Photo by Sasha Freemind on Unsplash

23 March 2008

ท่านผู้อ่านเคยตกอยู่ในภาวะซึมเศร้าหรืออารมณ์เศร้าบ้างไหมครับ? ถ้าท่านนึกอาการไม่ออก ท่านผู้อ่านลองสำรวจตัวเองทั้งในอดีตและปัจจุบันดูนะครับว่ามีอาการเหล่านี้บ้างหรือไม่? เริ่มตั้งแต่รู้สึกเศร้าหมอง กังวล หดหู่ใจ อยู่ดีๆ ก็ร้องไห้โดยไม่มีสาเหตุ ในขณะเดียวกันก็รู้สึกนอนไม่หลับ เบื่ออาหาร หรือ ไม่ก็รับทานมากเกินไป อ่อนเพลีย สมาธิในการทำงานไม่ดี ตัดสินใจในเรื่องต่างๆ ได้ช้า ขาความเชื่อมั่นในตนเอง คิดว่าตนเองไร้ค่า จนกระทั่งถึงขั้นคิดจะฆ่าตัวตาย ถ้าท่านมีอาการเหล่านี้ชั่วครั้งชั่วคราว หรือ นานๆ เป็นทีก็ไม่น่าจะเป็นไรนะครับ แต่ถ้าท่านเป็นบ่อย หรือ เป็นนานๆ ท่านควรจะรีบหาหนทางรักษาแล้วครับ เนื่องจากท่านเป็นโรคอารมณ์เศร้า หรือ Depressive Disorder ซึ่งนอกจากจะส่งผลเสียต่อตัวท่านเองแล้ว บุคคลรอบข้าง และองค์กรที่ท่านทำงานก็พลอยได้รับผลกระทบไปด้วย

            สาเหตุที่นำเรื่องนี้มานำเสนอไม่ใช่เนื่องจากตัวเองหรือคนรอบข้างเป็นโรคนี้หรอกนะครับ แต่เนื่องจากไปเห็นแผ่นพับของคลินิกสุขภาพจิตโรงพยาบาลสมิติเวช สุขุมวิท เกี่ยวกับโรคอารมณ์เศร้า เลยเกิดความสนใจขึ้นมาแล้วก็ลองหาข้อมูลเพิ่มเติม เพื่อนำเสนอให้ท่านผู้อ่านได้ตระหนักไว้ครับ เพียงแต่เนื่องจากตัวเองไม่ใช่แพทย์ ดังนั้นเลยขอนำเสนอในมุมมองของการบริหารจัดการแล้วกันนะครับ

            ก่อนอื่นคงต้องมาดูนะครับว่าเจ้าโรคอารมณ์เศร้านั้นเป็นโรคจริงๆ หรือ แล้วอะไรคือสาเหตุของเจ้าโรคดังกล่าว? เมื่อก่อนนั้นผมคิดว่าการที่คนเราจะเกิดอารมณ์หรือรู้สึกซึมเศร้าได้นั้นมักจะมาจากภาวะจิตใจของแต่ละคน รวมทั้งสภาวะแวดล้อมภายนอกที่เกิดขึ้นกับตนเอง แต่เมื่ออ่านเกี่ยวกับโรคนี้มากขึ้นแล้วพบว่าเจ้าโรคนี้ไม่ได้เกิดขึ้นจากการที่จิตใจเราหดหู่เป็นหลักเหมือนที่เคยคิดกันในอดีตครับ

            ทางการแพทย์นั้นเขายังไม่มั่นใจร้อยเปอร์เซ็นต์ว่าโรคนี้เกิดจากอะไร แต่ส่วนใหญ่แล้วมีความเห็นตรงกันว่าเกิดขึ้นจากความไม่สมดุลของเจ้าสารสื่อประสาท (Neurotransmitter) ในสมองเรา โดยเจ้าสารสื่อประสาทนั้นเป็นสารเคมีในสมองเราที่ทำหน้าที่นำหรือส่งสัญญาณประสาทจากส่วนหนึ่งของสมองไปยังอีกส่วนหนึ่ง ถ้าสารสื่อประสาทนั้นมีมากเกินไปหรือน้อยเกินไป ก็จะทำให้สมองของเราเกิดอาการผิดปกติขึ้นมาได้ครับ

