18 July 2007

ท่านผู้อ่านสังเกตบ้างไหมครับว่าในปัจจุบันคำศัพท์ยอดฮิตทางด้านการจัดการที่พูดถึงกันบ่อยมากที่สุดคำหนึ่งในปัจจุบัน หนีไม่พ้นคำว่านวัตกรรม หรือ Innovation ซึ่งองค์กรชั้นนำจำนวนมากได้นำคำนี้มาผสมผสานเข้ากับวิสัยทัศน์ ค่านิยม หรือ วัฒนธรรมขององค์กร จนกระทั่งอาจจะบอกได้ว่าคำๆ นี้เป็นคำที่ใช้กันอย่างฟุ่มเฟือยกันพอสมควร จนทำให้เกิดข้อสงสัยว่าจริงๆ แล้วองค์กรที่เป็นองค์กรชั้นนำทางด้านนวัตกรรมจริงๆ นั้นเขามีแนวทางในการบริหารจัดการอย่างไร เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาทางนิตยสาร Business Week ได้มีการสำรวจบริษัทที่เป็นสุดยอดทางด้านนวัตกรรมของโลก The World’s Most Innovative Companies นอกจากนี้ยังมีกรณีศึกษาของบริษัทชั้นนำหรือบริษัทที่เคยเป็นชั้นนำมาก่อนอีกด้วย เรามาลองดูกันนะครับว่าบริษัทเหล่านี้มีบริษัทใดบ้างและเขามีแนวทางในการบริหารจัดการอย่างไร

            ก่อนอื่นลองมาดูวิธีสำรวจของเขากันก่อนนะครับ ทาง Business Week เขาร่วมกับ Boston Consulting Group ในการส่งแบบสำรวจไปยังผู้บริหารบริษัทต่างๆ ทั่วโลก และได้รับผลกลับมากว่าสองพันกว่าชุด เราลองมาดูผลเลยนะครับ แต่ขอแค่สิบอันดับแรกนะครับ 1) Apple 2) Google 3) Toyota 4) General Electric 5) Microsoft 6) P&G 7) 3M 8) Walt Disney 9) IBM 10) Sony

            เป็นอย่างไรบ้างครับ ดูสิบลำดับแรกแล้ว เชื่อว่าหลายท่านก็คงจะมีคำถามกันบ้างนะครับ เราลองมาดูประเด็นที่น่าสนใจนะครับ กรณีของสองบริษัทแรก (Apple กับ Google) นั้นไม่น่าประหลาดใจนะครับ และคงไม่ต้องอธิบายมากนะครับว่าทำไมสองบริษัทนี้ถึงอยู่สองอันดับแรกของการจัดลำดับของ Business Week ติดต่อกันสองปีติดต่อกันแล้วครับ

            ที่น่าศึกษาคือหลายๆ บริษัทในสิบอันดับแรก กลับเป็นบริษัทที่เราไม่ได้นึกถึงเท่าไรในด้านนวัตกรรมอย่างเช่นผู้ผลิตรถยนต์ยักษ์ใหญ่อย่าง Toyota ที่เวลาเรานึกถึงบริษัทนี้กลับนึกถึงแต่ความมีประสิทธิภาพในกระบวนการผลิต หรือ บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านการบันเทิงอย่าง Walt Disney ที่กระโดดจากอันดับที่ 43 ในปีที่แล้วมาเป็นอันดับที่ 8 ในปีนี้ ซึ่งเวลาเรานึกถึง Walt Disney เรามักจะไม่ได้นึกถึงนวัตกรรมเท่าไร นอกจากนี้มีกรณีศึกษาที่น่าสนใจว่าทำไมยักษ์ใหญ่ที่มีชื่อด้านนวัตกรรมมาอย่างยาวนานอย่าง 3M กลับตกลงจากอันดับที่ 3 ในปีที่แล้วมาเป็นอันดับที่ 7 ในปีนี้ หรือบริษัทที่เคยอยู่ในสิบอันดับแรกในปีที่แล้วอย่างเช่น Nokia (อันดับ 8 ในปีที่แล้ว อันดับ 13 ในปีนี้) หรือ Starbucks (อันดับ 9 ปีที่แล้ว อันดับ 14 ในปีนี้) กลับตกลงไปต่ำกว่าสิบอันดับแรก

            ใน 50 บริษัทแรกนั้นส่วนใหญ่จะเป็นบริษัทจากอเมริกา เราลองมาดูกันหน่อยนะครับว่านอกเหนือจากหลายๆ บริษัทในสิบอันดับแรกแล้ว มีอีกหลายบริษัทครับที่ไม่ได้มาจากฝั่งอเมริกา อาทิเช่น จากญี่ปุ่นก็มี Nintendo (อันดับ 39) Honda (อันดับ 12) จากเกาหลีใต้ประกอบด้วย LG (อันดับ 49) Samsung (อันดับ 17) จากเยอรมันมี Volkswagen (อันดับ 41) Daimler (อันดับ 30) BMW (อันดับ 16) จากอังกฤษมีสองบริษัทครับได้แก่ BP (อันดับ 33) และ Virgin Group (อันดับ 18) ที่เหลือก็จะมาจากประเทศละหนึ่งบริษัทครับ

