29 August 2007

<a href="Photo by <a href="https://unsplash.com/@gabiontheroad?utm_source=unsplash&utm_medium=referral&utm_content=creditCopyText">Gabriella Clare Marino</a> on <a href="https://unsplash.com/s/photos/small?utm_source=unsplash&utm_medium=referral&utm_content=creditCopyText">Unsplash

ช่วงนี้ได้มีโอกาสหยิบหนังสือที่ซื้อไว้นานแล้วเล่มหนึ่งขึ้นมาอ่านครับ เป็นหนังสือที่น่าสนใจมากทีเดียวและน่าจะเหมาะกับองค์กรธุรกิจของไทยในยุคปัจจุบัน หนังสือเล่มดังกล่าวชื่อ Small Giants: Companies That Choose to Be Great Instead of Big เขียนโดย Bo Burlingham  ความน่าสนใจของหนังสือเล่มนี้ก็คือผู้เขียนเขาได้ไปศึกษาองค์กรธุรกิจต่างๆ ที่ประสบความสำเร็จแล้วกลั่นออกมาเป็นหลักการหรือแนวทางที่สำคัญ แต่ความแตกต่างของหนังสือเล่มนี้กับเล่มอื่นๆ ที่เคยออกมาก่อนหน้านี้ เช่น In Search of Excellence หรือ Built to Last หรือ Good to Great ก็คือในรูปแบบเดิมนั้นเขาจะศึกษากันแต่เฉพาะบริษัทใหญ่ๆ ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ทำให้พวกบริษัทยักษ์ใหญ่ที่มีผลประกอบการที่ดี เช่น 3M Wal-Mart GE Southwest เป็นชื่อที่ปรากฎในหนังสือเกือบทุกเล่ม แต่ใน Small Giants นั้นผู้เขียนเขามุ่งศึกษาบริษัทขนาดเล็กที่อาจจะไม่ต้องการที่จะเติบโต ไม่ต้องการมีกำไรมากๆ แต่มีความเป็นเยี่ยมในสิ่งที่ตัวเองทำครับ

            สาเหตุที่ผมมองว่าแนวคิดนี้น่าสนใจเนื่องจากว่าไม่ว่าจะเป็นในประเทศไทยหรือต่างประเทศ เวลาเรานึกถึงบริษัทธุรกิจที่เป็นเลิศทั้งหลายเราก็มักจะนึกถึงแต่บริษัทยักษ์ใหญ่ที่ชื่อติดปากทุกคน อย่างเช่นเวลาผมสอนหนังสือที่จุฬาฯ และถามนิสิตทั้งระดับปริญญาตรีและโท ถึงบริษัทที่มีความเป็นเลิศในการดำเนินงานของไทย ชื่อสามัญที่มักจะหลุดออกมาทุกครั้งก็หนีไม่พ้น ซีพี ปูน สหพัฒน์ ทรู กสิกร ไทยพาณิชย์ ปตท. ฯลฯ ทำให้เกิดข้อสงสัยเหมือนกันนะครับว่าแล้วบริษัทเล็กๆ ที่เขาไม่อยากจะเติบโตแต่มีการดำเนินงานที่เป็นเลิศมีบ้างไหม?

            จริงๆ ถ้ามองไปที่บริษัทที่เราคุ้นหูในความเป็นเลิศทั้งหลาย ก็จะพบว่าไม่แปลกนะครับที่เราพูดถึงแต่บริษัทเหล่านั้นอยู่ตลอดเวลา เนื่องจากบริษัทเหล่านี้ส่วนใหญ่จะจดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ จะต้องมีการเปิดเผยข้อมูลทั้งทางด้านการเงินและกลยุทธ์ออกสู่สาธารณชนอย่างสม่ำเสมอ แต่ถ้ามองกลับกันเชื่อว่ายังมีบริษัทอีกเป็นจำนวนมากที่ตัดสินใจที่จะไม่เป็นบริษัทมหาชน ยังคงความเป็นเจ้าของคนเดียวไว้อยู่และสามารถผลักดันบริษัทตัวเองขึ้นไปสู่อีกระดับได้ และความหมายของการผลักเข้าสู่อีกระดับนั้นก็ไม่ได้จำเป็นต้องหมายถึงการเพิ่มกำไรหรือการเพิ่มยอดขายเพียงอย่างเดียวนะครับ

            ผมเองเริ่มพบบริษัทหลายๆ แห่งที่เขาไม่ได้มุ่งเน้นไปที่การเพิ่มรายได้ หรือ การทำกำไรสูงสุดหรือ เพิ่มผลแทนสำหรับผู้ถือหุ้น เพียงอย่างเดียว เหมือนที่เราคิดๆ กันนะครับ บริษัทหลายแห่งเขาให้ความสนใจต่องานที่เขาทำ ให้ความสนใจต่อการสร้างที่ทำงานให้เป็นสถานที่ๆ น่าอยู่ สนใจในการบริหารแก่ลูกค้าอย่างดีที่สุด สนใจในการให้คืนกลับสังคม รวมทั้งให้ความสำคัญต่อการใช้ชีวิตอย่างมีความสุข บริษัทพวกนี้เขาจะไม่สนใจต่อการเติบโตอย่างก้าวกระโดดหรือให้ความสำคัญกับผลตอบแทนทางการเงินเป็นอันดับแรก แต่เขาจะรู้ว่าบริษัทตนเองทำอะไรได้แค่ไหน และรู้ว่าควรจะควบคุมการเติบโตอย่างไร เรียกได้ว่าบริษัทเหล่านี้อาจจะเลือกที่จะไม่เติบโตด้วยซ้ำ

