21 September 2008

เรายังคงวนเวียนกับการเรียนรู้ทางด้านการจัดการจากประเด็นทางการเมืองในประเทศเราอยู่นะครับ โดยสัปดาห์ที่แล้วผมเริ่มต้นในเรื่องของความขัดแย้งเอาไว้ โดยพยายามนำเสนอในมุมมองที่แตกต่าง ว่าความขัดแย้งนั้นถ้ามีในโอกาสและระดับที่เหมาะสมก็จะเป็นสิ่งที่ดีกับองค์กรได้ แต่ถ้ามากเกินไปหรือเกิดขึ้นในเวลาที่ไม่เหมาะสมแล้ว ความขัดแย้งก็จะเป็นสิ่งที่บ่อนทำลายองค์กรได้เช่นเดียวกันครับ ดังนั้นสัปดาห์นี้เรามาดูกันต่อถึงแนวทางในการบริหารความขัดแย้งกันครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทำอย่างได้ให้ความขัดแย้งคลี่คลายลงได้
จริงๆ แล้วการที่จะคลี่คลายความขัดแย้งลงได้นั้น บุคคลที่เกี่ยวข้องหรือเป็นตัวหลักในวังวนของความขัดแย้งถือเป็นบุคคลที่สำคัญเลยครับ และสังเกตได้อีกเลยครับว่าแนวทางในการเผชิญหน้าหรือจัดการกับความขัดแย้งของแต่ละบุคคลก็ไม่เหมือนกันอีกนะครับ ขึ้นอยู่กับบุคลิกภาพ ความเชื่อ ทัศนคติ รวมถึงการศึกษาของบุคคลผู้นั้นด้วยครับ ลองสังเกตจากผู้นำของประเทศดูซิครับ ไม่ว่าจะเป็นคนปัจจุบันหรือคนที่แล้ว ปัญหาหรือความขัดแย้งที่เผชิญอยู่นั้นเรียกได้ว่าแทบไม่แตกต่างกันเลย แต่วิธีการหรือแนวทางในการเผชิญหน้ากับความขัดแย้งที่เกิดขึ้นนั้นถือว่าต่างกันลิบลับเลยครับ ท่านผู้อ่านลองนำตัวเองเข้าไปอยู่ในสถานการณ์ของผู้นำประเทศดูซิครับ แล้วท่านผู้อ่านจะมีแนวทางอย่างในการบริหารหรือจัดการกับความขัดแย้งที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน
เราลองมาดูแนวทางที่เราใช้จัดการกับความขัดแย้งกันนะครับ ตามหลักการทั่วๆ ไปแล้ว จะมีแนวทางหลักๆ อยู่ห้าวิธีครับ แนวทางแรกก็คือการหลบเลี่ยงความขัดแย้งครับ เรียกได้ว่าอาจจะทำเป็นไม่สนใจหรือไม่ใส่ใจว่ามีความขัดแย้งอยู่ เห็นบรรดานักการเมืองหลายๆ ท่านก็ชอบใช้วิธีนี้นะครับ เช่นพอมีข่าวเกี่ยวกับความขัดแย้งภายในกลุ่มก้อนของตัวเอง ก็ออกมาปฏิเสธข่าวว่าไม่มีความขัดแย้งเกิดขึ้น ถ้าเป็นสุภาษิตไทยก็อาจจะเรียกได้ว่า เอาหูไปนา เอาตาไปไร่ ทำเป็นไม่รู้ ไม่ชี้ ไม่รับทราบถึงความขัดแย้งที่เกิดขึ้น
วิธีของการหลบเลี่ยงนั้นก็อาจจะเหมาะสมในบางสถานการณ์นะครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อไม่คุ้มหรือไม่จำเป็นต้องไปใส่ใจกับความขัดแย้งที่เกิดขึ้น อย่างไรก็ดีท่านผู้อ่านที่จะใช้วิธีการนี้ก็โปรดระวังนะครับ เพราะถ้าความขัดแย้งในบางเรื่อง ถ้าไม่รีบรับรู้และจัดการแก้ไขเสีย ก็อาจจะเลวร้ายขึ้นในภายหลังได้นะครับ
