23 June 2008
ขึ้นพาดหัวบทความในสัปดาห์นี้ไว้ว่าเป็นคลื่นลูกที่สี่ ท่านผู้อ่านอาจจะสงสัยนะครับว่าแล้วคลื่นลูกที่หนึ่ง สอง และ สามคืออะไร? จริงๆ เรื่องของคลื่นลูกต่างๆ นั้นก็เป็นการแบ่งยุคสมัยของการเปลี่ยนแปลงทางความคิดและการดำรงชีวิตของคนเราโดยพวกนักคิด นักวิชาการต่างๆ ครับ โดยในช่วงคลื่นลูกที่หนึ่งนั้นถือเป็นการเปลี่ยนแปลงของสังคมมนุษย์จากการเลี้ยงสัตว์และเร่ร่อน มาลงหลักปักฐานสู่สังคมเกษตรกรรมในช่วงคริสศตวรรษที่ 18 จากนั้นพอเข้าสู่คริสตศตวรรษที่ 19 ก็เกิดการเปลี่ยนแปลงในวิถีการดำรงชีวิตของมนุษย์เราด้วยคลื่นลูกที่สอง นั้นคือการเปลี่ยนแปลงจากสังคมเกษตรกรรม มาเป็นสังคมอุตสาหกรรม โดยการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญคือการปฏิบัติอุตสาหกรรม สำหรับคลื่นลูกที่สามที่เกิดขึ้นในศตวรรษที่ 20 นั้นก็เป็นยุคของข้อมูลและเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือ Information Age ตอนนี้เราก้าวเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 มาได้ 8 ปีแล้ว ก็เริ่มมีการมองอีกเหมือนกันครับว่า เรากำลังเข้าสู่คลื่นลูกที่สี่ ซึ่งเป็นยุคของ Conceptual Age หรือถ้าจะแปลเป็นไทยก็คงหนีไม่พ้น “สังคมความคิด”
ท่านผู้อ่านอาจจะงงนะครับว่าการเปลี่ยนแปลงจากสังคมยุคข้อมูลข่าวสารเป็นสังคมความคิด นั้นมีที่มาที่ไปอย่างไร? จริงๆ แล้วเขาก็มองกันที่แนวโน้มและพัฒนาการของมนุษย์เรานั้นแหละครับ ในช่วงคลื่นลูกที่สามเมื่อศตรวรรษที่แล้วนั้น เราเห็นกระแสความตื่นตัวในเรื่องของข้อมูลข่าวสาร และพัฒนาการของเทคโนโลยีสารสนเทศกันอย่างมากมาย พัฒนาการที่เกิดขึ้นทั้งในด้านของเทคโนโลยีและธุรกิจ รวมทั้งวิธีการในการคิด การเรียนรู้ และการทำงานของคนเราก็สะท้อนภาพที่เกิดขึ้นในยุคที่แล้ว
ในยุคแรกนั้นประชากรส่วนใหญ่จะเป็นเกษตรกร พอมายุคที่สองประชากรส่วนใหญ่จะเป็นคนทำงานในภาคอุตสาหกรรม และพอมายุคที่สามคนทำงานส่วนใหญ่จะมองว่าตนเองเป็น คนทำงานที่ใช้ความรู้ หรือ Knowledge Workers แต่สิ่งที่เราพบเจอเมื่อเริ่มศตรวรรษที่ 21 คือการเป็น Knowledge Workers นั้นอาจจะไม่เพียงพอต่อไปแล้ว ส่วนสาเหตุที่ไม่เพียงพอนั้นก็คงต้องขอเจาะลึกไปที่การใช้สมองของคนเรานะครับ
ท่านผู้อ่านคงทราบอยู่แล้วว่ามนุษย์เรามีสมองสองซีกซึ่งเชื่อมต่อและสัมพันธ์กัน นั้นคือสมองข้างซ้ายและข้างขวา โดยสมองข้างซ้ายนั้นนอกเหนือจากจะควบคุมร่างกายซีกขวาของเราแล้ว ยังเป็นสมองที่ควบคุมการคิดต่างๆ ที่มีลักษณะของการวิเคราะห์ในแต่ละส่วน เป็นเหตุผล การคิดที่เป็นขั้นเป็นตอน ในขณะที่สมองซีกขวานั้นจะควบคุมการทำงานของร่างกายซีกซ้ายของเรา และยังเป็นสมองที่ควบคุมการคิดในด้านของการมองภาพ การมองสิ่งต่างๆ ในเชิงองค์รวม การหาความสัมพันธ์และเชื่อมโยงระหว่างสิ่งต่างๆ อารมณ์หรือการสื่อสารที่ไม่ได้เน้นคำพูด
