20 June 2007

จากประสบการณ์ที่สอนหนังสือทางด้านกลยุทธ์มาสิบกว่าปีบวกกับที่ได้มีโอกาสเข้าไปสัมผัส ช่วยเหลือ แนะนำ การจัดทำกลยุทธ์ขององค์กรต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ทำให้ผมเองเริ่มตระหนักหรือได้ข้อสรุปในความแตกต่างระหว่างการคิดเชิงกลยุทธ์ (Strategic Thinking) กับรูปแบบของการวางแผนกลยุทธ์ (Strategic Planning Format) ซึ่งทั้งสองเรื่องเป็นสิ่งที่สำคัญทั้งคู่ เพียงแต่ปัญหาที่พบเจอก็คือองค์กรต่างๆ ยังไม่สามารถแยกทั้งสองเรื่องออกจากกันได้ ทำให้กลยุทธ์ที่ได้ยังไม่มีความชัดเจนและยากที่จะนำไปสู่การปฎิบัติ

            การคิดเชิงกลยุทธ์ หรือ Strategic Thinking นั้นเป็นกระบวนการในการคิดเพื่อให้ได้มาซึ่งกลยุทธ์ที่เหมาะสมที่องค์กรจะใช้หรือมุ่งไป ซึ่งผมมองว่ากระบวนการในการคิดเชิงกลยุทธ์นั้นสามารถเกิดขึ้นได้จากการตั้งและตอบคำถามที่สำคัญในด้านต่างๆ ส่วนรูปแบบหรือกรอบของการวางแผนกลยุทธ์นั้น เป็นรูปแบบ หรือ Format ที่ในองค์กรๆ หนึ่งตกลงที่จะใช้ร่วมกัน เพื่อนำกลยุทธ์ที่คิดได้นั้นถ่ายทอดให้อยู่ในรูปแบบ แนวทางที่บุคลากรในระดับต่างๆ ภายในองค์กรสามารถที่จะรับทราบ เข้าใจ และปฏิบัติตามได้

            สิ่งที่ผมพบเจอคือมักจะมีความเบลอระหว่างการคิดและรูปแบบของแผนกลยุทธ์ ซึ่งส่งผลให้ทั้งผู้บริหารและบุคลากรในองค์กรเกิดความสับสนต่อกลยุทธ์และไม่สามารถนำกลยุทธ์ไปปฏิบัติต่อได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรูปแบบของแผนกลยุทธ์ที่มีความชัดเจนและสามารถนำไปสู่การปฏิบัติได้นั้น มักจะไม่ค่อยพบเห็นในองค์กรทั่วๆ ไป ทำให้เกิดความสับสนในความเข้าใจเกี่ยวกับกลยุทธ์และการนำกลยุทธ์ไปปฏิบัติ

            ผมขอเริ่มที่การคิดเชิงกลยุทธ์หรือ Strategic Thinking ก่อนนะครับ ที่ผมบอกไว้ว่าการคิดเชิงกลยุทธ์นั้นเป็นเรื่องของการตอบคำถามที่สำคัญ ก็เนื่องจากว่าวิธีการที่เหมาะสมที่สุดที่จะทำให้ผู้บริหารได้เกิดการคิดเชิงกลยุทธ์ได้นั้น คือการตั้งคำถาม เพื่อกระตุ้นให้ผู้บริหารได้คิดและตอบ จากประสบการณ์ที่ผ่านมามักจะพบว่าจริงๆ แล้วผู้บริหารมีกลยุทธ์ที่ต้องการอยู่ในหัวแล้ว เพียงแต่ไม่สามารถเรียบเรียงหรือระบุออกมาให้ชัดเจนได้เท่านั้น การตั้งคำถามจึงเหมือนกับเป็นกระบวนการในการกระตุ้นให้ผู้บริหารได้คิดและให้ความสำคัญในสิ่งที่สำคัญเป็นหลัก และจริงๆ แล้วคำถามเหล่านี้ก็เป็นคำถามที่ง่ายๆ นะครับ เราลองมาดูตัวอย่างของคำถามและความนัยของคำถามกันนะครับ

            ถ้าในปีนี้องค์กรของท่านมีรายได้ เท่ากับ X ในปีหน้าต้องการมีรายได้เท่ากับเท่าใด? ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วก็ตอบในเชิงบวกครับนั้น เช่น X+10% หรือ X+15% ซึ่งจริงๆ แล้ว ในการถามคำถามนี้ผมไม่ได้ต้องการคำถามที่ตรงหรือตัวเลขจริงๆ หรอกครับ แต่เป็นคำถามที่เปิดประเด็นให้คิดต่อไปว่า ถ้าต้องการรายได้เพิ่มขึ้น 15% อะไรคือกลยุทธ์หรือสิ่งที่จะทำเพื่อให้มีรายได้เพิ่ม 15%? ซึ่งคำตอบในประเด็นนี้ก็เป็นการนำไปสู่การคิดในเรื่องของกลยุทธ์การเติบโตขององค์กร (Growth Strategy) ครับ

