Photo by Austin Distel on Unsplash

30 March 2008

ไม่ทราบว่าท่านผู้อ่านเห็นด้วยกับสุภาษิตของไทยที่ว่า “ดูช้างให้ดูหาง ดูนางให้ดูแม่” หรือเปล่าครับ ผมเองเห็นด้วยร้อยเปอร์เซ็นต์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อดูจากลูกสาวและภรรยาผม อย่างไรก็ดีสัปดาห์นี้ผมจะขอขยายสุภาษิตดังกล่าวออกไปอีกหน่อยได้ไหมครับ เป็น “ดูช้างให้ดูหาง ดูนางให้ดูแม่ ดูนายให้ดูลูกน้อง” เนื่องจากถ้าเราอยากจะรู้ว่าเจ้านาย ผู้นำ หรือ ผู้บังคับบัญชาของแต่ละหน่วยงานมีบุคลิกภาพ คุณลักษณะ รวมทั้งแนวทางในการบริหารจัดการอย่างไร เราอาจจะดูได้จากตัวผู้ใต้บังคับบัญชาหรือลูกน้องของท่านเหล่านั้น โดยตรง โดยที่ยังไม่ต้องเจอตัวผู้นำเลยก็ได้ครับ

            ผมขอยกตัวอย่างที่เห็นได้ง่ายๆ อย่างหนึ่งครับ นั้นคือเรื่องของการตรงต่อเวลา ผมเองมีโอกาสเข้าร่วมประชุม สัมมนา ฯลฯ กับบริษัทและส่วนราชการต่างๆ จำนวนมากมาย และจะคอยสังเกตอยู่ตลอดเวลาถึงเรื่องความตรงต่อเวลาของหน่วยงานต่างๆ และข้อสังเกตที่พบได้ก็คือถ้าการเข้าประชุมของหน่วยงานไหน ที่บุคลากรในหน่วยงานมีความตรงต่อเวลา ก็จะพบว่าผู้ที่เป็นผู้บริหารของหน่วยงานดังกล่าว จะเป็นผู้ที่ให้ความสำคัญกับเวลา ในขณะเดียวกันองค์กรที่ไม่ให้ความสำคัญของเวลา ไม่ว่าจะเป็นการประชุม หรือ การเข้าห้องเรียน ห้องสัมมนา ก็มักจะพบว่าตัวผู้นำของหน่วยดังกล่าวก็มักปล่อยปละละเลยในเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน

            สาเหตุที่หยิบยกประเด็นนี้ขึ้นมาเขียนในสัปดาห์นี้เพราะอยากจะชี้ให้ท่านผู้อ่านเห็นว่า บรรดาผู้บริหาร ผู้นำต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นองค์กรหรือหน่วยงานใดก็ตาม มักจะตั้งความคาดหวังในด้านต่างๆ กับตัวผู้ใต้บังคับบัญชา อยากจะให้ลูกน้องทำอย่างโน้น อย่างนี้ หรือเป็นอย่างโน้น อย่างนี้ แต่ลองมองย้อนกลับมาที่ตัวท่านผู้บริหารก่อนนะครับ ว่าท่านได้ปฏิบัติตนเป็นตัวอย่างที่ดีให้ผู้ใต้บังคับบัญชาของท่านเห็นหรือยัง?

            จริงๆ แล้วหลักในการบริหารองค์กรหลายอย่าง ก็มีความคล้ายคลึงกับหลักการเลี้ยงดูลูก เหมือนกับที่ลูกๆ เราจะมองหรือปฏิบัติตัวตามผู้ปกครองหรือผู้ที่เลี้ยงดู การบริหารผู้ใต้บังคับบัญชาก็เช่นเดียวกันครับ ที่คนที่เป็นลูกน้องจะเฝ้ามองและติดตามพฤติกรรมของผู้ที่เป็นเจ้านาย และเลือกที่จะปฏิบัติตามการปฏิบัติตัวของเจ้านายมากกว่าการปฏิบัติตามคำพูดหรือคำสั่งของเจ้านาย

            ทีนี้ถ้าเรามองย้อนกลับมาเป็นตัวลูกน้องดูนะครับ ถ้าเจ้านายของท่านสั่งงานหรือมอบนโยบายบางอย่างให้ปฏิบัติ เช่น ขอให้พนักงานทุกคนช่วยกันประหยัดค่าใช้จ่ายต่างๆ  แต่พฤติกรรมของผู้ที่เป็นเจ้านายนั้นกลับตรงกันข้ามหรือไม่เป็นไปตามที่ได้สั่งงานหรือมอบนโยบายไว้ เช่น นอกจากจะไม่ประหยัดแล้ว ยังแสดงให้เห็นถึงการฟุ่มเฟือย และใช้จ่ายเงินของบริษัทโดยไม่มีเหตุจำเป็น ถ้าท่านผู้อ่านเจอเจ้านายที่มีลักษณะดังกล่าว ท่านจะเลือกปฏิบัติอย่างไร? ปฏิบัติตามนโยบายหรือตามการปฏิบัติตนของเจ้านาย?

