4 October 2007

เนื้อหาในสัปดาห์นี้ยังคงอยู่เรื่องของกลยุทธ์เพื่อความยั่งยืนของ Wal-Mart ยักษ์ใหญ่ด้านการค้าปลีกของอเมริกานะครับ เนื่องจากในปัจจุบันองค์กรต่างๆ ในประเทศไทยมีความตื่นตัวและให้ความสำคัญกับเรื่องของความยั่งยืน หรือ Sustainability กันมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม หรือ การลดภาวะโลกร้อน แต่ปัญหาคือหลายๆ องค์กรมักจะมองเรื่องของความยั่งยืนหรือ Sustainability เป็นเพียงแค่กิจกรรมที่ก่อให้เกิดค่าใช้จ่าย โดยไม่สามารถกลืนให้เข้ากับกลยุทธ์ขององค์กรได้อย่างแท้จริง ซึ่งกรณีของ Wal-Mart นั้นเขาสามารถผสมผสานเรื่องของความยั่งยืนเข้ากับกลยุทธ์องค์กรได้อย่างน่าสนใจครับ
เมื่อสัปดาห์ที่แล้วได้เริ่มต้นที่เป้าหมายสำคัญสามประการในเรื่องของความยั่งยืนได้แก่ Renewable Energy, Zero Waste, Sustainable Products โดยภายใต้เป้าหมายทั้งสามประการ ก็ได้มีการกำหนดสิ่งที่ Wal-Mart เรียกว่า Sustainable Value Networks ไว้ 14 ประการ โดย Sustainable Value Networks ทั้ง 14 ประการนั้นเปรียบเสมือนเป็นแนวทางหรือประเด็นที่สำคัญ ที่ Wal-Mart จะมุ่งเน้นภายใต้กลยุทธ์เพื่อความยั่งยืน เราลองมาดูตัวอย่างกันนะครับว่า Sustainable Value Networks ทั้ง 14 ประการมีเรื่องอะไรบ้าง
ภายใต้เป้าหมายเรื่องของ Renewable Energy นั้น ประกอบด้วยแนวทางต่างๆ ในการลดและประหยัดพลังงานด้วยวิธีการต่างๆ ได้แก่ Global Greenhouse Strategy โดยณรงค์ให้ใช้หลอดไฟแบบประหยัดพลังงานมาจำหน่าย หรือ Alternative Fuels ได้ใส่บานประตูสำหรับตู้แช่เย็นต่างๆ ที่ในอดีตเปิดโล่งเพื่อลดภาระของตู้แช่เย็นลง 70% หรือ การนำหลอด LED มาใช้แทนหลอดฟลูออเรซเซ้นต์ในตู้แช่เย็นเพื่อลดพลังงานและสารปรอทจากหลอดแบบเดิม หรือ Energy, Design Construction & Maintainance ที่ทาง Wal-Mart จำกัดฐานไม้สำหรับวางสินค้า เพื่อให้สามารถบรรทุกสินค้าในรถบรรทุกได้มากขึ้นต่อเที่ยว อีกทั้งประหยัดไม้ที่ใช้เป็นฐานไม้วางสินค้า สุดท้ายคือเรื่องของ Global Logistics ที่ลดการใช้เชื้อเพลิงในด้านการขนส่ง โดยใส่อุปกรณ์ประหยัดพลังงานลงในท่อน้ำมันในรถบรรทุก ที่ช่วยหยุดเครื่องที่ไม่ได้ใช้งานในระหว่างที่กำลังขนสินค้าหรือหยุดรถ