            ท่านผู้อ่านอาจจะเริ่มสงสัยนะครับว่ามีด้วยหรือที่บริษัทธุรกิจจะไม่เน้นกำไร ไม่เน้นผลตอบแทนต่อผู้ถือหุ้น ไม่เน้นการเพิ่มรายได้ ไม่เน้นการเติบโต จริงๆ เราต้องอย่าลืมนะครับว่าบริษัทที่เน้นในประเด็นต่างๆ ที่เขียนมาข้างต้นนั้นส่วนใหญ่แล้วเป็นบริษัทขนาดใหญ่ที่เป็นบริษัทมหาชน ที่พอเป็นบริษัทมหาชนปุ๊บก็เหมือนกับมีพันธะสัญญากับผู้ถือหุ้น ที่จะต้องสร้างผลตอบแทนให้คุ้มที่สุด ต้องเติบโต ต้องทำกำไร ซึ่งเราอาจจะไม่สามารถใช้เกณฑ์ที่เรามองบริษัทมหาชนทั้งหลายมาตัดสินใจบริษัทธรรมดาๆ ที่เขาเลือกที่จะไม่เติบโต แต่เลือกที่จะมีความสุขกับสิ่งที่ทำ

            ท่านผู้อ่านอาจจะเคยเดินเข้าไปในบริษัทเหล่านี้นะครับ แล้วท่านผู้อ่านลองเปรียบเทียบความรู้สึกของท่านเมื่อได้มีปฏิสัมพันธ์กับบริษัทเล็กๆ ที่เป็นเลิศ กับบริษัทใหญ่ๆ ดูซิครับ ท่านจะพบความแตกต่างทั้งในวัฒนธรรมการทำงาน ในบรรยากาศการทำงาน ในใบหน้าของบุคลากร ในความกระตือรือร้นหรือเอาใจใส่ในการทำงานของบุคลากร หรือ แม้กระทั่งความสนิทสนมระหว่างเจ้านายกับลูกน้อง ท่านผู้อ่านจะพบว่าสิ่งดีๆ หลายๆ อย่างในบริษัทขนาดเล็กนั้นไม่สามารถพบเจอได้ในบริษัทขนาดใหญ่ ซึ่งไม่ใช่เพราะบริษัทขนาดใหญ่ทำไม่ได้นะครับ แต่เป็นเพราะบริษัทขนาดใหญ่ มีขนาดที่ใหญ่เกินไปครับ ลองคิดดูง่ายๆ ก็ได้นะครับว่าบริษัทขนาดเล็กที่เป็นเลิศนั้น จะมีความอบอุ่นในการทำงาน มีความเป็นพี่น้องร่วมกันในที่ทำงานมากกว่าบริษัทขนาดใหญ่เพียงใด

            เรามาดูสาเหตุสำคัญที่ทำให้บริษัทพวกนี้เล็กแต่เป็นเลิศกันนะครับ ประการแรก คือตัวผู้บริหารหรือเจ้าของกิจการหรือผู้ก่อตั้ง เขามีวิธีคิดที่แปลกกว่าชาวบ้าน บุคคลเหล่านี้จะไม่เห็นด้วยและไม่ยอมรับต่อวิธีคิดของธุรกิจแบบเดิมๆ ที่เคยปฏิบัติมา ประการที่สองคือผู้บริหารตัดสินใจที่จะเลือกที่จะไม่เติบโต ไม่เห่อตามทฤษฎีการเติบโตทั้งหลาย หรือ ไม่เต้นตามกระแสของการแข่งกันขายแข่งกันโต ประการที่สามคือบริษัทจิ๋วแต่แจ๋วจะเป็นบริษัทที่มีความสัมพันธ์ที่ดีกับชุมชน ท้องถิ่นที่บริษัทนั้นตั้งอยู่ ซึ่งเชื่อมโยงไปถึงหลักประการที่สี่ด้วย คือ มีความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้า Suppliers หลักประการที่ห้าคือสถานที่ทำงานจะต้องเป็นที่ๆ มีความใกล้ชิด อบอุ่น มีความรู้สึกเป็นครอบครัวเดียวกัน ประการที่หกคือโครงสร้างและรูปแบบขององค์กรที่หลากหลาย และสุดท้ายในประการที่เจ็ดคือความมุ่งมั่น ทุ่มเทของผู้บริหารต่อสิ่งที่กำลังทำอยู่

            หลักเจ็ดประการข้างต้นสัปดาห์นี้ผมไล่มาให้ดูก่อนนะครับ และจะขอยกยอดไปดูรายละเอียดในสัปดาห์หน้านะครับ