15 March 2008

การเมืองนั้นมีทั้งระดับชาติ ระดับท้องถิ่น และภายในองค์กรเอง ระดับชาติและระดับท้องถิ่นอาจจะเป็นสิ่งที่สงวนไว้สำหรับคนบางกลุ่มบางประเภท ยากที่เราจะทำความเข้าใจได้ง่าย แต่สำหรับการเมืองภายในองค์กรนั้น เชื่อว่าทุกท่านที่ทำงานคงจะได้สัมผัส และเผลอๆ เล่นอยู่เป็นประจำ ดังนั้นสัปดาห์นี้เรามาดูกันนะครับว่าบรรดาผู้เชี่ยวชาญและผู้บริหารทั้งหลายเขาให้คำแนะนำเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้อย่างไร

เวลาเราพูดถึงการเมืองภายในองค์กรหลายๆ ท่านมักจะมองหรือคิดถึงแต่ในแง่ร้ายหรือสิ่งที่ไม่ดี แต่จริงๆ แล้วเราถ้าใช้สิ่งเหล่านี้ให้ถูกต้องและเหมาะสม ย่อมทำให้การทำงานของเราบรรลุเป้าหมายที่ต้องการได้ ทั้งนี้หลักการง่ายๆ การคือความช่วยเหลือหลัก หรือ สิ่งกีดขวางหลักต่อความสำเร็จในการทำงานของเราก็คือคน ดังนั้นเพื่อให้งานของเราสำเร็จ เราก็หนีไม่พ้นที่จะต้องยุ่งเกี่ยวกับคน ไม่ว่าจะเป็นการสร้างมิตรใหม่ การเปลี่ยนศัตรูให้กลายเป็นมิตร การพยายามขายไอเดีย การสร้างการยอมรับ ฯลฯ ซึ่งเชื่อว่าเรื่องของคนนั้นเป็นเรื่องที่ยากในการบริหารและอ่อนไหวที่สุดเรื่องหนึ่ง เรามาดูกันนะครับว่ามีข้อแนะนำอะไรบ้าง ถ้าจะเล่นการเมืองให้เป็นประโยชน์ต่อความสำเร็จของงานของเรา

อย่างแรกเลยก็คือต้องให้เครดิตแก่ทีมครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่องานประสบความสำเร็จ ผมเองจำได้เลยครับว่าถูกสั่งสอนมาตลอดว่าให้ใช้คำว่า “พวกเรา” ทุกครั้งเมื่อประสบความสำเร็จ แต่ถ้างานไหนล้มเหลวก็ให้เปลี่ยนไปใช้คำว่า “ผม” แทน ซึ่งจะทำให้ได้ใจของทุกคนที่เกี่ยวข้อง แต่ขณะเดียวกันก็อย่าทำมากเกินไปจนหวานเลี่ยนนะครับ คนจะหาว่าเราไม่จริงใจ นอกจากนี้การแสดงความชื่นชมด้วยสื่ออื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นอีเมล บันทึก การ์ดขอบคุณ ก็เป็นสิ่งที่ท่านสามารถทำได้ครับ

วิธีที่สองในการสร้างมิตร ก็คือการชวนออกไปทานข้าวครับ ผมเชื่อว่าผู้บริหารในไทยใช้วิธีนี้บ่อยพอสมควรครับ เนื่องจากระหว่างทานอาหารเราจะผ่อนคลายกว่าอยู่ในที่ทำงาน และการพูดคุยระหว่างอาหารก็เป็นสิ่งที่สร้างสัมพันธภาพได้เป็นอย่างดีครับ โดยวัตถุประสงค์หลักของการชวนไปทานข้าวนั้นก็คือการสร้างมิตรและสัมพันธภาพที่ดีระหว่างเพื่อนร่วมงานครับ ท่านผู้อ่านอาจจะเริ่มคุยจากสิ่งเบาๆ รอบๆ ตัวก่อนนะครับ (อย่าไปแตะการเมืองและศาสนานะครับ ความเห็นอาจจะแตกต่างกันได้) ในขณะเดียวกันคอยสังเกตคู่สนทนาด้วยนะครับว่าเขาพร้อมจะให้ถามเรื่องส่วนตัวมากน้อยแค่ไหน ดูง่ายๆ ก็คือเขาถามเราเกี่ยวกับเรื่องส่วนตัวบ้างไหม ถ้าถาม เราก็ควรจะถามตอบครับ แต่ถ้าไม่เลย ก็อาจจะไม่เข้าไปใกล้มากนัก หลังจากพูดคุยอย่างเป็นกันเองและผ่อนคลายแล้วก็ค่อยๆ คุยเรื่องงานครับ บางครั้งท่านอาจจะขายตัวท่านได้ โดยยกความสำเร็จในงานที่เพิ่งทำไป แต่ก็อย่าให้มากจนน่าเกลียดนะครับ ควรจะมีระดับที่เหมาะสมเพื่อสร้างความประทับใจครับ

