30 June 2008

ในบทความของผมเมื่อครั้งที่แล้วได้นำเสนอแนวคิดในเรื่องของ Conceptual Age ที่บรรดานักคิด

ทั้งหลายเขามองว่าในศตวรรษที่ 21 นี้เรากำลังปรับเปลี่ยนจากยุคของ Information Age เข้าสู่ยุค Conceptual Age โดยถ้าเทียบกับยุคของ Information Age ที่ให้ความสำคัญกับ Knowledge Worker แล้ว คุณลักษณะที่สำคัญของ Conceptual Age นั้น จะมุ่งเน้นไปที่ผู้สร้างสรรค์ (Creators) และการให้ความสำคัญต่อความรู้สึก (Empathizer)

            ยุค Conceptual เป็นยุคของ High Concept และ High Touch ครับ โดย Daniel Pink ได้เขียนไว้ในหนังสือชื่อ A Whole New Mind ไว้ว่า High Concept นั้น ให้ความสำคัญกับความสามารถในการคิด สร้างสรรค์ ด้านอารมณ์ ความรู้สึก ความสามารถในการมองเห็นความเหมือนและโอกาสที่เกิดขึ้น รวมทั้งความสามารถในการเชื่อมโยงสิ่งที่แตกต่างและไม่เหมือนกัน ให้เป็นนวัตกรรมใหม่ ในขณะที่ High Touch นั้นเป็นความสามารถในการเข้าใจถึงความรู้สึก เข้าใจถึงความละเอียดอ่อนในปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคล  ความสามารถในการแสวงหาความสุขในตัวเราและผู้อื่น รวมทั้งการแสวงหาความหมายที่อยู่เบื้องลึกและแท้จริงของสิ่งต่างๆ

            รัฐบาลของหลายๆ ประเทศได้เริ่มเห็นถึงกระแสหรือแนวโน้มของยุค Conceptual Age กันแล้วนะครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปรับเปลี่ยนระบบการศึกษาให้มุ่งเน้นในเรื่องของความคิดสร้างสรรค์ ศิลปะ หรือแม้กระทั่งความสนุกของชีวิต แนวโน้มหนึ่งที่ชัดเจนคือการศึกษาต่อในระดับปริญญาโทของอเมริกาที่ในปัจจุบันกระแสเริ่มเปลี่ยนจาก MBA มาเป็น MFA หรือ Master of Fine Art มากขึ้นครับ และผู้ที่จบการศึกษาทางด้าน MFA นั้นกลายเป็นผู้ที่ตลาดต้องการตัวมากขึ้น เนื่องจากบุคคลเหล่านี้ได้กลายเป็นทรัพยากรที่มีค่าในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ และนำเสนอความแตกต่างให้กับสินค้าและบริการของบริษัท มีคำกล่าวด้วยซ้ำไปครับว่าปัจจุบันองค์กรธุรกิจถือว่าอยู่ใน ‘art business’ กันครับ ซึ่งไม่ได้หมายถึงธุรกิจทาง ด้านศิลปะหรือศิลปินอย่างเดียวนะครับ แต่ลองสังเกตซิครับว่าธุรกิจส่วนใหญ่จะต้องอาศัย Art หรือ ศิลปะเป็นปัจจับสำคัญเพื่อความสำเร็จทั้งสิ้น

            ถ้าท่านผู้อ่านยังนึกถึง Art Business เฉพาะห้องแสดงศิลปะ หรือ ร้านขายภาพวาด ก็ลองปรับมุมมองใหม่นะครับ ตัวอย่างของ Art Business ที่เราเห็นอย่างชัดเจนในปัจจุบัน เช่น ธุรกิจบันเทิง ธุรกิจทางด้านโฆษณาและสื่อต่างๆ หรือแม้กระทั่งที่สำคัญคือท่านผู้อ่านลองสังเกตดูแล้วจะพบว่าทุกองค์กร ทุกบริษัท จะต้องพึ่งพาการออกแบบหรือ Design กันมากขึ้นทุกขณะ นับตั้งแต่การออกแบบเว็บ ออกแบบโลโก้ ออกแบบป้ายชื่อ ออกแบบหัวจดหมายของบริษัท หรือ แม้กระทั่งออกแบบนามบัตร ฯลฯ และเป็นสิ่งที่ยอมรับกันโดยทั่วถ้วนว่าผลของงานออกแบบเหล่านี้ส่งผลต่อความสำเร็จของบริษัทแต่ละแห่งกันพอสมควร

