Photo by The Creative Exchange on Unsplash

9 June 2008

ท่านผู้อ่านคุ้นกับคำว่า Multitask ไหมครับ? คำๆ นี้มักจะเป็นคำที่เราใช้เรียกการทำงานมากกว่าสองอย่างพร้อมๆ กัน ซึ่งในโลกยุคปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นการทำงาน หรือ การเรียนหนังสือ เราจะพบการทำงานที่มีลักษณะของ Multitask กันเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้เนื่องจากเรามีงานที่ต้องทำให้สำเร็จมากขึ้น อีกทั้งงานต่างๆ มีความเร่งด่วนมากขึ้น ทำให้เราต้องพยายามใช้เวลาให้เป็นประโยชน์นั้นคือทำงานมากกว่าสองอย่างพร้อมๆ กัน ท่านผู้อ่านลองนึกสภาพการทำงานของท่านดูก็ได้นะครับ ท่านเคยตกอยู่ในสภาพที่กำลังนั่งพิมพ์งานบนคอมพิวเตอร์ แต่ในขณะเดียวกันก็เปิดโทรทัศน์เพื่อติดตามชีวิตน้องๆ ในบ้านเอเอฟ พร้อมกันนั้นบนคอมพิวเตอร์ก็เปิด msn ไว้ ซึ่งก็มีคนเข้ามาทักและพูดคุยเป็นระยะๆ นอกจากนี้ก็กำลังดาวน์โหลดโปรแกรมบางอย่างในคอมฯ แล้วก็เสียบ Small Talk คุยโทรศัพท์กับเพื่อน

            ถ้าชีวิตการทำงานหรือการเรียนของท่าน มีลักษณะข้างต้น ท่านอาจจะคิดว่าท่านเป็นคนที่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากจะมีคนมาชมท่านบ่อยๆ แต่จริงๆ แล้วการทำงานหรือการให้ความสนใจในหลายๆ อย่างพร้อมกัน หรือ Multitask นั้น ขัดกับลักษณะการทำงานของสมองเรา และไม่ได้ทำให้การทำงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลในลักษณะที่เราคิดนะครับ

            ในหนังสือชื่อ Brain Rules ของ John Medina ที่อธิบายถึงแนวทางต่างๆ ในการทำงานของสมองเรา เขาระบุไว้เลยครับว่า สมองของเรานั้นถูกออกแบบมาให้ทำงานในลักษณะของ Sequential หรืองานที่มีความต่อเนื่อง ไม่ใช่การทำงานหรือให้ความสนใจกับหลายๆ อย่างได้พร้อมกัน จริงอยู่นะครับ ท่านผู้อ่านอาจจะเถียงว่าเราสามารถเดินพร้อมกับพูดได้พร้อมๆ กัน หรือ นักเปียโน สามารถเล่น เปียโนสองมือคนละโน๊ตได้พร้อมกัน หรือ คนทุกคนสามารถพูดพร้อมกับรับทานอาหารไปได้ พร้อมๆ กัน

ซึ่งส่วนใหญ่เราจะนึกว่าเป็นความสามารถพิเศษหรือเป็นสิ่งที่ดี แต่ลักษณะของ Multitask ข้างต้นนั้นเป็น

การทำหลายๆ อย่างพร้อมกันที่เป็นไปโดยธรรมชาติ ไม่ต้องมีสมาธิหรือให้ความสนใจ

            แต่เมื่อใดก็ตามที่เราต้องทำงานที่ต้องอาศัยสมาธิหรือต้องให้ความสนใจแล้ว สมองเราไม่สามารถทำงานได้หลายๆ อย่างพร้อมกัน สมมติเช่นในขณะที่ผมกำลังนั่งเขียนบทความนี้อยู่ เซลประสาทต่างๆ ในสมองผมก็จะเริ่มสั่งการ เตรียมพร้อม สำหรับการเขียนบทความ แต่ถ้าผมเปิด msn ไปพร้อมๆ กัน และมีลูกศิษย์ผมส่งข้อความเข้ามาคุยด้วย ระบบการรับรู้ในสมองผู้ก็จะแจ้งให้เซลประสาททราบ ซึ่งเจ้าเซลประสาทก็จะสั่งการและเตรียมพร้อมให้ส่วนต่างๆ ในสมองผมเปลี่ยนไปให้ความสนใจต่อข้อ