สำหรับเป้าหมายในด้าน Zero Waste นั้น เป็นเรื่องของ Operation และ Packaging เป็นการจัดการของเสียด้านอิเลกทรอนิกส์ โดยเป็นการรับคืนขยะอิเล็กทรอนิกส์จากลูกค้าและส่งให้โรงงานนำไปแปรรูปเพื่อกลับมาใช้ใหม่ สุดท้ายเรื่องของ Sustainable Products นั้น จะเป็นเรื่องของสินค้าในหมวดต่างๆ ในร้านของ Wal-Mart ที่ Wal-Mart พยายามร่วมมือกับบรรดาผู้ผลิตสินค้าต่างๆ เพื่อให้มั่นใจว่าสินค้านั้นผ่านกระบวนการผลิตที่ได้มาตรฐานทางด้านสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนต่างๆ ทั้งสินค้าเกี่ยวกับเสื้อผ้า อิเล็กทรอนิกส์ อาหาร กระดาษ เคมี อัญมณี อาหารทะเล และผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากประเทศจีน เช่นในเรื่องของอาหารทะเลนั้น Wal-Mart จะรับซื้อแต่อาหารทะเลสดจากแหล่งที่มีการจับสัตว์น้ำแบบไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม อีกทั้งร่วมในโครงการรณรงค์เพื่อผลักดันให้มีการจับสัตว์น้ำอย่างยั่งยืนจากแหล่งธรรมชาติ
ท่านผู้อ่านจะเห็นนะครับว่าจากตัวอย่างข้างต้น Wal-Mart พยายามทุกวิถีทางในการที่จะรักษาความยั่งยืนให้กับโลกไม่ว่าจะผ่านการดำเนินงานภายใน การขนส่ง หรือ ผ่านทางสินค้าต่างๆ ที่นำมาขายในร้านของตัวเอง แต่คำถามสำคัญที่หลายๆ คนถามกับตนเองก็คือสิ่งที่ Wal-Mart ทำนั้น เจตนาจริงๆ คือเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมและโลกอย่างแท้จริง หรือ เพื่อสร้างความแตกต่างให้กับตนเอง?
ผมมองว่า Wal-Mart คงมุ่งเน้นทั้งสองประการครับ เนื่องจากผู้บริหารของ Wal-Mart มองว่าเรื่องของความยั่งยืนนั้นถือเป็นโอกาสทางธุรกิจที่สำคัญของศตวรรษที่ 21 และในขณะเดียวกัน Wal-Mart ก็พยายามที่จะสร้างความแตกต่างให้กับตนเองพร้อมๆ กับการนำเสนอสินค้าราคาถูก ดังนั้นก็เลยไม่แปลกใจนะครับว่า Wal-Mart จะพยายามเกาะกุมโอกาสทางธุรกิจที่สำคัญ เพื่อเป็นฐานของการสร้างความแตกต่างให้กับตนเอง แต่ในขณะเดียวกัน Wal-Mart ก็มองว่าการดำเนินงานของตนเองไม่ได้จำกัดอยู่แต่เฉพาะในร้าน แต่ย้อนกลับไปตาม Supply Chain จนกระทั่งถึงผู้จัดหาวัตถุดิบและผู้ผลิตสินค้าที่ขายในร้าน ดังนั้นถ้า Wal-Mart สามารถปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงานในด้านต่างๆ ให้เกื้อหนุนต่อสิ่งแวดล้อมได้ Wal-Mart และเหล่าคู่ค้าก็จะมีส่วนในการช่วยรักษาโลกใบนี้ไว้ได้ (และในขณะเดียวกันก็สร้างความแตกต่างให้กับตัวเองด้วย)
ข้อสังเกตประการหนึ่งก็จบ ก็คือ Wal-Mart สามารถให้ความสำคัญกับความยั่งยืนจนกระทั่งออกมาเป็นกลยุทธ์อย่างยั่งยืนได้นั้น เนื่องจาก Wal-Mart มีขนาดการดำเนินงานที่ใหญ่ ดังนั้น Wal-Mart จึงสามารถผลักดัน (รวมทั้งบีบบังคับ) บรรดาคู่ค้าของ Wal-Mart ให้ปรับปรุงการดำเนินงานของตนเองเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมได้ แต่ถ้าเป็นองค์กรขนาดกลางหรือขนาดเล็กที่ไม่ได้มีอำนาจต่อรองเหมือน Wal-Mart ก็ยากที่จะทำได้เหมือน Wal-Mart