
26 May 2008
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาผมมีโอกาสได้ไปศึกษาดูงานที่ประเทศญี่ปุ่น โดยในการไปครั้งนี้จุดมุ่งหมายหลักคือการศึกษาในเรื่องนวัตกรรมของญี่ปุ่น ทั้งนี้เนื่องจากเวลาเราพูดถึงเรื่องของนวัตกรรมทีไรนั้น เรามักจะนำเอาหลักการหรือทฤษฎีของทางฝั่งตะวันตกโดยเฉพาะอย่างยิ่งของอเมริกามาใช้ ทั้งๆ ที่ในภูมิภาคเอเชียนั้นญี่ปุ่นก็ถือเป็นเจ้าแห่งนวัตกรรมเช่นเดียวกัน ผมเชื่อว่าท่านผู้อ่านทุกท่านก็คงจะยอมรับอยู่แล้วว่าญี่ปุ่นถือเป็นแหล่งต้นกำเนิดของนวัตกรรมต่างๆ อยู่แล้ว เราเองติดใจในสินค้าของญี่ปุ่นในเรื่องของเทคโนโลยี การออกแบบ หรือแม้กระทั่งความกิ๊บเก๋
สิ่งที่ได้รับที่สำคัญประการหนึ่งจากการเดินทางในครั้งนี้คือวิธีคิดของเขาครับ ท่านผู้อ่านลองสังเกตดูนะครับว่าเวลาญี่ปุ่นเขาคิดค้นสิ่งใหม่ๆ ขึ้นมานั้น ส่วนใหญ่แล้วเป็นการคิดค้นที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้กับกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวันทั้งสิ้น ท่านอัครราชทูต ฝ่ายการพาณิชย์ของไทยประจำกรุงโตเกียว ได้ให้ข้อคิดเห็นที่น่าสนใจไว้เลยครับว่า เวลาชาวญี่ปุ่นเขาจะคิดสิ่งใดนั้น เขาจะคิดเผื่อสำหรับทุกๆ คน และทุกๆ กิจกรรมไว้เลย ดังนั้นถ้าในกิจกรรมไหนที่ทำให้คนประสบความยุ่งยากหรือลำบาก ก็จะมีการคิดค้นนวัตกรรมขึ้นมาเพื่อแก้ไขในจุดนั้น
ตัวอย่างที่ใกล้ตัวคือกระจกห้องน้ำในโรงแรมครับ ท่านผู้อ่านคงจะสังเกตนะครับว่าเวลาเราอาบน้ำร้อนในโรงแรมหรือแม้กระทั่งที่บ้านเรา ปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นประจำก็คือกระจกห้องน้ำมักจะขึ้นฝ้าหรือเป็นไอ เนื่องจากความร้อนที่อบอยู่ในห้องน้ำ และหลายๆ ครั้งเราก็ต้องใช้ผ้าขนหนูหรือใช้มือเช็ดกระจกนั้น เมื่อให้เรามองเห็นหน้าเราได้ชัดเจนขึ้นเมื่อส่องกระจก แต่ในโรงแรมที่ไปพักที่โตเกียวนั้น เมื่ออาบน้ำเสร็จผมพบว่ากระจกห้องน้ำ โดยเฉพาะบริเวณตรงอ่างล้างหน้าที่เรามักจะยืนนั้น กลับไม่มีฝ้าหรือไอขึ้นมาเลย (แต่ในส่วนอื่นของกระจกนั้นมีนะครับ) ซึ่งตอนแรกผมก็ตกใจนึกว่าอาจารย์ที่เป็นเพื่อนร่วมห้องจะแอบเข้ามาเช็ดให้ตอนผมอาบน้ำอยู่ แต่เมื่อเอามือไปจับบริเวณดังกล่าวพบว่าบริเวณนั้นมีความร้อนอยู่ แสดงว่าการออกแบบกระจกดังกล่าวได้ผ่านการคิดมาแล้วว่า ปัญหาหรืออุปสรรคสำคัญของการใช้กระจกในห้องน้ำคือการขึ้นไอหรือฝ้า ดังนั้นจึงมีเหมือนกับเครื่องทำความร้อนเล็กๆ ฝังอยู่ที่กระจกบริเวณที่เรายืน เมื่อไล่ฝ้าหรือไอร้อนออกไป
ตัวอย่างข้างต้นเป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งนะครับที่แสดงให้เห็นถึงวิธีการคิดอย่างหนึ่งของญี่ปุ่นเขาเกี่ยวกับนวัตกรรม นั้นคือเวลาคิดในสิ่งต่างๆ นั้นก็คือคิดให้รอบคอบ หรือ คิดเผื่อทุกคนและทุกกิจกรรมไว้ แล้วถ้ามีอุปสรรคหรือความไม่สะดวกสบายในส่วนไหน ก็คิดค้นนวัตกรรมมาเพื่อแก้ไข ทำให้ไม่น่าแปลกใจนะครับว่าทำไมญี่ปุ่นถึงมีนวัตกรรมที่น่าสนใจออกมาอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ
