17 August 2008

เมื่อวันศุกร์ที่ 15 ที่ผ่านมาทางสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้จัดงานสัมมนาประจำปี 2551 ในหัวข้อ “วิสัยทัศน์ประเทศไทย….สู่ปี 2570” เพื่อระดมความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนในการกำหนดประเด็นการพัฒนาเพื่อนำพาประเทศไทยสู่ความฝันที่ตั้งไว้ ในเชิงกลยุทธ์และการมีส่วนร่วมแล้วกิจกรรมดังกล่าวก็เป็นสิ่งที่ดีครับ ซึ่งก็ทำให้ผมเกิดแรงบันดาลใจที่จะเขียนบทความนี้ขึ้นมา ถึงแม้ว่าเรื่องของความสำคัญหรือการตั้งวิสัยทัศน์เป็นสิ่งที่เราได้เรียนรู้กันมานานแล้ว แต่ก็เชื่อว่าท่านผู้อ่านหลายๆ ท่าน ผู้บริหารหลายๆ องค์กรก็ยังเกิดความสับสนอยู่ ว่าจริงๆ เจ้าวิสัยทัศน์นั้นตั้งอย่างไรและตั้งไปเพื่ออะไรกันแน่
หลายๆ องค์กรเขียนและตั้งวิสัยทัศน์ไปก็เพื่อให้มีเหมือนๆ กับคนอื่นเขา หรือเพื่อตอบนักลงทุนเท่านั้น แต่ดูเหมือนว่าองค์กรกลับเสียเวลา ทรัพยากรและกำลังคนไปจำนวนไม่น้อยกับกระบวนการในการตั้งวิสัยทัศน์ และก็ไม่ได้ใช้ประโยชน์จากเจ้าวิสัยทัศน์ให้ดีเท่าที่ควร สิ่งที่น่าตลกก็คือวิสัยทัศน์ขององค์กรหลายๆ แห่งมีลักษณะที่เหมือนและคล้ายกันจนบางครั้งแค่อ่านเฉยๆ จะไม่มีทางทราบเลยว่าเป็นวิสัยทัศน์ขององค์กรไหนกันแน่ คำยอดฮิตที่มักจะพบก็หนีไม่พ้น การเป็นองค์กรชั้นนำ……………… ในประเทศ หรือภูมิภาค หรือ การเป็นทางเลือกแรกของลูกค้า หรือ เป็นผู้นำ หรือ เป็นทางเลือกแรกของนักลงทุน ฯลฯ
ที่สำคัญวิสัยทัศน์คือสิ่งที่อยากจะเห็นองค์กรเป็นครับ เป็นความใฝ่ฝันหรือความปราถนาหรือเป็นผลลัพธ์สุดท้ายที่ต้องการไปให้ถึง ผมไม่คิดว่าวิสัยทัศน์ประเทศไทยในปี 2570 ควรจะเป็นเรื่องของรถไฟความเร็วสูงในกรุงเทพ หรือ การย้ายชุมชนแออัดออกจากเมืองหลวงหรอกครับ ข้อความดังกล่าวข้างต้นน่าจะเป็นสิ่งที่อยากจะทำเพื่อนำไปสู่วิสัยทัศน์มากกว่า และที่สำคัญคือต้องอย่าลืมว่าประเทศไทยไม่ได้มีแค่กรุงเทพแห่งเดียวนะครับ วิสัยทัศน์ของประเทศไทย น่าจะแสดงให้เห็นถึงสิ่งที่อยากจะเห็นประเทศไทยเป็นครับ โดยเฉพาะในอีก 19 ปีข้างหน้า
ปกติเวลาผมไปพบเจอวิสัยทัศน์ขององค์กรต่างๆ คำถามหนึ่งที่มักจะตั้งก็คือ ปัจจุบันยังไม่ได้เป็นหรือยังไม่สามารถบรรลุถึงวิสัยทัศน์ที่ได้ตั้งไว้ใช่หรือไม่? ทั้งนี้เนื่องจากถ้าองค์กรเป็นไปตามวิสัยทัศน์ที่ตั้งไว้แล้วก็ไม่จำเป็นต้องเขียนไว้เป็นวิสัยทัศน์อีกเนื่องจากเราบรรลุในสิ่งนั้นไปแล้ว ตัวอย่างเช่น ถ้าวิสัยทัศน์ประเทศไทยปี 2570 เริ่มต้นด้วย “คนไทยภาคภูมิใจในความเป็นไทย …………………” ผมก็จะตั้งคำถามขึ้นมาโดยทันทีเลยครับ ว่าปัจจุบันคนไทยไม่มีความภาคภูมิใจในความเป็นไทยใช่ไหม? การทำให้คนไทยมีความภาคภูมิใจในความเป็นไทย เป็นสิ่งที่ต้องการไปให้ถึงใช่หรือไม่?
