17 December 2006
ดูเหมือนจะกลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติสำหรับผมไปแล้วนะครับ ที่พอใกล้สิ้นปี ก็จะมีการนำเสนอรายชื่อหนังสือทางด้านการบริหารจัดการที่ออกมาในช่วงปีที่ผ่านมาและได้รับการยกย่องจากบรรดานักอ่าน นักวิชาการ และนักวิจารณ์ทั้งหลาย ผมลองย้อนกลับไปในปีก่อนๆ เพื่อดูว่าหนังสือที่ได้รับการยกย่องในอดีตนั้น ได้มีประโยชน์หรือก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการบริหารจัดการมากน้อยแค่ไหน อย่างเช่นในปีแรกที่ผมเขียนให้กับทางผู้จัดการรายสัปดาห์ (2545) นั้น ก็มีหนังสือดังอย่าง Jack: Straight From the Gut ของ Jack Welch หรือ The Heart of Change ของ John Kotter เป็นต้น พอปี 2546 ก็จะมี The Innovator’s Solutionโดย Clayton Christensen และ Michael Raynor หรือหนังสือที่ยังพูดถึงกันจนปัจจุบันอย่าง Beyond Budgetingโดย Jeremy Hope และ Robin Fraser พอมาปี 2547 หนังสือดังๆ ที่ยังคงใช้กันอยู่ก็มี Strategy Maps โดย Robert S. Kaplan และ David P. Norton หรือที่ยังขายดิบขายดีจนถึงปัจจุบันอย่าง The Toyota Wayโดย Jeffrey K. Liker สุดท้ายก่อนที่จะมาดูของปี 2549 นี้ ก็มีของปีที่แล้ว (2548) ครับ ซึ่งโด่งดังสุดก็หนีไม่พ้น Blue Ocean Strategy ของ W. Chan Kim and Renée Mauborgne และ Winning โดย Jack Welch และ Suzy Welch ครับ
สำหรับปี 2549 นี้ผมก็ขอนำรายชื่อหนังสือทางด้านธุรกิจยอดนิยมมาจากวารสาร Strategy + Business ของบริษัทที่ปรึกษาชื่อดังอย่าง Booz Allen อีกครั้งนะครับ ซึ่งเขาก็ได้จัดอันดับสุดยอดหนังสือทางด้านการบริหารจัดการมานาน โดยผมขอเริ่มในด้านที่ผมสนใจก่อนนะครับ นั้นคือในด้านกลยุทธ์ (Strategy) ซึ่งในความเห็นส่วนตัวของผมนั้นปีนี้ (2549) ไม่ค่อยมีหนังสือทางด้านกลยุทธ์ที่สร้างความฮือฮาให้เท่าใด ไม่เหมือนปีที่ผ่านๆ มาที่อย่างน้อยจะมีหนังสือหนึ่งเล่ม ที่สร้างความคึกคักให้กับวงการหนังสือด้านการบริหารจัดการ ปีนี้ถ้าท่านผู้อ่านสำรวจแผงหนังสือด้านกลยุทธ์ก็จะพบว่าหนังสือขายดีด้านนี้ก็ยังเป็น Blue Ocean Strategy ที่ขายดีต่อเนื่องมาจากปีที่แล้ว
ในปี 2549 ทางวารสาร Strategy + Business เขาคัดเลือกหนังสือเด่นๆ ทางด้านกลยุทธ์มาสามเล่มครับ ประกอบด้วย The Growth Gamble: When Leaders Should Bet Big on New Business – and How They Can Avoid Expensive Failures เขียนโดย Andrew Campbell และ Robert Park เล่มที่สองได้แก่ 10 Rules for Strategic Innovators: From Idea to Execution โดย Vijay Govindarajan และ Chris Trimble และเล่มสุดท้าย ได้แก่ The Core Value Proposition: Capture the Power of Your Business Building Ideas โดย Jack G. Hardy
พอเห็นรายชื่อสุดยอดหนังสือทางด้านกลยุทธ์ทั้งสามเล่มก็ค่อนข้างแปลกใจเหมือนกันนะครับ เพราะผมเองจำได้ว่า The Growth Gamble กับ 10 Rules นั้นออกมาตั้งแต่ปี 2548 เลยไม่แน่ใจเหมือนกันว่าทำไมทางวารสาร Strategy + Business ถึงจัดเป็นสุดยอดหนังสือของปีนี้ (อาจจะหาหนังสือเด่นๆ ทางด้านกลยุทธ์ไม่ได้แล้วก็ได้นะครับ) อย่างไรก็ดีถ้าพิจารณาหนังสือทั้งสามเล่มจะพบว่าทั้งสามเล่มนั้นเป็นหนังสือที่ว่าด้วยกลยุทธ์ของการเติบโต (Growth Strategy) ซึ่งดูเหมือนจะเป็นกลยุทธ์ที่ได้รับความสนใจกันมาระยะหนึ่ง แต่ผู้บริหารของหลายๆ องค์กรก็มักจะประสบกับปัญหาในการแสวงหากลยุทธ์ในการเติบโตที่นำไปสู่การเติบโตของผลประกอบการอย่างแท้จริง ดังนั้นความสนใจของผู้บริหารในปัจจุบันจึงมักจะอยู่ที่การแสวงหากลยุทธ์ในการเติบโตด้วยวิธีการใหม่ๆ หรือ ที่เป็นนวัตกรรมทางกลยุทธ์ (Strategic Innovation) เพื่อให้องค์กรของตนเองมีการเติบโตอย่างแท้จริง
