเดิมๆ ก็ได้

            จริงๆ แล้วจะบอกว่าเจ้าของธุรกิจไม่มีทางเลือกก็คงลำบากนะครับ เพราะเชื่อว่าส่วนใหญ่แล้วท่านมีทางเลือกที่จะไม่เติบโตทั้งสิ้น เพียงแต่ท่านเลือกที่จะเดินทางนั้นหรือไม่? เราลองมาดูวงจรชีวิตของธุรกิจที่ประสบความสำเร็จทั่วๆ ไปก็ได้ครับ ส่วนใหญ่ก็มักจะเริ่มจากเจ้าของที่มีความคิดสร้างสรรค์ ความคิดก้าวไกล มองเห็นโอกาสและช่องทางในการทำธุรกิจ เริ่มสร้างธุรกิจของตนเองขึ้นมา โดยเริ่มจากธุรกิจขนาดเล็กๆ ก่อน แล้วค่อยๆ เติบโตขึ้นเรื่อยๆ ทั้งในด้านของการผลิต สาขา จำนวนคน หรือ ผลิตภัณฑ์ และบริการ อย่างไรก็ดีการเติบโตดังกล่าวยังมีพื้นฐานอยู่ในการเป็นเลิศในสิ่งที่ตนเองทำ และเจ้าของก็ยังมีความสุขในสิ่งที่ตัวเองทำ อย่างไรก็ดีเมื่อถึงช่วงจังหวะหรือเวลาหนึ่งธุรกิจขนาดกลางหรือย่อมส่วนใหญ่ก็จะมาถึงทางแยกๆ หนึ่ง ที่เจ้าของนั้นจะต้องตัดสินใจว่าจะทำอย่างไรกับธุรกิจที่ตนเองสร้างมากับมือ

            ทางแยกนั้นอาจจะมาในหลายรูปแบบครับ ทั้งในรูปแบบของโอกาสและวิกฤติ ท่านผู้อ่านลองดูกรณีตัวอย่างๆ ต่างๆ ที่จะนำเสนอนะครับ และท่านผู้อ่านลองพิจารณาว่าถ้าท่านตกอยู่ในสถานการณ์ดังกล่าว ท่านจะตัดสินใจอย่างไร อาทิเช่น สินค้าหรือบริการของบริษัทกำลังเป็นที่นิยมและมีความต้องการมากขึ้น จนกระทั่งกำลังการผลิตที่ตนเองมีอยู่ไม่เพียงพอต่อการตอบสนองความต้องการของลูกค้า ท่านในฐานะเจ้าของก็จะต้องตัดสินใจว่าจะขยายกำลังการผลิตอย่างมโหฬารเพื่อรองรับต่อความต้องการ หรือ จะ Outsource ให้ผู้ประกอบการรายอื่นทำการผลิตให้กับเรา หรือ เลือกที่จะค่อยๆ เติบโตไปเรื่อยๆ โดยไม่สนใจที่จะเติบโตอย่างก้าวกระโดด

            หรือ เมื่อบริษัทเติบใหญ่และมีความน่าสนใจในระดับหนึ่ง ก็จะมีบรรดาที่ปรึกษาทั้งทางด้านการจัดการ การเงิน และที่ปรึกษาต่างๆ ที่มาเสนอแนะช่องทางใหม่ๆ ในการระดมทุน เช่น การนำเข้าตลาดหลักทรัพย์ หรือ การขยายทุน โดยหาผู้ร่วมทุนเข้ามาถือหุ้น เพื่อให้บริษัทมีทุนเพียงพอที่จะขยายกิจการต่อไป ซึ่งท่านผู้อ่านในฐานะเจ้าของก็จะต้องตัดสินใจว่า จะเปิดโอกาสให้มีคนภายนอกมาถือหุ้นและช่วยทำการตัดสินใจภายในบริษัท เพื่อแลกกับทุนในการขยายกิจการ หรือ เลือกที่จะบริหารด้วยตนเองอย่างมีความสุขในลักษณะเดิมไปเรื่อยๆ