            ลูกน้องอาจจะสงสัย ไม่เห็นด้วยต่อคำพูดหรือคำสั่งของเจ้านายได้เป็นเรื่องปกติ แต่ที่แน่ๆ คือลูกน้องจะให้ความเชื่อถือต่อสิ่งที่เจ้านายปฏิบัติ เรามักจะได้ยินคำนินทานายบ่อยๆ ว่า “ดีแต่พูด” หรือ “พูดได้แต่ทำไม่ได้” ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการที่เจ้านายจะพูดจาจูงใจ ชักแม่น้ำทั้งห้า หรือสั่งสอน ให้คำแนะนำใดๆ แก่ลูกน้องนั้นไม่ใช่เรื่องยาก แต่สิ่งที่ยากก็คือผู้ที่เป็นเจ้านายจะต้องปฏิบัติตนตามสิ่งที่พูดออกไปด้วย ถ้าย้อนกลับไปตัวอย่างเดิมเรื่องความตรงต่อเวลานั้น ถ้าเจ้านายคอยแต่พร่ำสอนลูกน้องให้ตรงต่อเวลา แต่ตนเองกลับไม่เคยแสดงออกถึงการให้ความสำคัญต่อการตรงต่อเวลานั้น สุดท้ายแล้วลูกน้องจะปฏิบัติตามหรือไม่? เพราะฉะนั้นท่านที่เป็นเจ้านายต้องอย่าสร้างความสับสนให้กับลูกน้องของท่าน โดยการพูดอย่างแต่ปฏิบัติอีกอย่างนะครับ นอกจากจะสับสนแล้ว ยังทำให้ความน่าเชื่อถือในคำพูดของท่านลดน้อยลง

            ผู้นำคือผู้ที่รับผิดชอบสำคัญต่อผลการดำเนินงานของทีมและลูกน้องที่ตนเองดูแล คนที่เป็นผู้นำจำนวนมากชอบที่จะมาปรึกษาเหมือนกันนะครับว่า จะนำหลักของการบริหารการเปลี่ยนแปลงมาใช้อย่างไร เพื่อให้ลูกน้องมีการเปลี่ยนแปลง พัฒนาการในทางที่ดีขึ้น ซึ่งคำถามหนึ่งที่ผู้นำเหล่านั้นควรจะถามตนเองก่อนทุกครั้งคือ ก่อนที่จะเปลี่ยนหรือพัฒนาลูกน้อง ท่านได้เปลี่ยนหรือพัฒนาตนเองหรือยัง? บางครั้งเราอาจจะต้องเปลี่ยนมุมมองเสียใหม่นะครับว่า คำว่าผู้นำนั้น แทนที่จะหมายถึงการชี้นำผู้อื่นนั้น บุคคลแรกที่เราควรจะเข้าไปชี้นำคือตัวเอง (ผู้นำ) ก่อนครับ ถ้าผู้นำอยากจะเปลี่ยนแปลงลูกน้อง ก็คงต้องย้อนกลับมาถามตนเองก่อนเหมือนกันนะครับว่า แล้วตนเองได้มีการเปลี่ยนแปลงหรือพัฒนาหรือยัง ก่อนที่จะไปคิดพัฒนาผู้อื่น?

            สรุปก็คือผู้นำจะต้องทำตนเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับลูกน้องครับ เพราะลูกน้องจะปฏิบัติตามตัวผู้นำ เหมือนกับว่าลูกน้องคือกระจกเงาสะท้อนตัวตนของผู้นำครับ ท่านที่เป็นผู้นำทั้งหลายลองหยุดแล้วถามตัวเองซักนิดหนึ่งนะครับว่า ปัจจุบันท่านกำลังทำตัวเป็นตัวอย่างในลักษณะใดให้ลูกน้องดูอยู่? ถ้าตัวอย่างที่ท่านผู้อ่านแสดงออก แสดงให้เห็นถึงความซื่อสัตย์ ไม่ผิดจริยธรรม มีความรู้ ความสามารถ มุ่งเน้นผลงาน มีการพัฒนาตนเองอยู่ตลอดเวลา ก็แสดงว่าท่านกำลังปฏิบัติตนเป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับลูกน้องท่าน แล้วสุดท้ายลูกน้องของท่านก็จะเป็นเหมือนกระจกเงาสะท้อนภาพสิ่งต่างๆ เหล่านี้ออกมา ซึ่งย่อมนำไปสู่ความเติบโตขององค์กร