4 April 2007
แนวคิดทางด้านการจัดการที่สำคัญและเป็นที่กล่าวถึงกันมากในปัจจุบันคือเรื่องขององค์กรแห่งการเรียนรู้ หรือ Learning Organization (LO) ผมเองจะพบเห็นหลายๆ องค์กรที่ตั้งวัตถุประสงค์อยากจะพัฒนาองค์กรของตนเองให้เป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ แต่พอถามว่าองค์กรแห่งการเรียนรู้คืออะไร ก็มักจะได้รับคำตอบไม่ค่อยตรงกัน และความตื่นตัวของเรื่ององค์กรแห่งการเรียนรู้ก็ดูเหมือนจะไม่ได้หยุดอยู่แค่ภาคเอกชนนะครับ ได้มีความพยายามของหน่วยราชการหลายๆ หน่วยในการพัฒนาตนเองให้เป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ขึ้นมา ดังนั้นผมเลยคิดว่าน่าจะถึงเวลาแล้วที่ในสัปดาห์นี้เรามาดูเรื่องขององค์กรแห่งการเรียนรู้กันนะครับว่าคืออะไรกันแน่ และอะไรคือคุณลักษณะที่สำคัญของการเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้
จริงๆ แล้วมีนิยามที่ค่อนข้างหลากหลายเกี่ยวกับองค์กรแห่งการเรียนรู้นะครับ ถ้าเอาตำราวิชาการมากางก็จะพบว่าตั้งแต่ปี ค.ศ. 1977 แล้วที่ได้มีนักวิชาการให้คำจำกัดความขององค์กรแห่งการเรียนรู้ โดยระบุว่า “การเรียนรู้ขององค์กร เป็นกระบวนการในการตรวจพบและแก้ไข ความผิดพลาดที่เกิดขึ้น” (โดย Chris Argyris) เป็นไงครับ ดูเหมือนนิยามแรกๆ เกี่ยวกับการเรียนรู้ขององค์กร จะสร้างความแปลกใจให้กับท่านผู้อ่านนะครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอ่านๆ ดูแล้วไม่ค่อยตรงกับสิ่งที่เราคิดหรือเข้าใจกันมา ลองดูนิยามอื่นกันนะครับ พอปี 1992 McGill และพรรคพวก ก็ได้นิยามการเรียนรู้ขององค์กรไว้ว่า “เป็นความสามารถขององค์กรในการเรียนรู้และทำความใจจากประสบการณ์ โดยเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการทดลอง การสังเกต การวิเคราะห์ รวมทั้งความพร้อมที่จะศึกษาและเรียนรู้จากความสำเร็จและล้มเหลว” ดูเหมือนนิยามหลังจะเริ่มใกล้เคียงกับสิ่งที่เราคุ้นเคยกันมากขึ้นนะครับ
ในขณะเดียวกัน David Garvin มองว่าการเรียนรู้ขององค์กรนั้นเป็นทักษะและความสามารถขององค์กรในการพัฒนา แสวงหา และถ่ายทอดความรู้ โดยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในองค์กรให้สอดคล้องกับความรู้ดังกล่าว หลักการสำคัญของการเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ก็คือความรู้ใหม่ๆ นั้นจะต้องถูกพัฒนาและมีการนำมาใช้ในกิจกรรมภายในองค์กร นอกจากนี้การเรียนรู้ขององค์กรยังเป็นความสามารถหรือกระบวนการที่สำคัญที่จะทำให้องค์กรมีการพัฒนาความสามารถในการดำเนินงาน โดยเรียนรู้จากประสบการณ์ในอดีต
ท่านผู้อ่านอาจจะสังเกตความแตกต่างระหว่างองค์กรแห่งการเรียนรู้ (Learning Organization) กับการเรียนรู้ขององค์กร (Organizational Learning) นะครับ ผมมองว่าองค์กรแห่งการเรียนรู้ หรือ LO นั้นเป็นลักษณะขององค์กรชนิดหนึ่งที่มีความสามารถในการเรียนรู้และพัฒนาตนเองอยู่ตลอดเวลา ส่วนเจ้าการเรียนรู้ขององค์กรนั้น ก็เป็นความสามารถขององค์กรในอันที่จะเรียนรู้ ดังนั้นการที่จะเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ได้ ก็จะต้องมีความสามารถในการเรียนรู้ (ไม่ทราบอ่านเสร็จแล้วท่านผู้อ่านเข้าใจมากขึ้นหรือปวดหัวมากขึ้นนะครับ?)
