
2 June 2008
ดูเหมือนว่าจุดอ่อนที่สำคัญที่สุดประการหนึ่งของมนุษย์เราทุกผู้ทุกนามก็คือเรื่องของการผลัดวันประกันพรุ่ง ซึ่งผมเชื่อว่าท่านผู้อ่านทุกท่านคงเป็นหรือเคยมีประสบการณ์เรื่องพวกนี้มาบ้างไม่มากก็น้อยนะครับ ท่านที่เป็นน้อยก็โชคดีไปและยินดีด้วย แต่ท่านที่เป็นมากก็คงระวังตัวเองและหาทางแก้ไขปรับปรุงนะครับ เนื่องจากการเป็นมากนั้นจะส่งผลเสียต่อทั้งชีวิตส่วนตัวของท่านและต่อหน้าที่การงานอย่างไม่ต้องสงสัยครับ
จริงๆ แล้วเรื่องของการผลัดวันประกันพรุ่งก็คือการผิดสัญญากับตัวเองครับ เรามักจะให้ความสำคัญกับการรักษาและปฏิบัติตามสัญญาที่ให้ไว้กับผู้อื่น แต่ทำไมพอถึงการรักษาและปฏิบัติตามสัญญาหรือความตั้งใจของเราแล้ว เรากลับจะทำไม่ค่อยได้ ลองสังเกตดูนะครับ แล้วท่านผู้อ่านจะพบว่าการผลัดวันประกันพรุ่ง เป็นการเห็นความสำคัญต่อประโยชน์หรือความสุข หรือ ความสบายในระยะสั้น เทียบกับเป้าหมายที่เราต้องการบรรลุในระยะยาว
บ่อยครั้งที่เราตั้งใจอยากจะเก็บเงิน ออมเงิน ไม่ซื้อของฟุ่มเฟือย แต่พอถึงได้ไปเดินห้างสรรพสินค้าในช่วงลดราคาทีไร เราก็ไม่สามารถอดใจไว้ได้ หรือ เราตั้งใจที่จะลดน้ำหนักและรักษาสุขภาพให้แข็งแรง โดยการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอและการไม่กินของจุบจิบที่ไม่มีประโยชน์ แต่เมื่อถึงเวลาต้องไปออกกำลังกาย เราก็มักจะอ้างว่าไม่มีเวลาพักผ่อน หรือ เวลาเดินผ่านตู้เย็นหรือร้านขายขนมที่น่ากินก็มักจะอดใจไว้ไม่ได้ หรือ ที่ผมพบบ่อยมากคือบรรดานิสิต นักศึกษา และนักเรียนต่างๆ ที่ในช่วงต้นเทอมนั้นก็จะมาเรียนด้วยความกระตือรือร้น มีความมุ่งมั่นที่จะเรียนหนังสือ ตั้งใจจะอ่านหนังสือก่อนเข้าห้องเรียน ทำรายงานตามที่ได้รับมอบหมายตั้งแต่เนิ่นๆ แต่พอเวลาผ่านไป กิจกรรมต่างๆ การเที่ยวเล่น เพื่อน ฯลฯ ก็ทำให้ความตั้งใจและมุ่งมั่นทั้งหลายสูญหายไป สุดท้ายงานทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการดูหนังสือ หรือ การทำรายงานก็มาทั้งเอาสองสัปดาห์สุดท้ายก่อนสอบ
ถ้าดูจากตัวอย่างหรือกรณีต่างๆ ข้างต้น ท่านผู้อ่านจะเห็นได้นะครับว่า การผลัดวันประกันพรุ่งนั้นล้วนแล้วแต่มีลักษณะของการละเลยหรือเพิกเฉยต่อเป้าหมายในระยะยาวของเรา (การออม การลดน้ำหนัก การทำงานให้เสร็จและเรียนให้ได้ดี) เพื่อสิ่งล่อใจในระยะสั้น ซึ่งในหนังสือชื่อ Predictably Irrational ที่เขียนโดย Dan Ariely เขาก็ได้ทำการทดลองเล็กๆ เพื่อดูว่าคนเราจะมีแนวทางหรือวิธีการอย่างไรในการ
