15 June 2008
ท่านผู้อ่านยังจำโฆษณาที่มีชาวบ้านมาบ่นว่า “จน เครียด กินเหล้า” ได้ใช่ไหมครับ? ท่านผู้อ่านลองย้อนกลับมาดูตัวท่านเองบ้างนะครับว่าในช่วงหลังนี้ท่านมีอาการเครียดกันบ้างไหม? ไม่ว่าจะเป็นความเครียดจากที่บ้าน จากที่ทำงาน จากสภาวะเศรษฐกิจ หรือ จากการบ้านในบ้านเมืองเรา ปกติเวลาเรานึกถึงเรื่องของความเครียดนั้น เราจะมองความเครียดเป็นเรื่องเฉพาะตัวของแต่ละคน ผลเสียหายหรือผลกระทบของความเครียดนั้นเรามักจะมองว่าเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นกับแต่ละคน แต่จริงๆ แล้วถ้าบุคคลในประเทศมีอาการเครียดกันเยอะ ก็จะส่งผลต่อพัฒนาการของประเทศเหมือนกันนะครับ
ความเครียดไม่ใช่สิ่งที่ไม่ดีเสมอไปนะครับ ท่านผู้อ่านหลายท่านจะทำงานได้ดีภายใต้ความเครียด หรือ ความเครียดจะทำให้เราเกิดเรี่ยวแรงหรือกำลังกายที่ไม่เคยมีมาก่อน ทั้งนี้เมื่อร่างกายเราเกิดความเครียดขึ้น ร่างกายมนุษย์ซึ่งได้รับการออกแบบมาให้แก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เรามักจะเผชิญ ก็จะหลั่งสารออกมาสองชนิดเพื่อจัดการกับความเครียดที่เกิดขึ้น สารชนิดแรกคืออดรีนาลีน ซึ่งเราท่านมักจะคุ้นเคยกัน และเจ้าสารดังกล่าวก็ทำให้อัตราการเต้นของหัวใจเราเร็วขึ้น ความดันเลือดเพิ่มขึ้น และมีกำลังเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังมีฮอร์โมนอีกชนิดหนึ่งที่หลั่งออกมาแต่ไม่ค่อยเป็นที่รู้จักชื่อ Cortisol ครับ โดยเจ้าตัวหลังจะทำหน้าที่ปรับสมดุลในร่างกายเราจากความไม่รู้สึกสบายกายสบายใจจากความเครียดให้กลับสู่ภาวะปกติ
อย่างไรก็ดีถึงแม้ร่างกายเราจะมีปฏิกริยาตอบสนองต่อความเครียด แต่สิ่งที่ทางการแพทย์เขาพบก็คือการตอบสนองเหล่านี้ได้ถูกออกแบบมาเพื่อรองรับความเครียดที่เกิดขึ้นไม่นาน ไม่ใช่ความเครียดที่หลายๆ ท่านมักจะเป็นอยู่ในลักษณะข้ามวัน ข้ามสัปดาห์ และเมื่อคนเราเครียดติดต่อกันเป็นระยะเวลานานเช่นนี้การมีฮอร์โมนทั้งสองตัวหลั่งออกมานานๆ แทนที่จะเป็นผลดีกลับเป็นผลเสียนะครับ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของอัตราเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจที่สูงขึ้น หรือ ทำให้เกิดอัตราเจ็บป่วยเพิ่มมากขึ้น มีงานวิจัยที่แสดงให้เห็นว่าถ้าคนที่เครียดติดต่อกันนานกว่าเดือนและอยู่ในสังคมเหมือนปกติ คนเหล่านี้จะมีโอกาสติดเชื้อไวรัสที่ทำให้เป็นหวัดมากกว่าคนธรรมดาถึงสามเท่า
ประเด็นสำคัญคือยิ่งถ้าเครียดนานเข้า ความเครียดดังกล่าวจะทำร้ายความสามารถในการเรียนรู้ของคนเราครับ พวกที่เครียดนั้นจะทำเลขไม่เก่ง ไม่สามารถรับรู้เรื่องภาษาได้ดีเท่าปกติ ความทรงจำของคนพวกนี้จะแย่กว่าปกติ ไม่สามารถนำข้อมูลเก่าๆ ที่มีอยู่มาประยุกต์ใช้กับสถานการณ์ใหม่ๆ ได้ดี สมาธิของพวกเครียดจะไม่ดี และสุดท้ายก็จะส่งผลต่อความสามารถในการเรียนรู้ของเรา มีงานวิจัยที่แสดงให้เห็นว่าผู้ใหญ่ที่มีระดับความเครียดที่สูง ผลจากการทดสอบการรับรู้และความสามารถในการคิด จะทำได้แย่กว่าผู้ใหญ่ที่ไม่เครียดถึงร้อยละ 50 เชียวครับ และที่เราพอจะทราบกันอยู่บ้างก็คือความเครียดที่ยาวนานมักจะนำสู่อาการ
