15 August 2007

เมื่อสัปดาห์ที่แล้วผมได้นำเสนอผลงานศึกษาของบัณฑิต MBA จากรั้วคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ ไป โดยเป็นการศึกษากระบวนการในการวางแผนกลยุทธ์ของธุรกิจโรงพยาบาล ซึ่งถือเป็นบทเริ่มต้นของเนื้อหาในสัปดาห์นี้ครับ เนื่องจากอยากจะพาท่านผู้อ่านไปดูกระบวนการวางแผนกลยุทธ์ในปัจจุบัน แล้วท่านจะพบเลยครับว่าที่เราบอกกันว่าธุรกิจส่วนใหญ่แข่งขันอยู่แต่ใน Red Ocean นั้น จริงๆ แล้วอาจจะมีจุดเริ่มต้นจากกระบวนการวางแผนกลยุทธ์เลยก็ได้ครับ (สำหรับเรื่อง Blue Ocean และ Red Ocean คงไม่ต้องเล่าแล้วนะครับ ท่านผู้อ่านสามารถเปิดย้อนดูฉบับเก่าๆ ได้)

            นอกจากนี้ในช่วงนี้เป็นช่วงที่องค์กรธุรกิจส่วนมากได้ หรือ กำลัง หรือ เริ่ม กระบวนการวางแผนกลยุทธ์สำหรับปีหน้ากันแล้ว ดังนั้นถ้าท่านไม่อยากจะอยู่ใน Red Ocean Strategy ตลอดไป ท่านอาจจะต้องเริ่มคิดถึงการปรับปรุงหรือเปลี่ยนกระบวนการในการวางแผนกลยุทธ์เสียใหม่นะครับ เนื่องจากกระบวนการวางแผนกลยุทธ์ขององค์กรส่วนใหญ่มักจะนำพาองค์กรสู่ความเป็น Red Ocean Strategy เราลองมาดูประเด็นสำคัญๆ ที่ทำให้กระบวนการวางแผนกลยุทธ์ในปัจจุบันที่จะนำไปสู่ความเป็น Red Ocean Strategy กันก่อนนะครับ

            เริ่มจากกรอบความคิดที่เราใช้ในกระบวนการวางแผนกลยุทธ์ก่อนนะครับ องค์กรส่วนใหญ่มักจะเริ่มจากการวิเคราะห์ปัจจัยต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นภาวะเศรษฐกิจ คู่แข่งขัน ลูกค้า ตัวเอง จากนั้นนำข้อมูลมาใช้ในการกำหนดเป้าหมายทางด้านการเงิน รวมทั้งกลยุทธ์ต่างๆ ที่จะเอาชนะคู่แข่งขัน แย่งชิงส่วนแบ่งตลาด แย่งลูกค้ามาจากคู่แข่งขัน ฯลฯ ซึ่งเพียงแค่เริ่มจากกรอบแนวคิดต่างๆ เหล่านี้ก็เริ่มขับเคลื่อนองค์กรสู่ความเป็น Red Ocean Strategy แล้วครับ เนื่องจากแนวคิดข้างต้นล้วนแล้วแต่ทำให้องค์กรมุ่งเน้นในการเอาชนะคู่แข่งขัน และตอบสนองต่อความต้องการเดิมๆ ที่มีอยู่ของลูกค้า

            นอกจากแนวคิดในการวางแผนกลยุทธ์ที่นำไปสู่ Red Ocean Strategy แล้ว กระบวนการวางแผนกลยุทธ์ที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันก็ไม่ได้ทำให้องค์กรได้กลยุทธ์ที่แท้จริง ถ้าท่านผู้อ่านลองพิจารณากระบวนการวางแผนกลยุทธ์ของบริษัทท่านในปัจจุบัน ผมเชื่อว่าในหลายๆ เวลาวางแผนกลยุทธ์คือการวิเคราะห์ตัวเลข กรอกแบบฟอร์ม ซึ่งสุดท้ายแล้วบุคลากรจะไม่เข้าใจในกลยุทธ์ที่แท้จริงขององค์กรว่าจริงๆ แล้วคืออะไร แถมกลยุทธ์ของหลายๆ องค์กรก็ไม่ได้เป็นกลยุทธ์ที่แท้จริง แต่กลับเป็นการนำแผนปฏิบัติการของแต่ละหน่วยงานมาเย็บรวมกัน

