2 May 2008

ผมขึ้นหัวข้อบทความอย่างในสัปดาห์นี้ ท่านผู้อ่านโปรดอย่าเพิ่งเข้าใจผิดว่าจะเปลี่ยนจากเรื่องวิชาการเป็นเรื่องของการเมืองแต่ประการใดนะครับ เพียงแต่ว่ามีรายงานวิจัยเกี่ยวกับสองเรื่องนี้ขึ้นมาและเห็นว่าเป็นสิ่งร่วมสมัยเลยขออนุญาตมานำเสนอให้พิจารณานะครับ

            เรื่องแรกมาจากบทความเรื่อง Rudeness and Its Noxious Effects จากวารสาร Harvard Business Review ฉบับเดือนมีนาคมนี้ โดยในบทความดังกล่าวได้อ้างถึงงานวิจัยของ Christine Porath และ Amir Erez ที่เขาได้ทำการทดลองเพื่อหาผลกระทบที่เราจะได้รับจากคำพูดที่รุนแรง และหยาบคาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งคำพูดที่หยาบคายจากผู้ที่เป็นผู้นำ ว่าจะส่งกระทบต่อความรู้สึกของคนเราได้อย่างไร และนอกจากผลกระทบต่อความรู้สึกแล้ว คำพูดอันหยาบคายยังจะส่งผลกระทบต่อความสามารถในการคิด การสร้างสรรค์ และความทรงจำของบุคคลต่างๆ ได้อย่างไร

            จริงๆ แล้วคำพูดที่ทำร้ายความรู้สึกและสติปัญญาของผู้ฟังนั้นไม่จำเป็นต้องเป็นคำหยาบคายเท่านั้นหรอกครับ แม้กระทั่งการใช้คำพูดทำร้ายผู้อื่น โดยอาจจะเป็นคำพูดธรรมดา แต่สามารถกรีดทำร้ายผู้อื่นนั้นก็อยู่ในการทดลองนี้เช่นเดียวกันครับ ในการทดลองเพื่อหาผลกระทบของคำพูดที่หยาบคาย รุนแรง หรือ เชือดเฉือนนั้น เขาแบ่งผู้ทดลองออกเป็นสามกลุ่มครับ กลุ่มแรกเป็นกลุ่มที่ได้รับฟังคำพูดเหล่านั้นโดยตรงจากผู้ที่ทำงานอยู่ด้วยโดยตรง กลุ่มที่สองเป็นกลุ่มที่ได้รับฟังคำพูดเหล่านั้นโดยตรงเช่นเดียวกัน แต่จากคนที่ไม่ได้อยู่ในกลุ่มหรือจากบุคคลภายนอกที่ไม่เกี่ยวข้อง และ กลุ่มที่สามเป็นกลุ่มที่ได้รับการบอกให้ลองจินตนาการว่าได้รับฟังคำพูดเหล่านั้น (เรียกได้ว่าไม่ได้ยินโดยตรงแต่ให้ลองฝันว่าได้ยิน)

            ผลที่เกิดขึ้นปรากฎว่าในกลุ่มทดลองทั้งสามกลุ่มนั้น ความสามารถในการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นการแก้ไขปัญหา หรือ การหาทางออกหรือทางเลือกต่างๆ ด้อยลงไป หรือ เรียกได้ว่าความสามารถในการทำงานลดถอยลง ซึ่งผู้ที่ทำการวิจัยเขาก็สรุปว่าเกิดขึ้นเนื่องจากภายหลังที่ได้รับฟัง (หรือคิดว่าได้รับฟัง) ต่อถ้อยคำที่หยาบคาย รุนแรง หรือ เชือดเฉือนแล้ว คนเราจะคิดมากเกี่ยวกับคำพูดเหล่านั้น ไม่ว่าจะเป็นการหาคำพูดเพื่อตอบโต้ หรือ รับฟังไว้เฉยๆ และการที่เราผ่านกระบวนการคิดเหล่านั้นทำให้เราดึงความสามารถในการคิดมาใช้ และทำให้เราไม่สามารถคิดและตัดสินใจได้ดังปกติ

