1 August 2007

กระแสความตื่นตัวในเรื่องนวัตกรรมเป็นสิ่งที่องค์กรธุรกิจจำนวนมากให้ความสนใจ ในขณะเดียวกันในภาวะเศรษฐกิจที่ค่อนข้างชะลอตัว ประกอบกับภาวะการแข่งขันระหว่างธุรกิจต่างๆ ที่รุนแรงขึ้นก็ทำให้กระแสความตื่นตัวในเรื่องของการเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานมีมากขึ้น จนกระทั่งเริ่มเกิดคำถามหรือข้อสงสัยแล้วครับว่านวัตกรรมกับการเพิ่มประสิทธิภาพสามารถไปด้วยกันได้หรือไม่? ทั้งนี้เนื่องจากการให้ความสนใจต่อนวัตกรรมนั้น จะต้องเริ่มต้นจากการปลูกฝังที่ตัววัฒนธรรมองค์กรเลยทีเดียว รวมทั้งการมีนโยบายหรือมาตรการต่างๆ ที่กระตุ้นให้เกิดความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมภายในองค์กร ไม่ว่าการพร้อมที่จะให้เกิดการลองผิดลองถูก การพร้อมให้บุคลากรสามารถหรือได้เรียนรู้จากความผิดพลาดในอดีต การเปิดโอกาสให้บุคลากรได้มีเวลาในการคิดค้นสิ่งใหม่ๆ ที่ไม่ใช่งานประจำที่ทำอยู่

            ซึ่งนโยบายหรือมาตรการต่างๆ ข้างต้นนั้น ถ้าดูแบบผิวเผินก็จะพบว่าขัดกับหลักการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน เนื่องจากยิ่งกระตุ้นให้เกิดวัฒนธรรมของนวัตกรรมมากเท่าใด ประสิทธิภาพและผลิตภาพในการทำงานก็อาจจะต้องลดลง ซึ่งคำถามสำคัญก็คือ นวัตกรรมกับการเพิ่มประสิทธิภาพจะสามารถเกิดขึ้นและไปด้วยกันได้หรือไม่?

            มีกรณีศึกษาของบริษัทแห่งหนึ่งที่ผมได้เริ่มต้นไว้ตั้งแต่สัปดาห์ที่แล้ว คือ 3M ซึ่งถือเป็นเจ้าแห่งนวัตกรรมมาช้านาน 3M ก็กำลังประสบกับปัญหาทางสองแพร่งนี้อยู่เช่นเดียวกันครับ เนื่องจากในอดีตนั้น 3M มุ่งเน้นในด้านนวัตกรรม จนมีชื่อเสียงในด้านนี้ขจรขจายไปทั่วโลก แต่เมื่อเปลี่ยน CEO ใหม่ โดยเป็นอดีตผู้บริหารระดับสูงของ GE ผู้บริหารท่านใหม่นี้ก็นำเอาหลักในการเพิ่มประสิทธิภาพต่างๆ ที่ GE ใช้จนโด่งดัง เช่น Six Sigma มาใช้ที่ 3M ซึ่งในเชิงตัวเลขแล้วก็ทำให้บริษัทมีผลประกอบการดีขึ้น เนื่องจากความมีประสิทธิภาพในการดำเนินงานที่มากขึ้น แต่ในขณะเดียวกันก็ทำให้ความสามารถในเชิงนวัตกรรมที่เคยเป็นที่เลื่องลือของ 3M เริ่มตกลง ประจวบกับ CEO ท่านนี้ก็ไปรับตำแหน่งใหญ่โตที่ Boeing และทิ้งโจทย์ปัญหานี้ให้กับ CEO ท่านใหม่คือคุณ George Buckley ซึ่งเราจะมาดูกันนะครับว่า CEO ท่านใหม่จะแก้ไขปัญหาหรือสามารถสร้างความสมดุลระหว่างนวัตกรรมกับการเพิ่มประสิทธิภาพได้อย่างไร

            ความท้าทายที่ CEO ท่านใหม่นี้ต้องเผชิญก็เริ่มจากวัฒนธรรมองค์กรที่ CEO ท่านใหม่ได้ปลูกฝังไว้ครับ นั้นคือการเพิ่มประสิทธิภาพและผลิตภาพในการทำงาน โดยการนำหลัก Six Sigma เข้ามาใช้ ทั้งนี้เนื่องจากแนวคิดพื้นฐานของ Six Sigma นั้นเริ่มจากหาปัญหาหรือข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นจากกระบวนการในการทำงาน จากนั้นใช้แนวทางด้านสถิติเข้ามาเป็นเครื่องมือในการปรับปรุงกระบวนการทำงานให้เหมาะสม เพื่อลดข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้น ซึ่งตามหลักการแล้วถือเป็นสิ่งที่ดี แต่พอมาใช้กับเรื่องของความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมแล้ว กลับเริ่มมีปัญหาครับ เนื่องจากการจะเกิดความคิดสร้างสรรค์มาได้นั้น CEO ของ 3M เขาระบุไว้เลยครับว่าการคิดสิ่งใหม่ๆ นั้นต้องเริ่มต้นจากการแหวกกฎเกณฑ์หรือรูปแบบเดิมๆ ที่ทำอยู่ การคิดค้นสิ่งใหม่ๆ จะต้องเริ่มต้นจากการไม่ยึดติดกับกระบวนการหรือรูปแบบปกติ ซึ่งการจะนำ Six Sigma มาจับที่กระบวนการคิดให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ นั้นเป็นไปได้ยาก เนื่องจากเราไม่สามารถไปกำหนดได้ว่าในแต่ละสัปดาห์จะต้องคิดค้นสิ่งใหม่ๆ ให้ได้สองชิ้น