ทำให้การพูดคุยเรื่องงานระหว่างรับทานอาหารเป็นเรื่องที่ต้องระวังและคอยสังเกตด้วยนะครับ เนื่องจากว่าเวลารับทานอาหารเป็นเวลาพักผ่อนของหลายๆ คนที่ไม่อยากจะมีเรื่องงานมาสร้างความปวดหัว ดังนั้นจะเอาปัญหาหรือเหตุการณ์เรื่องงานมาพูดคุยที่โต๊ะอาหารก็ต้องดูบรรยากาศบ้างนะครับ ว่าอีกฝ่ายนั้นเขาพร้อมจะคุยและเปิดรับหรือไม่? ถ้าท่านต้องการข้อแนะนำหรือคำปรึกษาก็ควรจะบอกอีกฝ่ายตั้งแต่ต้นเลยครับ ว่าจะมาขอคำปรึกษา และโดยมารยาทแล้วเราก็ควรจะเป็นฝ่ายเลี้ยงอาหารเขาในมื้อนั้นด้วยครับ

แนวทางที่สามคือการใช้จิตวิทยาย้อนกลับหรือ Reverse Psychology ครับ ซึ่งผมเองจะใช้บ่อยพอสมควรเวลาทำพวก Workshop ต่างๆ เช่นเวลาเข้าไปช่วยบริษัทต่างๆ คิดตัวชี้วัด ถ้าเราเห็นว่าตัวชี้วัดตัวนี้ดี แต่ผู้บริหารยังกลัวหรือไม่อยากใช้ ผมเองก็มักจะถามว่า ถ้าอย่างงั้นเรื่องที่เสนอก็คงจะไม่ต้องวัดก็ได้ เพราะไม่มีความสำคัญ ซึ่งคำตอบส่วนใหญ่ก็มักจะกลับมายอมรับในตัวชี้วัดที่ได้เสนอไป เพียงแต่ท่านผู้อ่านก็ต้องระวังด้วยนะครับว่าการเสนอทางเลือกไปในลักษณะนี้อาจจะมีอันตรายที่ผู้ฟังอาจจะเลือกที่จะพูดว่า “ไม่” ก็ได้ครับ การใช้จิตวิทยาย้อนกลับนั้นเหมาะเมื่อทีมงานหรือเพื่อนร่วมงานปฏิเสธที่จะยอมรับหรือใช้ความเห็นที่ท่านเสนออยู่ แล้วในขณะเดียวกันก็ไม่ได้เสนอทางเลือกอื่นๆ มาให้

ประเด็นสุดท้ายคือกลยุทธ์เงียบครับ โดยเมื่อเราเสนอแนวคิดหรือความคิดอะไรใหม่ๆ ก็มักจะมีคนอยู่กลุ่มหนึ่งที่ขอให้ได้แสดงความคิดเห็น ไม่ว่าจะเป็นการแนะนำหรือต่อต้านหรือไม่เห็นด้วย โดยไม่ใช่ว่าบุคคลเหล่านี้เขาจะไม่ชอบหน้าเรานะครับ แต่คนเหล่านี้เขาจะขอให้ได้เสนอความคิดเห็นเป็นพอ วิธีการง่ายที่สุดคือรับฟัง แต่ไม่โต้เถียงครับ เนื่องจากถ้าขืนโตเถียง ก็จะเผชิญการยกเหตุผลและหลักการอีกร้อยแปดมาอ้างอิง เรารับฟัง โดยแสดงให้อีกฝ่ายเห็นว่าเราตั้งใจฟัง เช่น การมีปฏิกริยาตอบสนอง การผงกศีรษะเป็นครั้งคราว แต่ถ้าท่านเจอพวกที่ไม่เสนอแนะเปล่าแต่ต้องการยิงไอเดียของท่านให้ตกลงด้วย ท่านอาจจะถามย้อนกลับไปในทำนองที่ว่า “ข้อเสนอของฝ่ายตรงข้ามเป็นสิ่งที่ดี แต่จะมีแนวทางอะไรเพิ่มเติม ในการนำสิ่งที่เสนอมานั้นมาใช้กับสิ่งที่ท่านผู้อ่านเสนอ” ซึ่งการถามในลักษณะแบบนี้ไม่ใช่การโต้เถียงครับ เพียงแต่เป็นการเบี่ยงประเด็นคำถามเสียใหม่

ท่านผู้อ่านลองนำแนวทางเหล่านี้ไปปรับใช้ดูนะครับ แล้วจะพบว่าการเมืองไม่ใช่สิ่งน่ารังเกียจ แต่เป็นเรื่องของการบริหารคนเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ต้องการ