ปรมาจารย์ทางด้านการบริหารทั้งหลายมักจะบอกว่าวิสัยทัศน์ที่ดีควรจะมีลักษณะที่จูงใจ คนในองค์กรอ่านแล้วหรือได้ยินแล้วเกิดแรงบันดาลใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิสัยทัศน์ที่ดีไม่ควรยาวมากนัก เคยพบเห็นวิสัยทัศน์ของหลายๆ องค์กร (ไม่รู้ว่าของประเทศไทยด้วยหรือเปล่านะครับ) ที่มีคำพูดติดกันเป็นพืดมากกว่าห้าหกบรรทัด ถ้าเป็นอย่างนั้นก็ต้องเรียกว่าสงสารคนในองค์กรนะครับ กว่าจะอ่านจบ กว่าจะทำความเข้าใจ กว่าจะรู้เรื่อง ก็สงสัยต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่าสิบนาที แล้วท่านผู้อ่านลองคิดดูซิครับว่าวิสัยทัศน์ดังกล่าวจะสร้างแรงบันดาลใจให้กับบุคลากรในองค์กรได้อย่างไร? ผมว่าแทนที่จะเป็นแรงบันดาลใจวิสัยทัศน์นั้นกลับจมไปอยู่ใต้บาดาลใจของพนักงานในองค์กรเสียมากกว่า
พบเห็นองค์กรธุรกิจหลายแห่งที่มักจะเขียนวิสัยทัศน์ในลักษณะของ Vision Slogan เพื่อให้พนักงานสามารถจดจำได้ง่ายและบางแห่งอาจจะเขียนในลักษณะที่ทำให้พนักงานเกิดแรงบันดาลใจ ซึ่งวิสัยทัศน์ในลักษณะของ Vision Slogan นั้นบางครั้งอาจจะมีลักษณะเป็นนามธรรมจับต้องได้ลำบากหน่อย แต่ก็มีผลในเชิงจิตวิทยานะครับ
ประเด็นสำคัญที่อยากจะทิ้งท้ายไว้ก็คือวิสัยทัศน์นะ เขียนออกมาอย่างไรก็ได้ครับ แต่สิ่งสำคัญคือคือการกระทำหรือสิ่งที่จะทำให้บรรลุถึงวิสัยทัศน์ดังกล่าวครับ รวมทั้งการนำวิสัยทัศน์นั้นไปใช้ให้เป็นประโยชน์ด้วยครับ เห็นหลายองค์กรเสียเงิน เสียเวลามานั่งจัดทำวิสัยทัศน์กันแทบตาย แต่สุดท้ายแล้วไม่เคยใช้ประโยชน์จากวิสัยทัศน์ดังกล่าวเลยครับ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการนำมาใช้ในการวางแผน หรือ นำมาใช้เป็นเกณฑ์อ้างอิงเมื่อต้องตัดสินใจ หรือ นำมาใช้เพื่อสร้างการจูงใจบุคลากรภายในองค์กร สิ่งที่ผมอยากจะเห็นจากผู้นำองค์กรต่างๆ ก็คือเมื่อต้องเผชิญกับการตัดสินใจใดๆ ก็ตาม ลองนำวิสัยทัศน์ที่ได้เขียนไว้กลับมาเป็นเกณฑ์ที่ใช้ในการอ้างอิงการตัดสินใจดังกล่าวได้ไหมครับ ว่าถ้าต้องการบรรลุถึงวิสัยทัศน์ที่ได้เขียนไว้จะต้องตัดสินใจเลือกทางเลือกไหน
ก่อนจบจริงๆ ไปค้นเจอวิสัยทัศน์ประเทศไทยปี 2570 เอกสารนำเสนอของเลขาฯ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่นำเสนอเมื่อศุกร์ที่แล้วครับ ท่านผู้อ่านลองดูนะครับ เขียนไว้ว่า วิสัยทัศน์ประเทศไทย 2570 “คนไทยภาคภูมิใจในความเป็นไทย มีมิตรไมตรีบนวิถีชีวิตแห่งความพอเพียงยึดมั่นในวัฒนธรรมประชาธิปไตย และหลักธรรมาภิบาล การบริการสาธารณะขั้นพื้นฐาน
ที่ทั่วถึง มีคุณภาพ สังคมมีความปลอดภัยและมั่นคง อยู่ในสภาวะแวดล้อมที่ดี เกื้อกูลและเอื้ออาทรซึ่งกันและกัน ระบบการผลิตเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มีความมั่นคงด้านอาหารและพลังงาน อยู่บนฐานทางเศรษฐกิจที่พึ่งตนเองและแข่งขันได้ในเวทีโลก สามารถอยู่ในประชาคมภูมิภาคและโลกได้อย่างมีศักดิ์ศรี”
ท่านผู้อ่านก็โปรดใช้วิจารณญาณในการอ่าน วิเคราะห์ และทำความเข้าใจกันเองนะครับ