หนังสือ Growth Gamble นั้นเปิดตัวด้วยตัวอย่างของกลยุทธ์ในการเติบโตที่ล้มเหลวขององค์กรหลายๆ แห่ง พร้อมทั้งให้ข้อเสนอแนะจากงานศึกษาว่าผู้บริหารควรจะเติบโตในธุรกิจเดิมที่ตนเองมีความถนัด และพยายามอย่าคิดว่าธุรกิจเดิมของตนเติบโตช้า แล้วจำเป็นต้องขยายตัวเข้าสู่ธุรกิจอื่นเสมอไป แต่ถ้าจำเป็นต้องขยายตัวเข้าสู่ธุรกิจอื่นแล้ว ก็ต้องตอบคำถามที่สำคัญสี่คำถามก่อน ได้แก่ 1) องค์กรมีความได้เปรียบที่เด่นชัดหรือไม่? 2) ธุรกิจที่ขยายเข้าไปสู่นั้นยังมีโอกาสที่จะได้กำไรอยู่มากหรือไม่? 3) องค์กรมีความเชี่ยวชาญหรือความถนัดในธุรกิจนั้นมากน้อยเพียงใด? และ 4) การขยายตัวเข้าสู่ธุรกิจใหม่นั้นสามารถก่อให้เกิดและได้รับประโยชน์จากธุรกิจเดิมมากน้อยเพียงใด? ผู้เขียน Growth Gamble ทั้งสองคนเสนอว่า ถ้าคำตอบสำหรับทั้งสี่คำตอบนั้นเป็น “ใช่” แล้ว ถึงจะควรจะขยายเข้าสู่ธุรกิจอื่น
สำหรับ 10 Rules นั้น ทาง Strategy + Business ได้ยกย่องให้เป็นสุดยอดหนังสือด้านกลยุทธ์ของปี 2549 ไปครับ และเมื่อเข้าไปดูใน Amazon แล้ว ก็จะพบว่าหนังสือนี้ได้รับการวิจารณ์ที่มากกว่าและดีกว่าหนังสืออีกสองเล่มในกลุ่มเดียวกัน โดยในหนังสือเล่มนี้ เป็นหนังสือประเภท ‘How-To’ ในการที่องค์กรจะมีนวัตกรรมทางกลยุทธ์ โดยการที่จะมีนวัตกรรมทางกลยุทธ์ได้นั้น ต้องเริ่มต้นจาก ‘Forget, Borrow, Learn’ ครับ โดย Forget หรือการลืมนั้น ก็เปรียบเสมือนให้ลืมคิดถึงธุรกิจเดิมที่ตนเองอยู่เลย เนื่องจากการจะสร้างธุรกิจใหม่ขึ้นมาได้นั้น จะต้องพยายามคิดในกรอบความคิดใหม่ๆ และแตกต่างจากความคิดแบบเดิมๆ ส่วนการ Borrow หรือ การยืมนั้น ก็คือให้ยืมใช้ทรัพยากรต่างๆ จากธุรกิจเดิมมาใช้ ไม่ว่าจะเป็นฐานข้อมูลลูกค้า ช่องทางการจำหน่าย แบรนด์ หรือ เทคโนโลยี และสุดท้าย การ Learn หรือ เรียนรู้นั้น ก็คือให้เรียนรู้เพื่อที่จะให้ความคิดต่างๆ สามารถทำงานด้วยกันได้อย่างดี และพยายามเรียนรู้ให้เร็วที่สุด เพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น นอกจากนี้หัวใจสำคัญของหนังสือเล่มนี้อยู่ที่ Organizational DNA ที่จำเป็นสำหรับการนวัตกรรมธุรกิจใหม่ๆ โดย DNA ขององค์กรควรจะต้องฝังรากอยู่ในโครงสร้าง คน ระบบ และวัฒนธรรมองค์กร ซึ่งในหนังสือเล่มนี้ได้ให้แนวทางในการสร้าง DNA ขององค์กรสำหรับการเติบโตขึ้นมา
เล่มสุดท้าย The Core Value Proposition ผู้เขียนมองว่าการที่องค์กรธุรกิจจะเติบโตได้นั้นขึ้นอยู่กับการสร้างคุณค่าหลักแก่ลูกค้า (Core Value Proposition) ที่เหนือกว่าหรือแตกต่างจากคู่แข่งขัน โดยองค์ประกอบของคุณค่าหลักนั้นมีอยู่ด้วยกันทั้งหมดห้าประการด้วยกัน ได้แก่ ความคิดหลัก (Core Idea) ประโยชน์ที่ลูกค้าได้รับ กลุ่มลูกค้าเป้าหมาย สัญญาณที่ต้องการส่งให้ลูกค้ารับรู้ และรางวัล นอกจากนี้หนังสือเล่มนี้ยังเสนอวิธีการในการคิดและเลือกคุณค่าหลักสำหรับลูกค้าอีกด้วย
เป็นอย่างไรครับ สุดยอดหนังสือทางด้านกลยุทธ์ทั้งสามเล่มสำหรับปี 2549 ซึ่งจริงๆ ทางวารสาร Strategy + Business เขาก็บอกไว้นะครับว่าหนังสือทั้งสามเล่มสนับสนุนซึ่งกันและกันครับ โดย Growth Gamble นั้นจะช่วยตอบคำถามของเราว่าควรจะเติบโตเข้าไปในธุรกิจไหน ส่วน The Core Value Proposition จะพูดถึงการสร้างความแตกต่างในสายตาลูกค้าในธุรกิจที่เราเติบโตเข้าไป และ 10 Rules นั้นจะพูดถึงวิธีการในการเติบโต ท่านผู้อ่านที่สนใจก็ลองหาอ่านดูนะครับ แต่รู้สึกว่าจะหายากหน่อยนะครับ ต้องสั่งจาก Amazon เอา และสัปดาห์หน้าผมจะนำเสนอสุดยอดหนังสือทางการจัดการด้านอื่นๆ นะครับ