            เรื่องที่น่าสนใจและต่อเนื่องกันก็คือในอดีต (หรือแม้กระทั่งในปัจจุบัน) เราให้ความสำคัญกับการวัดความฉลาดที่มาจากสมองข้างซ้ายเป็นหลัก เช่น การทดสอบไอคิว แต่ขณะเดียวกันก็มีงานวิจัยจากบรรดานักวิชาการต่างๆ ที่พยายามศึกษาถึงความสัมพันธ์ระหว่างคะแนนไอคิวของเรากับความสำเร็จในหน้าที่การงาน ท่านผู้อ่านลองเดาซิครับว่าคะแนนไอคิวนั้นส่งผลต่อความสำเร็จในหน้าที่การงานประมาณกี่เปอร์เซ็นต์?

            คำตอบที่ถูกต้องคือระหว่าง 4 – 10 % เท่านั้นเองครับ โดยระดับความฉลาดของคนที่วัดจากไอคิวนั้นจะมีส่วนช่วยในการเลือกวิชาชีพที่เราจะทำ หรือ เลือกสาขาอาชีพที่เราจะทำ แต่เมื่อเข้าสู่วิชาชีพดังกล่าวแล้วระดับของไอคิวมีผลต่อระดับความสำเร็จในวิชานั้นไม่มากอย่างที่เราคิดครับ และปรากฎว่าปัจจัยที่ทำให้สำเร็จและก้าวหน้าในวิชาชีพนั้นเริ่มจะเอนเอียงมาทางแนวคิดของ High Concept, High Touch มากขึ้นครับ เช่น มีงานวิจัยที่ชี้ให้เห็นว่าผู้บริหารที่ทำงานอย่างมีประสิทธิผล จะเป็นผู้ที่มีอารมณ์ขันมากกว่า แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าผู้บริหารจะต้องทำตัวเป็นตัวตลกให้ลูกน้องหัวเราะอยู่ตลอดเวลานะครับ แต่งานวิจัยได้ชี้ให้เห็นว่าผู้บริหารที่ทำงานอย่างมีประสิทธิผลเหล่านี้ จะสามารถทำให้ลูกน้องรู้สึกขำหรือหัวเราะได้มากกว่าผู้บริหารอื่นถึงสามเท่า (จะสังเกตนะครับว่าเดี๋ยวนี้ผู้บริหารหลายๆ ท่านเริ่มที่จะรู้จักเล่นและปล่อยมุกตลกกันมากขึ้น)

            เมื่อเชื่อมโยงกลับไปบทความที่แล้วของผมท่านผู้อ่านคงจะเห็นภาพได้ชัดเจนขึ้นนะครับว่าทำไมผมถึงได้ระบุไว้ว่าการทำงานของสมองข้างขวาของเราถึงจะมีบทบาทและความสำคัญมากขึ้นในอนาคต เนื่องจาก High Concept, High Touch นั้น เราจะอาศัยสมองข้างขวามากกว่าข้างซ้ายครับ

            ก่อนจบขอฝากข่าวประชาสัมพันธ์ครับ เนื่องจากปีนี้คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ จะครบรอบ 70 ปี ทางคณะร่วมกับทางสมาคมนิสิตเก่าฯ จึงจะจัดงานสัมมนาทางวิชาการขึ้นสองครั้งครับ ครั้งแรกในวันที่  7 สิงหาคมนี้ เรื่อง Leading Towards Virtual Century ซึ่งจะมีคณาจารย์และนิสิตเก่าของ

คณะมาพูดคุยให้ฟังถึงเรื่องต่างๆ ที่น่าสนใจ ผมเองก็จะไปเล่าให้ฟังว่าเราจะใช้สมองข้างขวาให้มากขึ้นสำหรับการบริหารองค์กรและการคิดกลยุทธ์ได้อย่างไร ถ้าสนใจก็โทร.มาสอบถามรายละเอียดได้ที่ 02-218-5867 นะครับ