ซึ่งถ้าเรามองย้อนกลับไปดีๆ นะครับจะพบว่าผู้ที่เป็น Knowledge Workers ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มที่
สมองข้างซ้ายมากกว่าข้างขวา และเราเองก็ถูกสอน ถูกสั่งมาให้ฝึกฝนสมองข้างซ้ายเป็นหลัก ลองนึกภาพตั้งแต่สมัยเรียนหนังสือก็ได้ครับ วิชาต่างๆ ที่ถือว่าสำคัญและจำเป็นต่อการเข้าเรียนต่อมหาวิทยาลัยนั้น มากกว่าครึ่งเป็นวิชาที่มุ่งเน้นไปสมองข้างซ้าย ในขณะเดียวกันพอเข้ามหาวิทยาลัยได้บรรดาคณะยอดนิยมทั้งหลายไม่ว่าจะเป็น แพทย์ วิศวะ หรือ บัญชี ก็ล้วนแล้วแต่มุ่งเน้นที่สมองข้างซ้ายอีก พอจบตรีจะเรียนต่อปริญญาโท หลักสูตรยอดนิยมอย่าง MBA นั้นก่อนจะเข้าเรียนได้ก็ต้องสอบ GMAT อีก (ก็มุ่งเน้นสมองข้างซ้ายเช่นกัน) พอเข้ามาเรียน MBA ความเชี่ยวชาญที่ถูกสร้างก็คือเรื่องของการวิเคราะห์ใน
ด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการเงิน การตลาด หรือ กลยุทธ์ ฯลฯ และสุดท้ายจะพบประสบความสำเร็จในการทำงานได้ก็ต้องเป็นคนที่วิเคราะห์เก่ง คิดแบบมีหลักการ เหตุผล
สิ่งที่ผมร่ายมาข้างต้นไม่ถือว่าผิดนะครับ เนื่องจากเป็นสิ่งที่ทำให้ผู้นำ หรือ ผู้บริหารหลายๆ ท่านประสบความสำเร็จมามากแล้ว แต่คำถามต่อไปก็คือแนวโน้มต่างๆ ข้างต้นนั้นเป็นสิ่งที่ใช่หรือจำเป็นต่อความสำเร็จที่จะเกิดขึ้นในอนาคตหรือไม่? ตอนนี้เบ้าหลอมที่ดูเหมือนจะเป็นสูตรสำเร็จสำหรับวงการธุรกิจคือเรียนปริญญาตรีวิศวกรรมศาสตร์แล้วต่อ MBA ซึ่งกลายเป็นเรื่องปกติไปแล้ว ท่านผู้อ่านลองไปดูหลักสูตร MBA ของมหาวิทยาลัยต่างๆ ซิครับ แล้วท่านจะพบว่าปัจจุบันมีผู้ที่มีพื้นฐานทางด้านวิศวกรรม มาเรียนกันมากกว่าครึ่ง
แต่เมื่อมองที่ความต้องการในปัจจุบัน ท่านผู้อ่านสังเกตซิครับ สิ่งที่เรามุ่งเน้นและให้ความสำคัญกันมากขึ้นในปัจจุบัน คือ เรื่องของการสร้างสรรค์ การออกแบบ และนวัตกรรม ต่อให้เรามีคนที่จบวิศวะและต่อ MBA อยู่เต็มองค์กร แต่ถ้าคนเหล่านี้มุ่งเน้นแต่การใช้สมองข้างซ้ายเป็นหลัก เรื่องความคิดสร้างสรรค์ การออกแบบ และนวัตกรรม ก็ยากที่จะเกิดครับ เนื่องจากปัจจัยต่างๆ เหล่านั้นจะต้องอาศัยสมองข้างขวามาก กว่าข้างซ้าย ดังนั้นในยุคใหม่หรือยุคของความคิดนี้ เป็นยุคที่เราต้องใช้สมองทั้งสองข้างอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลครับ นั้นคือใช้ประโยชน์จากสมองทั้งสองข้างของเรา ไม่ได้มุ่งเน้นไปที่ด้านใดด้านหนึ่งเท่านั้นเอง ซึ่งในสัปดาห์หน้า ผมจะมาเล่าให้ฟังต่อนะครับว่าจะใช้สมองข้างขวาให้เป็นประโยชน์มากขึ้นได้อย่างไร