            ดังนั้นข้อสรุปที่ได้จากการทดลองนี้ก็คือท่านทั้งหลาย (โดยเฉพาะท่านผู้นำทั้งหลาย) ต้องระวังการใช้คำพูดที่หยาบคาย รุนแรง หรือ เชือดเฉือนนะครับ เนื่องจากผลกระทบที่เกิดขึ้นนั้นไม่เพียงแต่ความสามารถในการคิดและทำงานของผู้ที่ได้รับฟังโดยตรงแล้ว ผู้ที่ไม่เกี่ยวข้อง หรือ ไม่รู้เรื่องก็จะพลอยสูญเสียความสามารถในการคิดไปด้วย ……………… น่าสงสารคนไทยนะครับ

            นอกเหนือจากเรื่องหยาบคายแล้ว มาดูเรื่องของการคดโกงกันนะครับ ซึ่งผมนำมาจากวารสาร Harvard Business Review ในเดือนกุมภาพันธ์นี้ เรื่อง How Honest People Cheat เขียนโดย Dan Ariely ครับ ซึ่งเป็นบทความที่มาจากงานวิจัยเช่นเดียวกันครับ โดยเริ่มต้นจากความเชื่อที่ว่า คนเราจะคดโกงหรือขี้โกงนั้น เกิดเนื่องจากคนสองลักษณะ ลักษณะแรกเป็นพวกที่คอยมองหาโอกาสในการโกงตลอดเวลา คนเหล่านี้จะมีการคำณวนความเสี่ยงระหว่างผลตอบแทนที่จะได้จากการโกงกับความเสี่ยงที่จะถูกจับได้ ส่วนคนอีกประเภทหนึ่งนั้น คนเราจะมีความซื่อสัตย์เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เพียงแต่จะโกงก็ต่อเมื่อถูกยั่วยวนด้วยสิ่งล่อใจ

            ทางผู้เขียนบทความเขาก็ได้มีการทดลองด้วยหลากหลายวิธีการ และข้อสรุปที่สำคัญที่น่าสนใจเกี่ยวกับธรรมชาติของมนุษย์คือ ความเสี่ยงที่จะถูกจับได้ ไม่ส่งผลกระทบต่อระดับของความไม่ซื่อสัตย์ นั้นคือถ้าคนเราจะไม่ซื่อสัตย์หรือเป็นพวกที่คดในสายเลือดอยู่แล้ว ไม่ว่าจะมีความเสี่ยงที่จะถูกจับมากน้อยเพียงใด ก็จะไม่ส่งผลกระทบต่อการกระทำของบุคคลเหล่านั้น

            นอกจากนี้ถ้าการโกงนั้นทำให้ได้รับสิ่งตอบแทนอื่นๆ ที่ไม่ใช่เงิน อาทิเช่น ของขวัญ บ้าน รถยนต์ ทัวร์ต่างประเทศ เครื่องเพชรพลอย ฯลฯ ซึ่งของเหล่านี้สามารถเปลี่ยนเป็นเงินได้ในภายหลัง จะทำให้ระดับความเป็นไปได้ในการที่จะคดโกงเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่ามากกว่าการได้รับเงินสดเพียงอย่างเดียว ในขณะเดียวกันถ้าคนเราได้รับการล่อหลอกหรือยั่วยวนหรือล่อใจแล้ว คนเรามีแนวโน้มที่จะไม่ซื่อสัตย์เล็กๆ น้อยๆ (แบบน่ารัก) เช่น การหยิบปากกา หรือ พวกของใช้เล็กๆ น้อยๆ จากโรงแรม ผลวิจัยดังกล่าวพยายามจะชี้ให้เห็นว่าทำไมคนที่ตอนแรกๆ ก็ดูเหมือนจะซื่อสัตย์ดี แต่พอมีสิ่งยั่วใจแล้ว จะทำให้เริ่มเขวหรือประพฤติตนในสิ่งที่ไม่ควรจะเป็น ดังนั้นดูเหมือนว่าทางที่ดีที่สุดคือพยายามหาทางลดสิ่งล่อใจต่างๆ เหล่านี้เสียเลยครับ เพื่อไม่เปิดโอกาสให้คนคดโกงได้

            เนื้อหาในสัปดาห์นี้เป็นเพียงการนำเสนอผลการวิจัยทางวิชาการสู่ท่านผู้อ่านนะครับ ท่านผู้อ่านอย่าลืมใช้วิจารญาณของตนเองในการพิจารณาด้วยนะครับ