            นอกจากความผิดปกติของสารสื่อประสาทในสมองเราแล้ว ปัจจัยแวดล้อมก็ส่งผลต่อโรคอารมณ์เศร้าเหมือนกันนะครับ โดยเฉพาะเด็กที่ได้รับการเลี้ยงดูอย่างไม่ถูกวิธีหรือไม่ได้รับการดูแล จะมีหลักฐานว่าจะมีอาการของโรคอารมณ์เศร้าเมื่อโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ นอกจากนี้พันธุกรรมก็มีส่วนครับ โดยถ้าใครมาจากครอบครัวที่มีประวัติของโรคนี้อยู่ ก็มีโอกาสมากกว่าคนธรรมดาถึงสามเท่าที่จะเกิดโรคอารมณ์เศร้าได้ ปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์เริ่มมองว่ายีนและสภาวะแวดล้อมเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดโรคนี้ โดยยีนที่เราได้รับถ่ายทอดมาทางพันธุกรรมจะทำให้เรามีความโน้มเอียงที่จะเป็นโรคนี้ แล้วถ้าเผชิญกับภาวะแวดล้อมภายนอก โดยเฉพาะอย่างยิ่งระหว่างการเติบโตของเรา ก็จะทำให้เรามีแนวโน้มเป็นโรคอารมณ์เศร้ามากขึ้น

            ประมาณกันว่าในอเมริกานั้นมีผู้ที่เป็นโรคอารมณ์เศร้าอยู่ถึง 17 ล้านคน ซึ่งจริงๆ แล้วผมเชื่อว่าคนเราโดยส่วนใหญ่ จะมีภาวะซึมเศร้า หรือ อารมณ์เศร้าบ้างเป็นบางจังหวะหรือบางช่วงในชีวิต (ถ้านึกไม่ออก ท่านผู้อ่านลองนึกถึงมิวสิควิดีโอที่ตัวเอกนั่งซึมเศร้าอยู่ริมหน้าต่าง มองฝนโปรยเพราะอกหักก็ได้ครับ) เพียงแต่เราจะปล่อยให้ความซึมเศร้านั้นอยู่กับเรานานแค่ไหน และส่งผลให้การทำงานและชีวิตส่วนตัวเราต้องประสบปัญหาหรือตกต่ำไปด้วยหรือไม่?

            ประมาณกันอีกว่าผู้หญิงจะมีโอกาสเป็นโรคนี้มากกว่าผู้ชาย โดยสุภาพสตรีหนึ่งในสี่ จะมีโอกาสเป็นโรคอารมณ์เศร้าในช่วงจังหวะใดจังหวะหนึ่งของชีวิต ส่วนสุภาพบุรุษนั้นอยู่ประมาณหนึ่งในแปดเท่านั้นเองครับ และโรคอารมณ์เศร้านั้นสามารถเกิดขึ้นได้ในทุกวัยครับ ตั้งแต่เด็กๆ จนถึงวัยชรา แต่จากสถิติพบว่าคนโดยส่วนใหญ่จะประสบกับโรคอารมณ์เศร้าครั้งแรกก็ประมาณช่วงอายุยี่สิบกว่าปีครับ

            พวกที่ซึมเศร้าเป็นครั้งคราวหรือชั่วครั้งชั่วคราว ยังไม่ค่อยน่าห่วงเท่าพวกที่เป็นประจำและนานๆนะครับ จากข้อมูลพบว่าพวกที่เป็นโรคนี้เอามากๆ มักจะมีอาการต่างๆ (หรือมากกว่านี้) ติดต่อกันนานเกินกว่าสองสัปดาห์ครับ โดยอาการเหล่านี้ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงของน้ำหนักอย่างชัดแจ้ง การไม่สามารถนอนหลับหรือหลับเกินกว่าปกติ การเหนื่อยง่ายหรือรู้สึกหมดแรงได้ง่าย การรู้สึกว่าตนเองไร้ค่าหรือรู้สึกผิดโดยไม่มีสาเหตุ ความสามารถในการคิดหรือสมาธิหรือการตัดสินใจลดลง และสุดท้ายคือความคิดเกี่ยวกับการที่จะฆ่าตัวตายหรือความพยายามที่จะทำร้ายตนเอง

            ท่านผู้อ่านที่มีอาการเหล่านี้ก็รีบพบแพทย์นะครับ ทางการแพทย์เขามียาและวิธีการในการรักษาครับ สำหรับผู้บริหารในองค์กรนั้นก็อาจจะต้องลองสังเกตบุคลากรรอบๆ ตัวท่านดูบ้างนะครับว่ามีอาการเหล่านี้หรือไม่? นอกจากผลิตภาพในการทำงานของคนที่เป็นโรคนี้จะตกลงแล้ว ความเสียหายต่างๆ ที่ไม่อาจจะประเมินได้ก็มีสิทธิ์ที่จะเกิดขึ้นได้นะครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาวะการทำงานที่กดดันและเข้มข้นเช่นปัจจุบัน องค์กรน่าจะมีกลไกหรือวิธีการในการช่วยเหลือบุคลากรเพื่อคอยดักจับและดูแลบุคลากรของตนเองให้ห่างไกลจากโรคอารมณ์เศร้า และถ้าจะถามว่าหน่วยงานไหนควรจะมีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรง ก็คงจะหนีไม่พ้นฝ่ายทรัพยากรบุคคลนะครับ