            จริงๆ แล้วสถาบันการศึกษาทางด้านบริหารทั้งหลายก็มีส่วนสำคัญต่อการเป็น Red Ocean Strategy ขององค์กรนะครับ เนื่องจากเราจะผลิต MBA ที่มีความเชี่ยวชาญในการวิเคราะห์และเล่นกับตัวเลข (Number Crunching) ซะเยอะ ทำให้พอออกไปเป็นผู้บริหารแล้วทุกคนก็จะจมและหมกหมุ่นอยู่กับตัวเลข จนหลายๆ ครั้งผู้บริหารจะลืมมองภาพรวมขององค์กร เช่นที่ควรจะเป็น และพอยึดติดกับการวิเคราะห์มากเกินไปก็ลืมส่วนที่สำคัญของกลยุทธ์นั้นคือการคิด สร้างสรรค์ กลยุทธ์ใหม่ๆ ให้เกิดขึ้น ลองสังเกตดูซิครับ พอยิ่งวิเคราะห์และจมไปกับการวิเคราะห์และตัวเลขเท่าไร เราก็มักจะลืมการมองภาพรวมและการคิดสร้างสรรค์กลยุทธ์ใหม่ๆ

            ถ้ามาดูเส้นทางของกลยุทธ์ในปัจจุบันก็จะพบว่าถ้าไม่เป็นจากบนลงล่าง (Top-Down) ก็จะเป็นจากล่างขึ้นบน (Bottom-Up) ซึ่งในปัจจุบันผมก็จะพบทั้งสองแบบนะครับ โดยจากบนลงล่าง ก็เป็นการกำหนดกลยุทธ์จากผู้บริหารระดับสูง แล้วค่อยถ่ายทอดไปยังผู้บริหารระดับกลางหรือล่าง ส่วนจากล่างขึ้นบนนั้น ก็มักจะเป็นผู้บริหารระดับกลางหรือคณะทำงานช่วยกันกำหนดกลยุทธ์ขึ้นจากนั้นนำเสนอผู้บริหารระดับสูงเพื่อเห็นชอบ ซึ่งทั้งสองวิธียังเป็นการกำหนดกลยุทธ์จากมุมมองใดมุมมองหนึ่งเท่านั้น ถ้าไม่ใช่จากผู้บริหารระดับสูง (ที่มีมุมมองที่กว้าง) ก็จากผู้บริหารระดับกลาง (ที่ใกล้ชิดลูกค้าและรู้ปัญหา) ทำให้กลยุทธ์ที่ได้มักจะออกมาแคบกว่าการกำหนดกลยุทธ์ร่วมกันทั้งระหว่างผู้บริหารระดับสูงและระดับกลาง

            สุดท้ายคือกระบวนการวางแผนกลยุทธ์ในปัจจุบันมักจะกลายเป็นสนามฝึกทักษะการเจรจาต่อรองของบุคลากรเสียมาก ลองสังเกตดูก็ได้ครับ พอกำหนดกลยุทธ์และตั้งเป้าหมายกันทีไร ก็จะถึงเวลาเจรจาต่อรองตัวเลขหรือค่าเป้าหมายกัน เนื่องจากลูกน้องก็กลัวจะทำตามค่าเป้าหมายไม่ได้ ส่วนเจ้านายก็อยากจะทำให้ตัวเลขถึงเป้า ทำให้กระบวนการวางแผนกลยุทธ์ไม่ได้นำไปสู่การจูงใจบุคลากรแต่อย่างใด แถมอาจจะทำให้บุคลากรหวาดกลัวต่อกระบวนการวางแผนกลยุทธ์ไปเสียอีก

            ท่านผู้อ่านจะสังเกตเห็นนะครับว่ากระบวนการวางแผนกลยุทธ์ที่ใช้กันอยู่ทั่วไปมีจุดอ่อนหลายประการ และเป็นกระบวนการที่มักจะนำไปสู่ Red Ocean Strategy แต่การจะเปลี่ยนแปลงกระบวนการดังกล่าวก็ไม่ง่ายนะครับ เนื่องจากเป็นสิ่งที่เรียนกันมา ปฏิบัติกันมา และยึดติดกันมาพอสมควร แถมผู้บริหารอาจจะไม่ได้ให้ความสำคัญกับกระบวนการวางแผนเสียเท่าใด ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้ว ถ้ากระบวนการไม่ดี ก็จะนำไปสู่กลยุทธ์ที่ไม่ดีได้เช่นกัน