หลังจากพอปวดหัวเล็กๆ กับนิยามขององค์กรแห่งการเรียนรู้แล้ว ลองมาดูกันบ้างนะครับว่าอะไรคือคุณสมบัติที่สำคัญของการเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ (LO) โดยคุณ Garvin คนเดิมได้ระบุไว้อย่างชัดเจนเลยครับว่าการจะเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ได้นั้นจะต้องประกอบด้วยคุณสมบัติทั้งหมดห้าประการ ได้แก่
- ความสามารถในการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ (Systemic Problem Solving) โดยองค์กรจะต้องมีการใช้ข้อมูล ข้อเท็จจริง เข้ามาใช้ในการแก้ไขปัญหา เนื่องจากการที่บุคลากรในองค์กรจะเกิดการเรียนรู้ได้นั้น ความถูกต้องและแม่นยำของข้อมูลต่างเป็นเป็นสิ่งที่สำคัญ และการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบนั้นควรจะเป็นสิ่งที่ใช้กันทั่วทั้งองค์กร
- การทดลองใหม่ๆ เพื่อเป็นการแสวงหาและทดสอบความรู้ใหม่ๆ (Experimentation with New Approaches) โดยการทดลองในสิ่งใหม่ๆ นั้นมักจะเกิดขึ้นจากโอกาสใหม่ๆ ที่เข้ามา โดยวัตถุประสงค์ที่สำคัญของการทดลอง (ไม่ใช่แค่การทดลองในห้องวิทยาศาสตร์นะครับ) ก็เพื่อให้องค์กรเกิดความเข้าใจที่แท้จริงในการทำสิ่งต่างๆ
- การเรียนรู้จากประสบการณ์ในอดีต โดยองค์กรจะต้องมีการทบทวนความสำเร็จหรือล้มเหลวในอดีตอย่างเป็นระบบ รวมทั้งควรจะมีการบันทึกและจัดเก็บประสบการณ์และสิ่งที่ได้เรียนรู้ เพื่อให้บุคลากรในองค์กรสามารถเข้าถึงและเรียนรู้ได้โดยง่าย
- การเรียนรู้จากประสบการณ์ของผู้อื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งองค์กรในต่างธุรกิจ ต่างอุตสาหกรรม ก็สามารถที่จะเรียนรู้ซึ่งกันและกันได้ การเรียนรู้จากประสบการณ์ขององค์กรอื่นนั้นเราจะรู้จักดีในชื่อของ Benchmarking ครับ โดยท่านผู้อ่านต้องอย่ามองว่า Benchmarking คือการเทียบเคียงเพียงอย่างเดียวนะครับ แต่ควรจะมองว่า Benchmarking เป็นการหาผู้ที่เก่งที่สุดในด้านต่างๆ แล้วเรียนรู้จากเขา นอกจากการเรียนรู้จากองค์กรอื่นแล้ว ในปัจจุบันที่เริ่มนิยมกันมากขึ้นก็หนีไม่พ้นการเรียนรู้จากลูกค้าครับ ท่านผู้อ่านลองสังเกตดูนะครับ ถ้าเรามีระบบที่ดีและพร้อมจะเปิดใจรับฟัง เราสามารถที่จะเรียนรู้ได้เยอะจากผู้ที่เป็นลูกค้าเลยนะครับ
- องค์กรจะต้องมีความสามารถในการถ่ายโอนหรือถ่ายทอดความรู้ (Knowledge) ได้อย่างรวดเร็วและทั่วถึง ทั่วทั้งองค์กร
จริงๆ แล้วนอกเหนือจากห้าข้อข้างต้น ก็ได้มีนักวิชาการท่านอื่นๆ พยายามระบุคุณลักษณะที่สำคัญขององค์กรแห่งการเรียนรู้ไว้เช่นเดียวกันนะครับ โดยคุณลักษณะที่น่าสนใจที่อยู่นอกเหนือจากห้าข้อข้างต้นก็ประกอบไปด้วย
- การที่ทุกคนในองค์กรมีทิศทางร่วมกัน (Shared Vision) เนื่องจากการมองภาพใหญ่ร่วมกันแล้ว ก็จะทำให้บุคลากรทุกคนมุ่งมั่นและทุ่มเทที่จะไปถึงจุดดังกล่าว โดยการพัฒนาและเรียนรู้อย่างต่อเนื่องจากเป็นกลไกที่สำคัญ
- การเปิดและพร้อมจะรับข้อมูลจากภายนอก เนื่องจากบริบทต่างๆ ภายนอกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การเปิดใจและพร้อมที่จะรับและเรียนรู้ในสิ่งต่างๆ จากภายนอก จึงเป็นคุณสมบัติที่สำคัญอีกประการของการเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้
- องค์กร ผู้บริหาร และบุคคลในองค์กรจะต้องมีความทุ่มเทและมุ่งมั่นต่อการแสวงหา พัฒนาความรู้ใหม่ๆ รวมทั้งการถ่ายทอดหรือแบ่งปันความรู้ดังกล่าวให้กระจายไปทั่วทั้งองค์กร
สัปดาห์นี้ขอแค่เรียกน้ำย่อยเรื่ององค์กรแห่งการเรียนรู้ก่อนนะครับ ไม่ทราบอ่านแล้วท่านผู้อ่านรู้สึกอย่างไร เพราะถ้าดูตามนิยามทางวิชาการแล้วก็ยังไม่ค่อยเห็นแนวทางเลยว่าองค์กรบางแห่งที่ตั้งวัตถุประสงค์ไว้ว่าจะเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้จะทำได้อย่างไร? เนื่องจากหัวใจของการเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้คือ “การเรียนรู้” ซึ่งองค์กรหลายแห่งยังไม่พร้อมที่จะเรียนรู้เท่าใด เอาไว้ในสัปดาห์หน้าเรามาต่อกันนะครับ เพื่อให้ท่านผู้อ่านได้เห็นภาพและเข้าใจในองค์กรแห่งการเรียนรู้ยิ่งขึ้น