            โดยส่วนใหญ่แล้วคำตอบที่ได้ก็หนีไม่พ้นการเพิ่มรายได้ ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มรายได้จากแหล่งใหม่ๆ เช่น ลูกค้าใหม่ สินค้าใหม่ ตลาดใหม่ ประเทศใหม่ ฯลฯ หรือ การเพิ่มรายได้ต่อลูกค้า ซึ่งอาจจะเป็นการเพิ่มราคาสินค้า หรือ การขายสินค้าให้ลูกค้าเดิมมากขึ้น ท่านผู้อ่านพอจะสังเกตนะครับว่าถึงแม้คำถามที่ใช้จะเป็นคำถามง่ายๆ แต่ก็ช่วยให้ผู้บริหารได้ผ่านกระบวนการคิดในเชิงกลยุทธ์ว่าอะไรคือกลยุทธ์ที่องค์กรจะใช้ในการเพิ่มรายได้

            นอกจากนี้ก็ยังมีคำถามอื่นๆ อีกครับที่สามารถใช้ในการกระตุ้นให้ผู้บริหารได้คิดในเชิงกลยุทธ์ อาทิเช่น “อะไรหรือเพราะเหตุใดลูกค้าใหม่ถึงจะมาซื้อสินค้าหรือบริการขององค์กร” หรือ “เพราะเหตุใดลูกค้าเก่าถึงจะกลับมาซื้อสินค้าหรือบริการขององค์กร” ซึ่งคำถามทั้งสองคำถามนั้นจะเป็นคำถามที่กระตุ้นให้ผู้บริหารได้คิดถึงคุณค่าหรือความแตกต่างที่องค์กรจะนำเสนอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความแตกต่างที่จะเกิดขึ้นในสายตาของลูกค้า

            ท่านผู้อ่านที่คุ้นเคยกับแนวคิดกลยุทธ์แบบดั้งเดิมที่ประกอบไปด้วยกลยุทธ์ระดับองค์กร (Corporate Strategy) และกลยุทธ์ระดับธุรกิจ (Business Strategy) ก็สามารถใช้หลักการและแนวคิดของกลยุทธ์ทั้งสองระดับในการคิดเชิงกลยุทธ์ได้เช่นกันครับ โดยใช้หลักเรื่องของการตั้งคำถามเป็นตัวนำได้เช่นเดียวกัน ในกลยุทธ์ระดับองค์กรนั้นก็จะประกอบด้วยคำถามต่างๆ ที่กระตุ้นให้เกิดการคิดเชิงกลยุทธ์ ได้แก่ “องค์กรอยากจะเติบโตหรือไม่?” “ถ้าองค์กรอยากจะเติบโต ควรจะเติบโตในธุรกิจใด ธุรกิจเดิม (ธุรกิจหลัก) ธุรกิจซึ่งสัมพันธ์กับธุรกิจเดิม หรือ ธุรกิจที่ไม่สัมพันธ์กับธุรกิจเดิม?” หรือ “ถ้าองค์กรจะเติบโต จะเติบโตด้วยวิธีใด เติบโตด้วยตนเอง หรือ จากการร่วมทุน หรือ จากการเข้าไปซื้อกิจการอื่น?”

            สำหรับกลยุทธ์ในระดับธุรกิจนั้น เราก็สามารถใช้วิธีการตั้งคำถามเพื่อกระตุ้นให้เกิดการคิดเชิงกลยุทธ์ได้เช่นกันครับ ตัวอย่างของคำถามได้แก่ “อะไรคือความแตกต่างที่องค์กรจะสร้างขึ้น ให้แตกต่างจากองค์กรอื่น?” หรือ “องค์กรจะแข่งขันกับคู่แข่งขันด้วยวิธีการใด?” เป็นต้น

            ท่านผู้อ่านคงพอจะเริ่มเห็นภาพความแตกต่างระหว่างการคิดเชิงกลยุทธ์กับรูปแบบของแผนกลยุทธ์นะครับ อีกทั้งคงพอจะเห็นต่อด้วยนะครับว่าการคิดเชิงกลยุทธ์นั้น เราสามารถใช้การตั้งคำถามเป็นตัวขับเคลื่อนให้เกิดการคิดเชิงกลยุทธ์ สัปดาห์หน้าเรามาดูกันต่อนะครับว่าแล้วเจ้ารูปแบบของการแผนกลยุทธ์นั้นคืออะไร และควรจะเป็นอย่างไร

            ก่อนจบขอฝากข่าวประชาสัมพันธ์ของหลักสูตร ปริญญาโท IT in Business ของคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ หน่อยนะครับ ซึ่งในทุกปีจะมีการนำเสนอโครงการพิเศษของนิสิตในหลักสูตรนี้ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศในด้านต่างๆ ซึ่งภาคธุรกิจสามารถที่จะนำไปปรับใช้ได้เลย โดยในปีนี้มีหลายโครงการที่น่าสนใจครับ อาทิเช่น ระบบคลังข้อมูลเพื่อใช้ในการตัดสินใจในธุรกิจต่างๆ ระบบสารสนเทศทางบัญชีการเงินสำหรับธุรกิจขนาดกลางและย่อม หรือ ระบบสารสนเทศเพื่อการบริหารงานองค์กรในด้านต่างๆ งานนี้จะจัดให้มีขึ้นในวันที่ 7-8 กรกฎาคม นี้นะครับ ถ้าสนใจก็สามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่ 02-218-5715-6