แนวทางที่สองเรียกง่ายๆ ว่าเป็นการยอมผู้อื่น หรือ เมื่อท่านผู้อ่านขัดแย้งกับใครแล้ว ท่านผู้อ่านอาจจะเป็นคนดีมากและใจอ่อนมาก ส่วนใหญ่ก็ยอมๆ กันไป เหมือนกับว่าท่านผู้อ่านแย่งขนมกับพี่หรือน้อง และเมื่อทะเลาะกันแล้ว ท่านผู้อ่านก็ทำตัวเป็นคนดี ยอมไม่กินขนมชิ้นนั้น แต่ให้พี่หรือน้องได้ไป หลายคนใช้แนวทางในลักษณะนี้ ก็อาจจะเนื่องจากมีประเด็นแอบแฝงอยู่ เช่น ยอมในครั้งนี้ เพื่อจะขอหรือได้ในสิ่งที่ใหญ่กว่าในครั้งหน้า เช่น ยอมยกเก้าอี้ให้น้องนั่งในครั้งนี้ เพื่อที่พอครั้งหน้ามีเก้าอี้ที่ใหญ่กว่าตัวเองก็จะได้นั่ง หรือ ในบางครั้งเราก็จำเป็นต้องใช้แนวทางนี้โดยไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ เนื่องจากผู้ที่เราขัดแย้งด้วยเป็นผู้ที่มีอำนาจเหนือกว่า เช่น เมื่อขัดแย้งกับเจ้านาย ถ้าเจ้านายใจไม่กว้างพอ ส่วนใหญ่แล้วเราก็ต้องยอมเจ้านายไปในที่สุด (ทั้งเจ้านายที่ทำงานและเจ้านายที่บ้านนะครับ)
แนวทางที่สามเป็นแนวทางที่ตรงกันข้ามกับแนวทางที่สอง นั้นคือต่อสู่เพื่อให้ได้มาซึ่งชัยชนะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเรามีความเชื่อมั่น ถือมั่น และยึดมั่น ในประเด็นที่เราสนับสนุนมาก จนไม่มีทางที่จะยอมผู้อื่นได้ ดังนั้นเมื่อเกิดความขัดแย้งเกิดขึ้น ก็จะพยายามทุกวิถีทางเพื่อให้ตนได้รับชัยชนะ ซึ่งพวกที่ใช้แนวทางเหล่านี้อยู่ตลอดเวลา จนไม่ดูสถานการณ์หรือบริบทแวดล้อมที่เกิดขึ้น ก็อาจจะทำให้พังกันได้โดยไม่รู้ตัวนะคัรบ
แนวทางที่สี่เรียกว่าเป็นการพบกันคนละครึ่งทางครับ โดยสุดท้ายแล้วไม่มีฝ่ายไหนได้เปรียบเสียเปรียบ แต่เป็นการยอมพบกันคนละครึ่งทาง โดยแต่ละฝ่ายอาจจะได้สิ่งที่ต้องการไปอย่างละครึ่ง ซึ่งก็ถือเป็นแนวทางในการประนีประนอมที่เรานิยมใช้กันมากที่สุดครับ เท่าที่สังเกตคนไทยเวลาขัดแย้งกันไม่ว่าจะในระดับไหน ก็มักจะใช้คำว่า “พบกันครึ่งทาง” เสมอครับ เหมือนเพลงของคุณวสันต์ โชติกุลที่บอกว่า “พบกันก็ครึ่งทางแล้วกัน เพราะมันไม่แหนื่อยดี แล้วทุกๆ อย่างก็คงจะเข้าที” นั้นแหละครับ
แนวทางสุดท้ายเป็นการร่วมมือกันครับ โดยแทนที่จะถอยคนละก้าว เหมือนแนวทางที่สี่ หรือมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้กันไปเหมือนแนวทางที่สองและสาม หรือ ไม่สนใจต่อความขัดแย้งเหมือนแนวทางที่หนึ่ง แนวทางที่ห้าถือเป็นการสร้างสรรค์หรือหาทางออก โดยที่ทั้งสองฝ่ายขัดแย้งกันหาหน้าเข้ามาคุยกัน เพื่อร่วมกันหาทางออกต่อปัญหาหรือความขัดแย้งที่เกิดขึ้น แนวทางที่ห้านั้น ดูเหมือนว่าจะเป็นแนวทางในฝันนะครับ แต่การจะทำให้ได้สำเร็จนั้น คิดว่าไม่ง่าย และต้องอาศัยความร่วมมืออย่างยิ่งใจ ความไว้วางใจกันของทั้งสองฝ่าย รวมทั้งสองฝ่ายนั้นจะต้องไม่มองแต่ปัญหาหรือความต้องการจากด้านของตัวเองเป็นหลักนะครับ ทุกฝ่ายจะต้องมองไปที่เป้าหมายร่วม เนื่องจากถ้าสามารถแสวงหาทางออกของความขัดแย้ง โดยที่ทุกฝ่ายได้ประโยชน์แล้ว สุดท้ายส่วนร่วมย่อมได้ประโยชน์ครับ
หวังว่าบรรดาความขัดแย้งต่างๆ ในบ้านเมืองคงจะสามารถหาทางออกได้นะครับ โดยหวังว่าแนวทางที่ห้านั้นจะเป็นแนวทางที่ทุกฝ่ายจะร่วมแรงร่วมใจกันเพื่อประโยชน์ของประเทศเป็นหลักครับ