จัดการกับการผลัดวันประกันพรุ่ง
ประเด็นน่าสนใจที่พบก็คือคนทั่วไปจะเข้าใจถึงภาวะและปัญหาของการผลัดวันประกันพรุ่งอยู่แล้ว และถ้ามีโอกาสหรือความเป็นไปได้ คนเราก็จะพยายามหาหนทางหรือแนวทางในการต่อสู้กับภาวะของจิตที่ฝักใฝ่ในเรื่องของการผลัดวันประกันพรุ่ง และผู้ที่สามารถยอมรับว่าการผลัดวันประกันพรุ่งของตนเองเป็นจุดอ่อนที่สำคัญที่ต้องแก้ไข ก็จะเป็นผู้ที่มีแนวโน้มที่จะประสบความสำเร็จในการต่อสู้เพื่อเอาชนะอาการดังกล่าวของตนเอง
การต่อต้านกับสิ่งยั่วยวนใจในระยะสั้น และการควบคุมตนเองให้มุ่งสู่เป้าหมายในระยะยาว ดูเหมือนว่าจะเป็นความท้าทายที่สำคัญของมนุษย์เรา ที่เรามักจะประสบกับความล้มเหลวหรือไม่สามารถต่อสู้เอาชนะได้ แม้กระทั่งผู้บริหารระดับสูงขององค์กรต่างๆ ก็เช่นเดียวกัน ที่เรามักจะได้อ่านกรณีศึกษา ของการละเลยต่อการเติบโตขององค์กรในระยะยาว แต่มุ่งเน้นแต่ผลประกอบการทางการเงินในระยะสั้น
ประเด็นที่น่าสนใจประการหนึ่งที่พบจากการทดลองของหนังสือข้างต้นก็คือ ถ้ามีปัจจัยภายนอก เข้ามาเกี่ยวข้องในการควบคุมหรือบังคับแล้ว อาการผลัดวันประกันพรุ่งของเรามักจะลดหายไป เช่น ถ้าเราให้ลูกหลานคิดเองว่าจะทำการบ้านเมื่อไร เด็กๆ ก็อาจจะขอผลัดไปดูทีวี อาบน้ำ อ่านการ์ตูน หรือ เล่นเกมก่อน แต่ผู้ปกครองกำหนดไปเลยว่ากลับถึงบ้านต้องทำการบ้าน ดูหนังสือให้เสร็จก่อนที่จะทำอย่างอื่น เด็กๆ ก็สามารถที่จะทำได้ ซึ่งท่านผู้อ่านก็อาจจะรู้สึกว่าเป็นการบังคับขู่เข็ญเขาเกินไป ถ้าจะให้อ่อนลงมาหน่อยก็ต้องให้เด็กๆ กำหนดขึ้นมาเองว่าจะมาดูหนังสือ ทำการบ้านเมื่อไร แล้วเมื่อรับปากหรือให้ข้อตกลงกับเราแล้ว เขาก็จะต้องปฏิบัติตาม
ตัวอย่างข้างต้นเป็นเพียงแค่ตัวอย่างที่พบในชีวิตประจำวันนะครับ ท่านผู้อ่านลองมองย้อนกลับมาที่ตัวท่านซิครับ แล้วจะพบว่าส่วนมากแล้วเราจะมีปัญหาเรื่องของการควบคุมตนเอง และมักจะพ่ายแพ้ต่อสิ่งล่อใจระยะสั้น แต่เมื่อใดก็ตามที่มีคำสั่งเจ้านายมา หรือ มีกำหนดที่ต้องส่งงาน หรือ เป็นสิ่งที่เรารับปากกับผู้อื่นไว้ เรามักจะสามารถทำได้ แต่เมื่อใดก็ตามที่เรารับปากกับตนเองไว้ อาการผลัดวันประกันพรุ่งก็จะโผล่ขึ้นมา ซึ่งก็อาจจะพอสรุปได้ว่าเราต้องอาศัยแรงหรือปัจจัยภายนอก เข้ามาช่วยในการรักษาอาการผลัดวันประกันพรุ่งของเรา แต่ถ้าใช้ตัวเองบังคับแล้วก็มักจะเกิดอาการ “แพ้ใจ” ตลอด