16 March 2007
เมื่อสัปดาห์ที่แล้วผมได้เริ่มต้นนำเสนอเนื้อหาเกี่ยวกับไอเดียทางด้านการจัดการที่จ๊าบๆ และน่าสนใจในปี 2007 นี้ โดยเรียบเรียงมาจากวารสาร Harvard Business Review ในเดือนกุมภาพันธ์นี้ที่เขาจัดให้มี Breakthrough Ideas 2007 โดยในสัปดาห์ที่แล้วเป็นเนื้อหาเกี่ยวกับ Harry Potter Marketing และ Conflicted Consumers ครับ โดยสัปดาห์นี้ก็ขอนำเสนอไอเดียจ๊าบๆ ในด้านอื่นๆ มานำเสนอต่อท่านผู้อ่านต่อนะครับ
เนื่องจากสัปดาห์ที่แล้วเป็นเนื้อหาที่เกี่ยวเนื่องกับด้านการตลาดสัปดาห์นี้เลยขออนุญาติเริ่มต้นด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานส่วนบุคคลกันนะครับ โดยขอเริ่มจากบทความเรื่อง Living with Continuous Partial Attention โดย Linda Stone ซึ่งพูดถึงอาการๆ หนึ่ง (ไม่ได้เกิดจากโรคทางการแพทย์นะครับ) ที่เป็นกันเยอะในปัจจุบัน ท่านผู้อ่านลองสำรวจตัวเองดูนะครับ ว่าเวลาท่านอยู่ในห้องประชุม หรือ กำลังนั่งเรียนหนังสือ ท่านมักจะคอยเหลือบมองโทรศัพท์ของท่านอยู่ตลอดเวลา บางครั้งก็แอบอ่านข้อความ sms ที่ปรากฎขึ้นบนโทรศัพท์ (ปัจจุบันมีบริการส่งข่าวด่วนผ่านระบบ sms กันเยอะพอสมควร) หรือ ถ้าโทรศัพท์บางท่านสามารถเชื่อมต่อเข้าระบบอินเตอร์เน็ตได้ ท่านก็อาจจะกำลังเช็คเมลหรืออ่านข่าวทางเว็บอยู่ การกระทำดังกล่าวจะพบได้มากขึ้นทุกขณะนะครับ และในปัจจุบันได้กลายเป็นสิ่งที่สังคมยอมรับกันมากขึ้น แถมบางคนกลับรู้สึกได้เปรียบเนื่องจากรู้ข่าวหรือเหตุการณ์ที่สำคัญก่อนผู้อื่น
ทีนี้ผู้เขียนบทความดังกล่าวมองว่าการที่คอยสนใจต่อพวกเครื่องมือสื่อสารใหม่ๆ ตลอดเวลาถือเป็นอาการอย่างหนึ่งที่เขาเรียกว่า Continuous Partial Attention ซึ่ง CPA (ขอเรียกตัวย่อนะครับ) ไม่เหมือนกับ Multitasking ที่สามารถทำงานได้หลายๆ อย่างพร้อมๆ กันนะครับ พวกที่เป็น Mulitasking นั้นจะมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานต่างๆ โดยทำในหลายๆ สิ่งพร้อมๆ กัน เช่น ดื่มกาแฟไปพร้อมๆ กับพิมพ์รายงาน หรือ กินข้าวไปด้วย คุยโทรศัพท์ไปด้วย และเช็คเมลไปด้วย ซึ่งถ้าท่านผู้อ่านสังเกตดีๆ จะพบว่าการทำงานในลักษณะ Multitasking นั้น สมองไม่จำเป็นต้องทำงานมาก เนื่องจากงานที่เป็น Multitasking นั้นเป็นงานที่เราทำโดยอัตโนมัติ และไม่ต้องผ่านการคิดหรือวิเคราะห์จากสมอง ตัวผมเองก็เป็นบ่อยๆ ครับ และที่มากสุดคือสอนหนังสือไปพร้อมๆ กับส่ง sms ไปด้วยครับ นั้นคือนั่งสอนหนังสืออยู่บนยกพื้นหน้าห้อง พูดไปเรื่อยๆ แล้วในขณะเดียวกันก็ส่ง sms ไปหาทีมงานที่นั่งอยู่หลังห้อง แต่ก็ต้องเรียนว่าไม่ใช่พฤติกรรมที่ดีและน่าเลียนแบบนะครับ นักวิจัยหลายๆ ท่านก็มองว่า Multitasking เป็นสิ่งที่ไม่ก่อให้เกิดผลดีต่อเราเท่าไร