            หรือ เมื่อมีบริษัทยักษ์ใหญ่ที่มีชื่อเสียงมาแสดงความสนใจที่จะเข้ามาซื้อธุรกิจของท่าน ด้วยเงินที่จะทำให้ท่านสบายไปตลอดชีวิต โดยท่านเองก็จะเข้าไปเป็นหนึ่งในผู้บริหารของบริษัทยักษ์ใหญ่ และทำให้บริษัทเดิมของท่านสามารถสู้กับคู่แข่งที่มีฐานกำลังเงินที่เหนือกว่าได้ ท่านจะเลือกตัดสินใจขายบริษัทท่านให้กับผู้อื่น หรือ ท่านเลือกที่ดำเนินธุรกิจของท่านไปด้วยตัวของท่านเอง

            ท่านผู้อ่านลองพิจารณาทางเลือกของตัวอย่างต่างๆ ข้างต้น แล้วลองตัดสินใจดูนะครับว่าถ้าท่านตกอยู่ในสถานการณ์ดังกล่าว ท่านผู้อ่านจะเลือกตัดสินใจอย่างไร? เชื่อว่าท่านผู้อ่านกว่าครึ่งอาจจะเลือกแนวทางในการเติบโตที่เป็นการเติบโตอย่างก้าวกระโดด ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มกำลังการผลิต การนำบริษัทเข้าจดทะเบียน หรือ การขายบริษัทให้กับบริษัทที่มีขนาดใหญ่กว่า แต่ก็เชื่อว่ามีท่านผู้อ่านอีกจำนวนมากที่จะเลือกการเติบโตในลักษณะที่ไม่หวือหวา โดยทำในสิ่งเดิมๆ รูปแบบเดิมๆ คำถามก็คือทางเลือกไหนเป็นทางเลือกที่เหมาะสม?

            ถ้าเราอ่านหนังสือหรือตำราทางด้านการจัดการในยุคหลังๆ เราจะพบว่าส่วนใหญ่แล้วการเติบโตแบบก้าวกระโดดหรือแบบหวือหวา เป็นคำแนะนำของกูรูทางด้านการจัดการต่างๆ แต่ท่านผู้อ่านก็ต้องพิจารณาด้วยนะครับว่า สิ่งที่เราต้องการคืออะไรกันแน่? การเติบโตแบบก้าวกระโดด หรือ เติบโตเพื่อให้องค์กรใหญ่ขึ้นนั้น เป็นสิ่งที่เจ้าของกิจการปราถนาหรือไม่? หรือ การทำธุรกิจในลักษณะและรูปแบบเดิม โดยไม่ปราถนาที่จะขยายธุรกิจของตนเองให้ใหญ่โตขึ้น เป็นสิ่งที่ท่านต้องการ

            ในหนังสือ Small Giants นั้นเขาได้มีการไปศึกษาและสัมภาษณ์เจ้าของธุรกิจที่เลือกที่จะไม่เติบโต แต่ประสบความสำเร็จในการดำเนินธุรกิจ โดยข้อดีสำหรับผู้บริหารและบริษัทเหล่านี้ก็คือ จากการที่สามารถรักษาขนาดของบริษัทไว้ได้ ทำให้พวกเขาสามารถที่จะยังรักษาความเป็นเลิศในธุรกิจของตนเอง และในขณะเดียวกันคุณภาพชีวิตของคนเหล่านี้ก็มีความสมดุลกับงานที่ทำด้วย จริงๆ แล้วผมเชื่อว่าผู้ประกอบการหรือเจ้าของธุรกิจทุกท่านมีสิทธิ์ที่จะเลือก ว่าจะเติบโตแบบก้าวกระโดดเป็นองค์กรขนาดใหญ่ หรือ รักษาความเป็นเลิศในรูปแบบเดิมๆ ไว้ เพียงแต่ท่านจะเลือกหรือไม่?