จริงๆ แล้วหลักการคิดในลักษณะข้างต้นนั้นทางฝรั่งเขาก็นำมาเขียนเป็นหลักการเหมือนกันนะครับ อย่างเช่นในเรื่องของ Blue Ocean Strategy หรือกลยุทธ์น่านน้ำสีครามที่เรากำลังเห่อกันอย่างมากใน
ปัจจุบัน ก็มีวิธีคิดประการหนึ่งที่เขาเรียกว่า Look Across Complementary Product and Service Offerings ที่เขาให้คิดว่าก่อน ระหว่าง หรือ หลังที่ลูกค้าใช้สินค้าหรือบริการของบริษัทนั้น มีอะไรที่เป็น Pain Point หรือความไม่สะดวกที่ได้รับบ้าง เพื่อให้องค์กรต่างๆ ได้คิดอย่างครบวงจร ไม่ใช่แค่คิดถึงการขายสินค้าหรือบริการให้ได้เพียงอย่างเดียว
ดังนั้นจะเห็นได้นะครับว่าวิธีคิดเกี่ยวกับเรื่องของนวัตกรรมของโลกตะวันออกกับตะวันตกนั้นก็มีลักษณะที่ใกล้เคียงกันเหมือนกัน เพียงแต่ชื่อที่ใช้อาจจะเรียกแตกต่างกันไปบ้าง
ในการเดินทางครั้งนี้ทางคณะที่ไปยังได้มีโอกาสไปเยี่ยมบริษัท Toyo Seikan Kaisha ซึ่งเป็นบริษัททางด้านบรรจุภัณฑ์ที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของญี่ปุ่น และเป็นใหญ่เป็นอันดับหกของโลก (มีบริษัทลูกในเมืองไทยอยู่หลายบริษัทเหมือนกันครับ) ซึ่งก็ได้ทำให้เห็นวิธีคิดในเรื่องนวัตกรรมของญี่ปุ่นในอีกมุมมองหนึ่งที่น่าสนใจ โดยปกติเวลาเราคิดถึงบรรจุภัณฑ์หรือ Packaging ของญี่ปุ่นนั้น เรามักจะนึกถึงแต่การออกแบบที่สวยงาม ทันสมัย เป็นหลัก แต่จริงๆ แล้วจะพบว่าการออกแบบบรรจุภัณฑ์ของเขานั้นยังมีที่มาที่ไปและให้ความสำคัญกับเรื่องอื่นๆ มากกว่าความสวยงามเพียงอย่างเดียว
ที่ Toyo Seikan นั้น เขาจะเริ่มต้นจากประเด็นท้าทายที่สำคัญที่เกิดขึ้น นั้นคือสังคมของญี่ปุ่นที่เป็นสังคมผู้สูงอายุ และเรื่องปัญหาภาวะโลกร้อน ซึ่งจากโจทย์ที่สำคัญสองประการข้างต้น เขาก็เลยได้มีการพัฒนาบรรจุภัณฑ์เพื่อตอบสนองต่อโจทย์ดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นกระป๋องน้ำดื่มที่เหมาะสำหรับผู้สูงอายุในการเปิด เนื่องจากท่านผู้อ่านนึกถึงกระป๋องน้ำอัดลมทั่วๆ ไปนะครับ ที่เวลาเราจะเปิดนั้น จะต้องใช้แรงที่นิ้วและข้อมือพอสมควร ซึ่งอาจจะเป็นปัญหาและอุปสรรคสำหรับผู้สูงอายุบางท่าน (ที่ไม่มีลูกหลานคอยเปิดให้) ทำให้กระป๋องที่มีการออกแบบให้ง่ายต่อผู้สูงอายุในการเปิด หรือ การนำเทคโนโลยีใหม่มาใช้ในกระบวนการผลิตกระป๋องน้ำอัดลม ทั้งให้สามารถลดการปล่อยก๊าซและน้ำเสียในขั้นตอนของการผลิต
นอกจากนี้อีกประเด็นที่ประทับใจก็คือ เขาไม่ได้มุ่งที่การออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้สวยงามและน่าใช้เพียงอย่างเดียวนะครับ แต่ที่ผู้บริหารเขามุ่งเน้นด้วยก็คือบรรจุภัณฑ์ที่ดี จะต้องออกแบบมาเพื่อให้สามารถรักษาคุณภาพของสินค้าที่อยู่ภายในด้วย
ตอนนี้คนไทยกำลังนิยมไปเที่ยวญี่ปุ่นกันอยู่เยอะนะครับ อยากจะฝากไว้ว่าเวลาเราไปเที่ยว ลองสังเกตนวัตกรรมของเขาดูนะครับ แล้วลองศึกษาถึงวิธีการในการคิดของเขาดูนะครับ เชื่อว่าเราน่าจะเรียนรู้อะไรได้บ้าง