ความที่ถูกส่งเข้ามา แทนที่จะเป็นการพิมพ์บทความ

            ดังนั้นท่านผู้อ่านจะเห็นได้นะครับว่าสมองเรานั้นถูกออกแบบมาให้ทำงานในลักษณะที่มีความต่อเนื่องกัน ไม่ใช่การทำงานที่พร้อมๆ กัน หลายครั้งที่เรากำลังให้ความสนใจและกำลังทำงานชิ้นหนึ่งอยู่ เมื่อถูกรบกวนและเปลี่ยนความสนใจไปงานอีกชิ้นหนึ่งแล้ว เรามักจะต้องกลับมานั่งถามตัวเองทุกครั้งว่า “ถึงไหนแล้ว” จริงอยู่นะครับอาจจะมีบางคนที่ดูเหมือนจะทำงานหลายอย่างพร้อมกันได้ดี แต่ไม่ใช่เนื่องจากสมองคนเหล่านี้ถูกออกแบบมาพิเศษนะครับ แต่เนื่องจากเขามีความทรงจำ หรือ working memory ที่ดี สามารถบันทึกหรือจดจำงานได้หลายๆ อย่างพร้อมกัน

            มีการศึกษาที่แสดงให้เห็นว่าถ้าเรากำลังมีสมาธิทำงานใดอยู่ การถูกรบกวนจากงานดังกล่าวจะทำให้เราใช้เวลามากขึ้นถึงร้อยละ 50 ในการทำงานดังกล่าวให้สำเร็จ และนอกจากนี้ยังพบอีกครับว่างานดังกล่าวจะมีโอกาสผิดพลาดมากกว่าการไม่ถูกรบกวนถึงร้อยละ 50 เช่นเดียวกัน ยกตัวอย่างเวลาผมเขียนบทความก็ได้ครับ สิ่งที่พบจากประสบการณ์ตนเองคือถ้านั่งเขียนตอนกลางคืนที่บ้านตัวเอง (ซึ่งเงียบสงบ) จะใช้เวลาไม่นานก็เขียนเสร็จ แต่เมื่อใดก็ตามที่มานั่งเขียนตอนเช้าที่คณะ เวลาที่ใช้ในการเขียนกลับนานขึ้น อย่างไรก็ดีสำหรับงานบางอย่างที่เราทำเป็นประจำและคุ้นชินแล้ว การถูกรบกวนหรือเปลี่ยนงานไปมา โอกาสที่งานนั้นจะใช้เวลานานขึ้นหรือความผิดพลาดมากขึ้น ก็จะลดน้อยลงครับ

            ตัวอย่างที่ชัดเจนอีกประการคือการคุยโทรศัพท์ไปพร้อมกับการขับรถครับ (เข้ากับสถานการณ์เลยนะครับ) มีงานวิจัยที่ชี้ออกมาให้เห็นเหมือนกันครับว่าการคุยโทรศัพท์ไปพร้อมๆ กับการขับรถนั้นมีอันตรายพอๆ กับการเมาแล้วขับเลยครับ เมื่อเกิดอุบัติเหตุ พวกที่คุยโทรศัพท์ไปด้วยจะเหยียบเบรก หรือ ลดความเร็ว ได้ช้ากว่าในขณะที่เราไม่ได้คุยโทรศัพท์ (เนื่องจากสมองเราทำงานเป็นขั้นๆ) และจากที่พบว่าอุบัติเหตุกว่าร้อยละ 80 จะเกิดในห้วงเวลาสามวินาทีที่เราสูญเสียสมาธิหรือละความสนใจ ดังนั้นการทำอย่างอื่นไปด้วยพร้อมกับการขับรถจึงเป็นการเพิ่มความเสี่ยงของอุบัติเหตุ

            ท่านผู้อ่านลองสังเกตดูก็ได้นะครับว่าระหว่างคุยโทรศัพท์และขับรถไปนั้น เราจะไม่สามารถมองเห็นเหตุการณ์หรือสิ่งต่างๆ ได้ดีเท่าระหว่างที่เราไม่ได้คุยโทรศัพท์ และจริงๆ แล้วทางรัฐบาลไม่ควรจะห้ามแค่เรื่องของการคุยโทรศัพท์ระหว่างขับรถนะครับ เพราะแม้กระทั่งการแต่งหน้า ทาปาก การรับทานอาหาร การแคะฟัน การเอื้อมไปหยิบของ ก็ล้วนแล้วแต่เข้าข่ายของ Multitasking ทั้งสิ้น ซึ่งก็จะทำให้มีโอกาสที่จะเกิดอุบัติเหตุสูงขึ้นครับ