กลับมาที่ CPA ต่อครับ CPA นั้นจะเป็นอาการของการเฝ้าคอยหรือตรวจสอบต่อข้อมูลและโอกาสใหม่ๆ ตลอดเวลา ไม่ว่ามีเหตุการณ์สำคัญอะไรเกิดขึ้น เช่นน้ำมันจะขึ้นราคาหรือลดราคา หรือ อาการเป็นพิษ หรือ น้ำเสีย ก็จะต้องรู้และทันข่าวตลอดเวลา ท่านผู้อ่านลองสังเกตดูก็ได้ครับว่ารอบๆ ตัวท่านจะมีคนที่มีอาการเช่นนี้หรือเปล่า นั้นคือ นั่งคุย หรือ ประชุมอยู่ดีๆ ก็จะโพล่งข่าวใหม่ล่าสุดประจำวันให้เพื่อนๆ ทราบ และถ้าถามว่ารู้จากไหน ก็จะมาจาก sms ที่ส่งเข้ามาแจ้ง หรือ จากเว็บที่กำลังนั่งเช็คข่าวอยู่ ซึ่งผู้ที่มีอาการในลักษณะดังกล่าวจะมีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ นะครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงหลังๆ ที่พัฒนาการของเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารพัฒนาไปมาก ทำให้เราสามารถติดต่อหรือรับรู้ต่อข่าวสารต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว
จริงๆ แล้วอาการ CPA ก็มีทั้งข้อดีและข้อเสียนะครับ เหมือนกับเรื่องอื่นๆ ว่าคงจะต้องมีในระดับที่เหมาะสม ถ้ามากเกินไปก็ไม่ดี มีงานวิจัยที่ชี้ไปว่าความพยายามในการตรวจสอบและเช็คข้อมูลตลอดเวลา แม้กระทั่งในเวลาทำงานจะทำให้ระดับไอคิวของเราลดต่ำลง 10 จุดในช่วงระยะเวลาหนึ่ง นอกจากนี้การที่จะต้องเช็คข้อความต่างๆ ตลอดเวลา ก็จะทำให้ความสามารถของเราในการมุ่งเน้นหรือให้ความสำคัญต่อเรื่องราว (Focus) ลดต่ำลง ดังนั้นท่านผู้อ่านก็คงจะต้องระวังและสำรวจตัวเองเหมือนกันนะครับว่ามีอาการ CPA หรือยัง?
อีกแนวคิดหนึ่งที่น่าสนใจของปี 2007 มาจากบทความชื่อ When to Sleep on It โดย Ap Dijksterhuis ซึ่งเป็นการค้นพบเกี่ยวกับการตัดสินใจที่น่าสนใจครับ นั้นคือเมื่อเรารับข้อมูลต่างๆ สำหรับการตัดสินใจได้ครบถ้วนแล้ว อย่าเพิ่งรีบตัดสินใจทันทีครับ ให้กลับบ้านไปนอนก่อนครับ เพื่อให้จิตใต้สำนึกของเราเป็นผู้ที่ทำการตัดสินใจแทน และเราจะพบว่าผลการตัดสินใจออกมาดีกว่าตัดสินใจภายใต้สภาวะที่เรารู้สึกตัวนะครับ ซึ่งแนวคิดนี้ก็ฟังดูเหมือนประหลาดนะครับ แต่ท่านผู้อ่านที่สนใจทางด้านจิตวิทยาคงจะทราบอยู่แล้วว่า จิตใต้สำนึกหรือ Unconscious ของเรานั้นเป็นสิ่งที่มีพลังมาก เพียงแต่เราไม่สามารถดึงในส่วนนี้ขึ้นมาใช้ได้อย่างจริงจังเท่านั้นเอง
ผู้เขียนบทความดังกล่าวเสนอว่าเมื่อเราเผชิญกับปัญหาการตัดสินใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตัดสินใจในขณะที่เรารู้สึกตัว (ผมไม่รู้ว่าจะแปลว่าอย่างไรนะครับ ภาษาอังกฤษเขาใช้คำว่า Conscious) ทั้งนี้เนื่องจากสมองของเรามีข้อจำกัดในการตัดสินใจ ไม่ว่าการรับรู้หรือเปรียบเทียบข้อมูลต่างๆ ดังนั้นถ้าการตัดสินใจที่มีองค์ประกอบหรือข้อมูลต่างๆ มากมาย (เช่นมีทางเลือก หรือ ความเป็นไปได้ในหลายแนวทาง) เราไม่ควรฝืนตัดสินใจครับ แต่ควรจะปล่อยให้เป็นหน้าที่ของจิตใต้สำนึกของเราเป็นผู้ทำการตัดสินใจให้ครับ เนื่องจากจิตใต้สำนึกของเราจะมีความสามารถในการรับรู้และประมวลผลข้อมูลต่างๆ ได้มากกว่าจิตปกติของเรา และผลการวิจัยก็ปรากฎว่าภายใต้ภาวะที่มีข้อมูลหรือทางเลือกที่จะต้องเลือกเยอะ การปล่อยให้จิตใต้สำนึกเป็นผู้ตัดสินใจ ผลที่ออกมาจะดีกว่าการตัดสินใจภายใต้ภาวะจิตปกติหรือในขณะที่เรารู้สึกตัวครับ
ก็ถือเป็นสิ่งที่น่าสนใจและแปลกใหม่นะครับ แต่เชื่อว่าความยากก็คงมีอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จะทำอย่างให้จิตใต้สำนึกเราทำการตัดสินใจ? สงสัยเมื่อท่านผู้อ่านเผชิญกับปัญหาหรือการตัดสินใจที่ท้าทายท่านอาจจะต้องบอกผู้อื่นว่าขอกลับไปนอนหลับให้จิตใต้สำนึกคิดก่อน แล้วพรุ่งนี้ค่อยให้คำตอบ?