18 December 2006

คงไม่สายไปที่จะสวัสดีปีใหม่ท่านผู้อ่านทุกท่านนะครับ เนื้อหาสัปดาห์นี้ก็ยังคงต่อเนื่องจากสัปดาห์ที่แล้วในการนำเสนอสุดยอดหนังสือทางด้านการจัดการของปี 2549 ซึ่งในฉบับที่แล้วผมได้นำเสนอสามสุดยอดหนังสือด้านกลยุทธ์ จากการจัดอันดับของวารสาร Strategy + Business ซึ่งทางวารสารเขาได้มีการจัดอันดับหนังสือทางด้านบริหาร จัดการ มาหลายปีติดต่อกันแล้ว สัปดาห์นี้เรามาดูสุดยอดหนังสือทางด้านการจัดการในหมวดอื่นๆ กันบ้างนะครับ

            สำหรับในหมวดทางด้านการจัดการ (Management) นั้นมีหนังสือที่ได้รับการจัดอันดับทั้งหมดห้าเล่มด้วยกันครับ ได้แก่ From Resource Allocation to Strategy โดย Joseph L. Bower และ Clark G. Gilbert เล่มที่สอง The World’s Newest Profession: Management Consulting in the Twentieth Century โดย Christopher D. McKenna เล่มที่สาม The Hare and the Tortoise: An Informal Guide to Business Strategy โดย John Kay เล่มที่สี่ Hard Facts, Dangerous Half-Truths, and Total Nonsense: Profiting from Evidence-Based Management โดย Jeffrey Pfeffer และ Robert I. Sutton และเล่มสุดท้าย The G Quotient: Why Gay Executives Are Excelling as Leaders…and What Every Manager Needs to Know โดย Kirk Snyder ท่านผู้อ่านเห็นรายชื่อแล้วก็อาจจะสงสัยนะครับ เพราะบางเล่มก็เป็นหนังสือเกี่ยวกับทางด้านกลยุทธ์ เรามาดูแต่ละเล่มแบบคร่าวๆ นะครับ

            เล่มแรก From Resource Allocation to Strategy ทางวารสาร Strategy + Business ยกย่องให้เป็นสุดยอดหนังสือทางด้านการจัดการของปี 2549 เนื้อหาในหนังสือเล่มนี้เกี่ยวข้องกับกระบวนการในการจัดสรรทรัพยากร (Resource Allocation Process) ที่ผู้เขียนได้ค้นพบและพัฒนาขึ้นมาจากประสบการณ์ในองค์กรต่างๆ ซึ่งการจัดสรรทรัพยากรถือเป็นกระบวนการที่สำคัญและต่อเนื่องภายหลังจากการวางแผนกลยุทธ์ภายในองค์กร ในหนังสือเล่มถัดมา The World’s Newest Profession นั้น ทางผู้เขียนได้พูดถึงประวัติของวิชาชีพ “ที่ปรึกษาทางการจัดการ” ที่เริ่มต้นมาตั้งแต่ช่วงปี 1920 กว่าๆ จากนั้นก็ไล่พัฒนาการของวิชาชีพนี้มาเรื่อยๆ รวมทั้งสาเหตุที่ทำให้วิชาชีพนี้บูมมากขึ้นเรื่อยๆ นอกจากนี้ทางผู้เขียนก็ยังได้โต้แย้งแนวคิดที่ว่าที่ปรึกษาทางการจัดการคือผู้ที่เอาเรื่องเดิมๆ มาเรียกเสียใหม่แล้วเรียกเงินลูกค้าแพงๆ แต่มองว่าบทบาทของที่ปรึกษาคือเป็น Knowledge Broker ที่ประสานหรือเชื่อมโยงความรู้ต่างๆ เข้าไว้ด้วยกัน เล่มถัดมา The Hare and the Tortoise เป็นหนังสือที่รวบรวมบทความของผู้เขียนที่เขียนลงประจำในหนังสือพิมพ์ Financial Times โดยแนวคิดของผู้เขียนหนังสือเล่มนี้จะให้ความสำคัญกับความสอดคล้องหรือเหมาะสมระหว่างความสามารถขององค์กร กับความเหมาะสมของสภาพตลาดที่จะนำไปสู่กลยุทธ์ที่ดี ซึ่งแนวคิดของ John Kay เป็นแนวคิดทางด้านกลยุทธ์ที่คล้ายๆ กับของ Michael Porter จากฮาร์วาร์ด

            เล่มที่สี่เป็นเล่มที่ผมเองอ่านแล้วชอบเล่มหนึ่งครับ Hard Facts, Dangerous Half-Truths, and Total Nonsense มองว่าการที่ผู้บริหารได้นำหลักการหรือแนวคิดต่างๆ ทางด้านบริหารมาใช้นั้น เป็นการนำมาใช้โดยการขาดหลักฐานยืนยันที่ชัดเจนว่าแนวคิดต่างๆ นั้นช่วยให้องค์กรประสบความสำเร็จจริงหรือไม่? ส่วนใหญ่แล้วก็มักจะอ้างหรือฟังกันไปว่าแนวคิดนั้นดีหรือแนวคิดนี้ใช้แล้วจะประสบความสำเร็จ ทั้งๆ ที่ขาดหลักฐานที่สามารถพิสูจน์ได้มายืนยัน และหลายครั้งที่แนวคิดใหม่ๆ ก็มักจะเป็นแนวคิดเดิมบรรจุอยู่ในรูปหรือห่อใหม่ ผู้เขียนทั้งสองท่านมองว่าการบริหารจัดการ ควรจะเอนเอียงไปทางด้านหมอมากขึ้น นั้นคือการจะใช้เครื่องมือใดก็ตามในการบริหารจัดการ ก็ควรจะมีหลักฐานหรือข้อพิสูจน์มายืนยัน โดยทั้งคู่มองว่าถ้าแพทย์นำหลักทางด้านการบริหารจัดการมาใช้ (รักษาคนไข้โดยขาดหลักฐานยืนยันที่ชัดเจน) ป่านนี้ก็คงมีผู้ป่วยตายกันเป็นจำนวนมาก และแพทย์ก็คงจะติดคุกกันเป็นแถว