หดหู่ หรือ Depression ครับ และไม่ใช่ความหดหู่ประเภทนั่งริมหน้าต่างท่ามกลางสายฝนเหมือนในมิวสิกวิดีโอทั่วๆ ไปนะครับ แต่เป็นความหดหู่ที่ทำให้คนจำนวนมากฆ่าตัวตาย
ความน่าสนใจอย่างหนึ่งของร่างกายคนเราก็คือ มนุษย์เราแต่ละคนจะได้รับการออกแบบมาให้สามารถต่อต้านหรือจัดการกับความเครียดได้ดีแตกต่างกันครับ ซึ่งบรรดานักวิทยาศาสตร์ทั้งหลายเขาก็พบครับว่าสาเหตุหลักนั้นมาจากเรื่องของยีนที่แตกต่างกันของแต่ละคนครับ ดังนั้นก็น่าสนใจนะครับถ้าในอนาคตเราจะสามารถแยกพวกที่ทนทานต่อความเครียดได้ดีกับพวกที่มีปัญหากับความเครียดโดยตรวจเลือดเพื่อหายีนบางตัวที่อยู่ในร่างกายของเรา
จริงๆ แล้วความเครียดน่าจะเป็นเรื่องระดับประเทศนะครับ เนื่องจากงานวิจัยได้แสดงให้เห็นแล้วว่าเด็กที่มีความเครียดนั้นจะเรียนรู้ได้ดีกว่าเด็กที่ไม่เครียด และสาเหตุหลักในเรื่องของความเครียดของเด็กในวัยเรียนนั้นก็มาจากปัญหาที่บ้านครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาของครอบครัวที่ไม่อบอุ่น ในขณะเดียวกันความเครียดก็ส่งผลเสียต่อการทำงานเช่นเดียวกันครับ เนื่องจากถ้าพนักงานมีความเครียดกันเยอะๆ อัตราการเจ็บป่วยก็สูงตามไปด้วย ถ้าเก็บสถิติกันดีๆ เราจะพบนะครับว่าความเครียดจะเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้วันทำงานขององค์กรต่างๆ ต้องสูญเสียกันไปอย่างน่าเสียดาย เนื่องจากพนักงานเกิดอาการเจ็บป่วยและหยุดงาน พนักงานที่เครียดนั้นจะมีแนวโน้มที่จะหยุดงานบ่อยหรือมาทำงานสายกว่าพวกที่ไม่เครียด และความเครียดที่มีติดต่อกันยาวนานก็จะนำไปสู่ความสามารถในการคิด ความคิดสร้างสรรค์ และทักษะในการทำงานที่ลดลง
ส่วนสาเหตุหลักของความเครียดในที่ทำงานนั้นก็เนื่องจากมาจากเรื่องของการควบคุมครับ งานวิจัยพบว่า สถานการณ์ที่เราได้รับความคาดหวังในความสำเร็จของงานมากเพียงใด แต่เราไม่สามารถควบคุมผลของงานที่เกิดขึ้นมาได้ จะเป็นสถานการณ์หลักของการเกิดความเครียดในที่ทำงานครับ ยิ่งถ้าเราไม่สามารถควบคุมต่องาน ความสำเร็จของงาน ฯลฯ มากเท่าใด โอกาสเกิดความเครียดก็มีสูงขึ้นเท่านั้น นอกจากนี้ความเครียดจากที่บ้านก็ส่งผลทำให้เกิดความเครียดในที่ทำงานเหมือนกันนะครับ เนื่องจากสมองเราไม่สามารถแบ่งแยกระหว่างบ้านกับที่ทำงานได้อย่างชัดเจน ดังนั้นถ้าเราเกิดความเครียดเนื่องจากสถานการณ์ที่บ้านก็จะส่งผลทำให้เกิดความเครียดในที่ทำงานขึ้นมาได้ ซึ่งก็จะกลายเป็นวงจรย้อนกลับไปสร้างความเครียดที่บ้าน และก็เป็นวงจรที่ไม่มีที่สิ้นสุดครับ
องค์กรต่างๆ คงต้องให้ความสนใจเรื่องของการบริหารความเครียดกันมากขึ้นนะครับ และอย่าว่าแต่ระดับองค์กรเลยครับ ตอนนี้เชื่อว่าประชาชนชาวไทยก็คงเครียดกับปัญหาเศรษฐกิจและการเมืองที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งไม่ทราบว่าท่านๆ ทั้งหลายจะทราบหรือเปล่าว่าการทำให้คนไทยเครียดย่อมส่งผลต่อความสามารถในการเรียนรู้ของคนไทยและเด็กไทย รวมทั้งผลิตภาพในการทำงานของคนไทยด้วยนะครับ ท่านที่สนใจอยากจะศึกษาเพิ่มเติมก็มีหนังสือด้านนี้อยู่เยอะนะครับ ส่วนผมเองก็นำข้อมูลส่วนหนึ่งมาจากหนังสือชื่อ Brainrules โดย John Medina ครับ