            การนำ Six Sigma มาใช้ในกระบวนการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ ของ 3M ทำให้บรรดานักวิทยาศาสตร์ของ 3M เองเกิดความอึดอัดกันพอสมควรครับ พวกเขามองว่านวัตกรรมที่จะเกิดขึ้นจาก Six Sigma นั้นจะเป็นนวัตกรรมแบบเล็กๆ น้อยๆ ที่พอจะคาดเดาได้ แต่ยากที่จะก่อให้เกิด Breakthrough ใหม่ๆ เหมือนในอดีต บางท่านถึงกับเอ่ยปากเลยครับว่าเจ้า Post-It จะไม่มีวันได้เกิดขึ้นแน่ๆ ภายใต้กระบวนการที่ 3M ใช้อยู่ Art Fry ผู้ที่คิดค้น Post-It ขึ้นมาก็ระบุเลยครับว่า Six Sigma ไม่เหมาะกับเรื่องนวัตกรรม เนื่องจากการคิดค้นสิ่งใหม่ๆ นั้น อาจจะต้องคิดงานเป็นร้อยๆ เรื่องแล้วค่อยดูว่าเรื่องไหนที่ใช้ได้ที่สุดหรือมีโอกาสประสบความสำเร็จมากที่สุด แต่พอนำ Six Sigma มาจับแล้ว แนวคิดของ Six Sigma คือทำไมต้องเกิดความสูญเสียในสิ่งที่คิดมาแล้วไม่ได้ใช้ ทำไมไม่พยายามคิดค้นสิ่งที่ดีที่สุดให้ออกมาตั้งแต่ครั้งแรกเลย ซึ่งในเชิงนวัตกรรมแล้วเป็นไปได้ยาก

            แต่ก็ใช่ว่าการนำ Six Sigma หรือการเพิ่มประสิทธิภาพด้วยวิธีการต่างๆ มาใช้ที่ 3M จะไม่ดีเลยนะครับ เนื่องจากพอนำแนวคิดเหล่านี้มาใช้แล้ว ก็สามารถลดต้นทุน และขจัดความสูญเสียต่างๆ ไปได้มาก นอกจากนี้พวกที่สนับสนุน Six Sigma ยังระบุด้วยว่าการนำ Six Sigma มาใช้กับการวิจัยและพัฒนานั้น ทำให้ทำให้กระบวนการในการนำผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ออกสู่ตลาดเป็นไปอย่างรวดเร็วขึ้น อีกทั้งทำให้ผลประกอบการของบริษัทดีขึ้น (หลังจากไม่ได้ดีขึ้นมานาน) ซึ่งก็นำไปสู่คำถามใหม่เหมือนกันครับว่าบริษัทควรจะเลือกอะไร ระหว่างการมุ่งเน้นเรื่องประสิทธิภาพ ซึ่งจะนำไปสู่การเพิ่มกำไรในระยะสั้น (เนื่องจากสามารถลดค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่เกินและสะสมมานานได้) กับการมุ่งเน้นทางด้านนวัตกรรม เพื่อนำปสู่การเติบโตขององค์กรในระยะยาว

            สิ่งที่ CEO ท่านใหม่ของ 3M พยายามทำก็คือผ่อนคลายในเรื่องของการเพิ่มประสิทธิภาพกับงานด้านวิจัยและพัฒนาลง เนื่องจากการนำ Six Sigma มาใช้นั้นอาจจะเป็นสิ่งที่ดีและเหมาะสมกับบางหน่วยงาน แต่ไม่ได้หมายความว่าจะเหมาะสมกับทุกหน่วยงาน ดังนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับด้านปฏิบัติการ ด้านการดำเนินงานต่างๆ ก็ยังคงใช้ Six Sigma และมุ่งเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพต่อไป ส่วนหน่วยงานด้านวิจัยและพัฒนาหรือผู้ที่เกี่ยวข้องกับการคิดค้นสิ่งใหม่ๆ นั้นก็ได้เริ่มที่จะผ่อนคลายความเข้มข้นของการเพิ่มประสิทธิภาพลง

            กรณีศึกษาของ 3M นั้นถือว่าน่าสนใจนะครับ เชื่อว่ายังคงไม่จบง่ายๆ เนื่องจาก CEO ท่านใหม่ก็เพิ่งเข้ามาไม่นาน เราก็ยังไม่ทราบว่าการผ่อนคลายเรื่องการเพิ่มประสิทธิภาพกับงานวิจัยและพัฒนานั้นจะใช้ได้ผลหรือไม่ ก็ต้องคอยติดตามกันต่อไปครับ โดยส่วนตัวนั้นคิดว่าจะมุ่งเน้นในด้านการเพิ่มประสิทธิภาพหรือนวัตกรรมก็คงต้องไปพร้อมๆ กันครับ เพียงแต่จะมุ่งเน้นในด้านใดด้านหนึ่งเป็นพิเศษนั้นต้องขึ้นอยู่กับสถานการณืของบริษัทในขณะนั้นด้วยว่าเราต้องการสิ่งใด เพิ่มประสิทธิภาพ ลดค่าใช้จ่ายในระยะสั้น หรือ แสวงหานวัตกรรมและแนวทางในการเติบโตแบบใหม่ๆ และเชื่อว่า 3M คงจะเป็นต้นแบบให้กับองค์กรอื่นๆ อีกเป็นจำนวนมากนะครับ ในการพยายามสร้างความสมดุลระหว่างการเพิ่มประสิทธิภาพกับนวัตกรรม