            เล่มสุดท้ายนั้นแค่เห็นชื่อก็น่าสนใจแล้วครับ ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ได้ศึกษาตัวเลขและสถิติขององค์กรที่มีผู้บริหารเป็นเกย์ (ผู้บริหารเหล่านี้จะต้องเปิดตัวด้วยนะครับ ไม่ใช่ประเภทไม่เปิด) และพบว่าในองค์กรที่ผู้บริหารเป็นเกย์ที่เปิดตัว จะเป็นองค์กรที่บุคลากรจะมีขวัญ กำลังใจ และความมุ่งมั่นในการทำงานมากกว่าองค์กรที่มีผู้บริหารเป็นผู้ชายแท้ (น่าสนใจไหมครับ?) ผู้เขียนตั้งข้อสมมติฐานว่าผู้บริหารสูงสุดที่เป็นเกย์นั้นจะเป็นผู้ที่มีความฉลาดทางอารมณ์ (Emotional Intelligence) และแนวทางหรือวิธีการบริหารของผู้บริหารเหล่านี้เป็นสิ่งที่ผู้บริหารชายแท้ทั่วๆ ไปควรจะนำไปศึกษา อย่างไรก็ดีข้อศึกษาของหนังสือเล่มนี้ยังเป็นการศึกษาเฉพาะในอเมริกานะครับ ไม่รู้ว่าของเมืองไทยจะเป็นเมืองกันหรือเปล่า น่าจะมีคนศึกษาเป็นวิทยานิพนธ์ได้นะครับ

            จริงๆ ทางวารสาร Strategy + Business เขายังแนะนำไว้อีกหลายหมวดหมู่มากนะครับ นอกเหนือจากด้านกลยุทธ์ และด้านการจัดการ ที่ได้นำเสนอไปในสัปดาห์นี้และสัปดาห์ที่แล้ว ก็มีหนังสือเด่นๆ ในหมวดอื่นๆ ด้วยนะครับ ผมขอนำรายชื่อมาให้ดูเผื่อท่านผู้อ่านสนใจไปหาอ่านนะครับ (เอาเฉพาะที่เห็นขายในเมืองไทยนะครับ) ด้านการตลาดก็มี Marketing Metrics: 50+ metrics that every executives should master ซึ่งอ่านชื่อก็ทราบแล้วนะครับว่าเป็นหนังสือเกี่ยวกับตัวชี้วัดด้านการตลาด หรือ Six Sigma for Marketing Processes ซึ่งอ่านชื่อก็ทราบกันอีกเหมือนกันว่าเป็นการนำ Six Sigma มาใช้ในด้านการตลาด หรือ Asian Brand Strategy ที่เห็นวางขายกันทั่วไป ส่วนทางด้านภาวะผู้นำนั้นก็มี Purpose: The Starting Point of a Great Company หรือ Why Should Anyone Be Led by You? หรือ Leading Through Conflict ซึ่งทั้งสามเล่มก็ยังเห็นมีวางจำหน่ายอยู่ในเมืองไทย

            อย่างไรก็ดีถ้าเข้าไปดูที่ Amazon แล้ว ทาง Amazon เขาก็มีการจัดอันดับเหมือนกันครับ โดยเป็นการจัดอันดับโดยทางทีมงานของ Amazon ซึ่งเชื่อว่าเป็นการมองในคนละมุมมองกันครับ โดยของ Strategy + Business นั้นมาจากสายวิชาการ แต่ Amazon นั้นมองที่ตัวผู้ซื้อเป็นหลัก หนังสือเด่นๆ ที่ Amazon จัดอันดับไว้ประกอบด้วย The Long Tail (เล่มนี้ทาง Strategy + Business เขาก็จัดอันดับไว้เหมือนกันครับ) Making Globalization Work, Success Built to Last, The Starfish and the Spider, Knowledge and the Wealth of Nations (อยู่ในอันดับของ S+B ด้วยครับ), The Origin of Wealth (อยู่ในอันดับ S+B เช่นเดียวกัน)

            ท่านผู้อ่านที่สนใจก็ลองไปหาหนังสือเหล่านี้มาอ่านดูนะครับ ผมเองพอเขียนบทความนี้เสร็จก็คงต้องออกไปหาซื้อหนังสือมาตุนไว้เพิ่มเหมือนกันครับ แต่ก็ไม่แน่ใจว่าจะได้อ่านเมื่อไร พวกที่ซื้อไว้สองสามปีที่แล้วก็ยังอยู่ในตู้ใหม่เอี่ยมอยู่เลยครับ