            เราลองมาดูสถิติต่างๆ จากการสำรวจนะครับ ถึงแม้คำว่านวัตกรรมจะเป็นคำที่ใช้กันอย่างฟุ่มเฟือยในปัจจุบัน แต่ปรากฎว่ามีผู้บริหารเพียงร้อยล 23 ที่ระบุว่านวัตกรรมเป็นความสำคัญลำดับที่หนึ่งของบริษัท ซึ่งลดลงเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว (ร้อยละ 32) ในขณะเดียวกันที่ระบุว่าอยู่สามลำดับแรกของสิ่งที่มีความสำคัญที่สุดของบริษัทก็ลดลงเช่นเดียวกันครับจากร้อยละ 72 ในปีที่แล้วเหลือร้อยละ 66 ในปีนี้ แสดงให้เห็นว่าถึงแม้ว่าผู้บริหารจะชอบใช้คำนี้อย่างฟุ่มเฟือย แต่ผู้บริหารกลับไม่ได้ให้ความสำคัญต่อนวัตกรรมอย่างจริงจังเท่าใด ยังมีสิ่งอื่นๆ ที่มีความสำคัญต่อบริษัทมากกว่านวัตกรรม

            เมื่อถามถึงความพึงพอใจของผู้บริหารต่อผลตอบแทนจากการลงทุนทางด้านนวัตกรรม บรรดาผู้บริหารระดับสูง (CEO, President, Chairman) มากกว่าครึ่งจะพอใจต่อผลตอบแทนทางด้านนวัตกรรม ส่วนกลุ่มที่มีความพอใจน้อยที่สุดนั้น ท่านผู้อ่านลองเดาดูซิครับว่าเป็นกลุ่มไหน? เชื่อว่าท่านผู้อ่านมากกว่าครึ่งจะเดาถูกนะครับ นั้นคือพวกผู้บริหารสูงสุดด้านการเงิน (CFO) ซึ่งร้อยละ 63 ของ CFO เลยครับที่ไม่พึงพอใจต่อผลลัพธ์ที่ได้จากการลงทุนด้านนวัตกรรม

            ในขณะเดียวกันเมื่อมองว่าอะไรคืออุปสรรคที่สำคัญต่อการให้ความสำคัญต่อนวัตกรรมขององค์กร ปรากฎว่าอันดับแรกคือวัฒนธรรมองค์กรที่ยังไม่กล้าเสี่ยง ตามด้วยระยะเวลาของนวัตกรรมที่ยาวนาน การขาดการประสานงานภายในบริษัท การเลือกความคิดที่เหมาะสมในการทำการตลาด นอกจากนี้คำถามสำคัญคืออะไรคือตัวชี้วัดที่จะบอกได้ว่าองค์กรประสบความสำเร็จทางด้านนวัตกรรมนั้น ปรกฎว่าตัวชี้วัดที่ใช้กันเยอะที่สุดได้แก่ความพึงพอใจของลูกค้า ตามด้วยการเติบโตของรายได้รวมท การเติบโตของรายได้จากผลิตภัณฑ์หรือบริการใหม่ ส่วนต่างกำไรที่เพิ่มขึ้น และจำนวนของสินค้าและบริการใหม่

            สุดท้ายลองมาดูกันนะครับว่าเวลาบริษัทต่างๆ เขาพูดถึงนวัตกรรมนั้น เขาไม่ได้พูดถึงนวัตกรรมในด้านของสินค้าและบริการเพียงอย่างเดียวครับ ยังมีนวัตกรรมที่เขาเรียกว่า Customer Experience Innovation หรือเป็นนวัตกรรมในส่วนของการสัมผัสหรือบริการลูกค้า นวัตกรรมด้านกระบวนการ (Process Innovation) และ นวัตกรรมในรูปแบบธุรกิจ (Business Model Innovation)  

            สัปดาห์นี้เราเริ่มต้นด้วยรายชื่อและประเด็นที่น่าสนใจของสุดยอดบริษัทชั้นนำด้านนวัตกรรมของโลกนะครับ ในสัปดาห์หน้าเราจะศึกษาลงลึกในกรณีศึกษาของหลายๆ บริษัทว่าทำไมเขาประสบความสำเร็จในด้านนวัตกรรมได้ หรือ ทำไมเขาเริ่มประสบความสำเร็จทางด้านนวัตกรรมน้อยลง